สะดุดชื่อเรื่อง การดูแลหัวใจด้วยกำลังภายใน จาก “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 549 ปีที่ 46 มกราคม 2568 แล้ว อ่านชื่อผู้เขียน ดร.พท.พรรณทิพา ชเนศร์ ก็สะดุดคำย่อ พท.

เพ่งบรรทัดต่อ นักเขียนแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญพุทธจิตวิทยาประยุกต์ อ้อ! เรามีวิชาแพทย์สาขานี้แล้ว

หมอพรรณทิพา เริ่มต้น...ในสภาวการณ์ของโลกปัจจุบัน ลองกลับมาถามเสียงหัวใจตัวเองว่า ความสุข สงบ เบาสบายในหัวใจของเราเพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีหรือไม่?

คำตอบที่ออกมาในแนวทางลักษณะใหญ่แบบนี้

1.หัวใจของเรามีความสุข  เบาสบาย  ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะอย่างไร

นั่นหมายถึงหัวใจของเราเต็มไปด้วยจิตสำนึกแห่งพุทธะ เข้าสู่จิตแห่งความสุข สันติ ด้วยการเข้าถึงความจริงแห่งสัจธรรม การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

2.หัวใจเรามีทั้งความสุข ความทุกข์ สลับกันไป ตามวาระ เวลา และโอกาส คือหัวใจของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ยังคงมีกิเลส คือ ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อน เป็นสิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง มี3 ตระกูล คือ โลภะ ความโลภ ความอยาก ทำให้จิตของเราโหยหาตลอด เป็นทาสของความอยาก ผลลัพธ์คือ เป็นเปรต

โทสะ ความโกรธ ขัดเคืองใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ ทำให้จิตร้อน ตลอดเวลา เป็นทาสของความพยาบาท ผลลัพธ์คือ สัตว์นรก

โมหะ เป็นความหลง เป็นตระกูลที่มีอิทธิพลมาก แผ่คลุมตระกูลโลภะและโทสะ ทำให้จิตของเรามืดบอดตลอดเวลา ตลอดเส้นทางแห่งการมีชีวิต เป็นทาสแห่งความเชื่อที่ขาดปัญญา ขาดสติ ผลลัพธ์คือ สัตว์เดรัจฉาน

กิเลสมีความสามารถในการหยั่งฝังรากลึกในจิตของมนุษย์

และสั่งสมในตัวของมนุษย์ตลอดเวลา เมื่อเราขาดสติ ขาดการฝึกฝน ขาดการขัดเกลาจิตตนเอง

ด้วยเหตุแห่งความไม่รู้ ที่เรียกอวิชชา เป็นตัวต้นเหตุแห่งทั้งมวลความทุกข์ และความสุขที่เกิดขึ้นในหัวใจ ในช่วงแห่งความสุข เราไม่ค่อยได้กลับมาสำรวจกายจิตของตัวเอง จึงเกิดการละเลย การหลงในสิ่งที่ไม่ใช่เป็นใช่

...

ยึดติดจนกลายเป็นความทุกข์

ดังนั้น การเตรียมตัวฝึกฝนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างมากในการสร้างพลังใจ ให้มีพลังสุขสงบ เบิกบานด้วยสิ่งที่เรามีอยู่

ในตัว กลยุทธ์แห่งการสร้างกำลังภายใน คืออริยสัจ 4

1.การยอมรับทุกข์ ด้วยความนอบน้อมด้วยหัวใจอย่างแท้จริง เรียกว่าทุกข์ 2.การค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เรียกว่าสมุทัย 3.กลับมาใคร่ครวญพิจารณาถึงเป้าหมายที่ต้องการ ปณิธาน ความปรารถนา เรียกว่านิโรธ

และ 4.เมื่อจุดประสงค์ ปณิธานชีวิตชัดเจน จะพบเส้นทาง ลายแทงแห่งชีวิตทองคำ เรียกว่ามรรค

ในการนำพาชีวิตให้สุขสมดุลอย่างมหัศจรรย์ เพราะการเดินทางด้วยหลักแห่งมรรคทองคำแห่งการจัดสมดุลแห่งชีวิตให้สุขสว่าง

ภายในใจตน ด้วยกำลังแห่งปัญญา 3 ฐาน ฐานแห่งความคิด ฐานใจ ฐานกาย ที่เป็นฐานสำคัญแห่งชีวิตในการปรับเป็นมุมแห่งการจัดสมดุลแห่งชีวิต ด้วยหลักแห่งความสมดุล

1.เมื่อฐานใจ ฐานความคิดวุ่นวายสับสน ก็เริ่มจัดสมดุลทางกาย ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ อานาปานสติ

2.เมื่อกายเจ็บป่วย ใช้กำลังใจในการฝึกฝน สร้างพลังภายใน

3.ฐานความคิดที่วุ่นวาย เครียด ให้เปลี่ยนฐานด้วยการออกกำลังกาย ทำสิ่งที่ชอบ สร้างสารแห่งความสุขโดพามีนในการทำสิ่งนั้น อย่างต่อเนื่อง จะเกิดออกซิโตซิน

หมอพรรณทิพาสรุปว่า เหล่านี้เป็นวิธีการที่เราทำได้ตลอดเวลาด้วยสิ่งที่มีอยู่ สร้างกำลังภายใน แรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นในการฝึกฝน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความงอกงามในใจให้เติบโต

สร้างจิตแห่งประภัสสร ก่อเกิดพลังจิตในการจัดการความสมดุลในตัวเราเอง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม