ตำรวจไซเบอร์ตะครุบ 2 หนุ่มจีนเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขับรถติดเครื่องส่งเอสเอ็มเอสปลอม แนบลิงก์สถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้าฯ ตระเวนดูดเงินเหยื่อทั่วกรุงเทพฯ เน้นแถวห้างดังแหล่งช็อปปิ้งคนพลุกพล่าน ยึดของกลางโทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง สมุดบัญชี บัตรเอทีเอ็มและซิมมือถือกว่า 30 รายการ ด้านผู้บริหารเอไอเอสฝากเตือนคนไทย ปัจจุบันทุกค่ายมือถือไม่ส่งข้อความเป็นลิงก์ จะมีแค่กลุ่มมิจฉาชีพเท่านั้น ใครเผลอกดดูมีสิทธิเงินหายเกลี้ยงบัญชี
ตำรวจไซเบอร์รวบ 2 ชาวจีนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตระเวนขับรถติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐานส่งเอสเอ็มเอสปลอมแนบลิงก์ดูดเงินทั่วกรุงเทพฯ เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ม.ค. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑการณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 พ.ต.อ.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ รอง ผบก.สอท.1 พ.ต.อ.อนุชา ศรีสำโรง ผกก.2 บก.สอท.4 และ พ.ต.อ.สุบรรณ โชคพิมพา ผกก.1 บก.สอท.4 นำกำลังตรวจค้นห้องพักเลขที่ 315 และ 406 เจอาร์คอร์ท ภายในซอยนวลจันทร์ 60 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ คุมตัวนายลี จู หยวน อายุ 49 ปี และนายซู เซียง วู อายุ 47 ปี สัญชาติจีน ผู้ต้องหาเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดของกลางรถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์วี สีบรอนซ์ ทะเบียน ฌจ 2273 กรุงเทพมหานคร ภายในติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ส่งเอสเอ็มเอสปลอม โทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม และซิมโทรศัพท์มือถือกว่า 30 รายการ
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากตำรวจไซเบอร์ตรวจสอบพบคนร้ายใช้เครื่องจำลองสถานีฐานส่งเอสเอ็มเอสปลอม พร้อมแนบลิงก์ดูดเงินขับรถตระเวนไปในแหล่งที่มีประชาชนพลุกพล่าน อาทิ ห้างไอคอนสยาม เอเชียทีคฯ และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งแหล่งสำคัญอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ ใช้ยานพาหนะในการเคลื่อนที่ส่งข้อความตลอดเส้นทาง สามารถกระจายสัญญาณได้เป็นรัศมี 1-3 กม. เป็นการลดสัญญาณเสาเบสสเตชั่นโทรศัพท์ในพื้นที่ เพื่อเปิดช่องให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกชุดส่งลิงก์ข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือประชาชน อ้างชื่อสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อหลอกลวงให้กดลิงก์ หากผู้หลงเชื่อกดลิงก์ดังกล่าวจะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล สามารถโอนเงินบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์ติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Mobile Banking เครื่องส่งสัญญาณดังกล่าวสามารถส่งเข้าไปยังโทรศัพท์มือถือได้กว่า 30,000 หมายเลข
...
พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าวว่า ต่อมาชุดสืบสวนร่วมกับวิศวกรค่ายโทรศัพท์มือถือเอไอเอส ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข่าว เพื่อสืบสวนหาตัวคนร้าย กระทั่งพบแหล่งกบดานของผู้ต้องหาชาวจีนเช่าห้องพักอยู่ในเจอาร์คอร์ท ย่านบึงกุ่มและนำกำลังเข้าจับกุมพร้อมของกลาง ภายในรถพบเครื่องจำลองสถานีฐานกำลังทำงานอยู่ เครื่องส่งเอสเอ็มเอสเป็นลักษณะของการจำลองเสา เพื่อส่งสัญญาณปลอมเครือข่ายค่ายเอไอเอส อุปกรณ์นี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคมที่ดัดแปลงการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ต่างๆ จากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด
“ผู้ต้องหาชาวจีน 2 คนให้การอ้างว่าเดินทางเข้าประเทศไทยมาช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำงานเป็นไกด์ทัวร์ ปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมก่อเหตุ อีกทั้งอ้างว่าขอยืมรถมาจากเพื่อนขับไปทำงาน ขัดแย้งกับหลักฐานชุดจับกุมที่พบความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดทั้งสองรายในการส่งเอสเอ็มเอสแนบลิงก์ดูดเงินในช่วง 4 วันที่ผ่านมา นอกจากนี้ตามแนวทางสืบสวนพบว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชายชาวจีนอีก 1 คนอยู่ระหว่างหลบหนี รายนี้เป็นคนเช่าห้องพักเกือบ 1 ปีแล้ว ตำรวจไซเบอร์จะเร่งขยายผลติดตามตัวโดยเร็วที่สุด” ผบช.สอท.กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า อุปกรณ์ที่กลุ่มผู้ต้องหาใช้ก่อเหตุมีอยู่ 4 ส่วนที่นำมาประกอบเป็น 1 ชุด ประกอบด้วยแบตเตอรี่ แล็ปท็อปที่ลงโปรแกรม เสาสัญญาณ และ Stingray หรือปลากระเบนที่ถูกใช้ในงานสืบราชการลับในสหรัฐอเมริกา เมื่อนำทั้ง 4 ส่วนมาประกอบกันจะเป็นตัวเสาสัญญาณขนาดเล็กเสมือนเสาสัญญาณมือถือ โทรศัพท์ที่อยู่บริเวณเสาสัญญาณนี้จะถูกดักสัญญาณผ่านตัวเครื่องเพื่อดักส่งข้อมูลเอสเอ็มเอส การจับกุมครั้งนี้ตำรวจพบว่ามีเฉพาะเรื่องการส่งสัญญาณหมายเลขประจำซิม แต่ไม่มีเรื่องจับสัญญาณเสียง เมื่อเครื่องนี้ทำงานโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือต่างๆจะไม่ทราบว่ามีการส่งเอสเอ็มเอสไปยังลูกค้า เนื่องจากเอสเอ็มเอสถูกส่งจากเสาปลอมของคนร้ายโดยตรง คนร้ายจะนำอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณไปยังแหล่งชุมชนเพื่อส่งเอสเอ็มเอสปลอมชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่างๆ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อคนร้ายจะหลอกติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สืบสวนมาโดยตลอด และได้รับความร่วมมือจาก กสทช. ค่ายมือถือต่างๆจนสามารถจับตัวคนร้ายกลุ่มนี้ได้
ขณะที่นายวิสิฐศักดิ์ เจริญไชย ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทรวมถึงค่ายโทรศัพท์มือถืออื่นจะไม่ส่งข้อความในลักษณะที่เป็นลิงก์ให้ลูกค้ากดเข้าไปแล้ว จะมีก็แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้นที่ใช้วิธีการนี้เพื่อเข้าถึงเหยื่อ ฝากเตือนประชาชนว่าถ้ามีการส่งลิงก์เข้าไปในโทรศัพท์มือถืออย่ากดเข้าไปเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถูกดูดเงินจนหมดเกลี้ยงบัญชีได้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่