นายกฯแพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ช่วงนี้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ การรับซื้ออ้อยเผาของโรงงานน้ำตาลในหลายพื้นที่ ภาพถ่ายดาวเทียมเริ่มเห็นจุดความร้อน Hotspot เพิ่มมากขึ้นในบางจังหวัด ฝุ่นเริ่มมีเยอะขึ้น จึงเน้นย้ำให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำผู้ประกอบการในการรับซื้ออ้อยเผา โดยสั่งการให้ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับ ผู้เผาป่า เผาตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย และพืชอื่นๆ รวมทั้ง การประกาศเขตควบคุมมลพิษ

นายกฯแพทองธาร ยังได้สั่งการให้ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบห้ามใช้ ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ รถปิกอัพ รถโดยสาร รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถเมล์ ขสมก. ทุกวันนี้ก็ยังเห็นวิ่งกันทั่ว กทม. ไม่รู้ “ตำรวจจราจร” หายหัวไปไหนกันหมด รถติดวินาศสันตะโรก็ไม่เห็นมีตำรวจจราจรสักคนเหมือนเมื่อก่อน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ตรวจเช็กคุณภาพอากาศ USAQI ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครติดอันดับ 8 ที่มีปริมาณฝุ่นพิษมากที่สุดในโลก (7 ม.ค.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ (จิสด้า) ซึ่งเกาะติดสถานการณ์ฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 จากดาวเทียมเป็นรายชั่วโมง ก็รายงานว่า พบค่าฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ใน กทม.ทุกเขตพื้นที่เป็นสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ พื้นที่มีฝุ่นพิษมากที่สุดคือ บางคอแหลม วัดได้ 117.5 ไมโครกรัม ไม่รู้ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำอะไรบ้างในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ได้แต่ออกประกาศเตือนให้ประชาชนดูแลตัวเอง ทั้งส้มและแดงครบ 50 เขตมาหลายวันแล้ว มีผู้ว่าฯไว้ทำไม?

นายกฯแพทองธาร ยังขอให้ทุกหน่วยงาน ตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบเสนอต่อ ครม.ภายในเดือนมกราคมนี้ ด้วยว่า แต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างยั่งยืน เพื่อทำให้ประเทศไทยมีอากาศสะอาดในเร็ววันนี้ ไม่ใช่นั่งซื้อเวลาไปวันๆ รอให้ฝุ่นพิษมันจางหายไปกับเวลาเป็นช่วงๆ โดยไม่คิดแก้ไขอะไรให้ยั่งยืน

...

การแก้ปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 จากการเผาอ้อย ผมเพิ่งอ่านโพสต์ของ คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมเองก็มีความเห็นในแนวทางเดียวกัน การแก้ปัญหาเกษตรกรเผาอ้อยก่อนตัดขายโรงงานนํ้าตาล ต้องแก้อย่างเข้าใจ ชาวไร่อ้อยต้องเผาอ้อยเพราะใบอ้อยสดมีความคม เมื่อเข้าไปตัดต้นอ้อยก็ถูกใบอ้อยบาด จึงใช้วิธีเผาใบอ้อยก่อนตัด การแก้การเผาอ้อยจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุคือ รัฐบาลต้องจัดหา “รถตัดอ้อย” ให้กับชุมชนเกษตรกรที่ปลูกอ้อย แทนที่จะไปห้ามโรงงานรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งแก้ไม่ถูกจุด ส่งผลให้เกิดปัญหาเป็นเขาวงกต

ข้อมูล คุณธีระชัย ระบุว่า รถตัดอ้อยมีราคาแพงอย่างยี่ห้อจอห์นเดียร์คันละ 12 ล้านบาท รัฐบาลจึงควรจัดงบประมาณซื้อรถตัดอ้อยให้แก่ชุมชนเป็นของกลางเพื่อใช้งานร่วมกัน และบังคับให้ อบต. อบจ. ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่น มีหน้าที่ดูแลเก็บเงินจากชาวไร่และโรงหีบอ้อย เพื่อใช้งานในแต่ละวันและสะสมเป็นงบซ่อมบำรุง

กระทรวงเกษตรฯ ก็มีหน้าที่ต้อง วางแผนพื้นที่ปลูกอ้อยให้ต่อเนื่องกัน (ก็คือเกษตรแปลงใหญ่นั่นแหละ) เพื่อเปิดช่องให้รถตัดอ้อยวิ่งเข้าไปตัดอ้อยในไร่ได้อย่างสะดวก โดยให้ โรงงานหีบอ้อย แต่ละโรงมีหน้าที่ดูแลขบวนการตัดอ้อยโดยใช้รถตัดอ้อย กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้อง ห้ามการรับซื้ออ้อยเผา 100% และบังคับให้โรงงานหีบอ้อยต้องจัดทำบัญชีเงินกองทุน sinking fund ทุกเดือน เพื่อสะสมไว้ซื้อรถตัดอ้อยใหม่ในอนาคต ควรเก็บเงินเซอร์ชาร์จจากยอดส่งออกนํ้าตาลด้วย เพื่อใช้ในโครงการนี้ ก็เป็นวิธีง่ายๆทำได้ทันที แต่แก้ปัญหาฝุ่นพิษจากการเผาอ้อยได้ 100% หวังว่า นายกฯอิ๊งค์ จะเอาไปใช้เป็นข้อมูลไล่บี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ให้ทำงานแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที คนไทยทนทุกข์และเดือดร้อนกับฝุ่นพิษมานานเกินไปแล้ว.


“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม