ถามว่าความสุขของคุณคืออะไร หลายคนสุขที่ได้เพิ่มพูนความมั่งคั่ง หลายคนสุขที่ได้เลื่อนตำแหน่งเพิ่มหัวโขน หลายคนสุขที่ได้เป็นที่รักของคนรอบข้าง ขณะที่ความสุขของใครบางคนช่างเรียบง่าย เป็นความสุขเล็กๆ ที่อิ่มเอมในใจ แค่ได้ทำกับข้าวให้คนที่รักกินก็มีความสุข...แค่ได้ปลูกต้นไม้ก็มีความสุข...แค่ได้จิบเบียร์เย็นๆก็มีความสุข...แค่ได้กินข้าวต้มร้อนๆตอนเช้าก็มีความสุข...หรือนั่งมองพระอาทิตย์ตกก็มีความสุข

ความสุขในชีวิตของคนเรามี 3 ด้านใหญ่ๆ คือ สุขภาพ, ความรัก และความสำเร็จ ถ้าแบ่งตามวิทยาศาสตร์ก็จะเรียกว่า ความสุขแบบเซโรโทนิน (serotonin) คือความสุขจากการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ, ความสุขแบบออกซิโตซิน (oxytocin) คือความสุขจากความรักความผูกพัน, มิตรภาพ, ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และความสุขแบบโดพามีน (dopamine) คือความสุขจากทรัพย์สินเงินทอง, ความสำเร็จ, การบรรลุเป้าหมาย, ชื่อเสียง และเกียรติยศ

“ชิอน คาบาซาวะ” จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งคลุกคลีกับผู้ที่มีอาการไร้สุขมากว่าครึ่งค่อนชีวิต ถ่ายทอดเคล็ดลับเรียบง่ายที่จะนำทางไปสู่ชีวิตที่มีความสุขแท้จริง ด้วยการจัดเรียงลำดับความสุขของชีวิตให้ถูกต้องซะใหม่ ภายใต้ทฤษฎี “พีระมิดสามสุข” เพื่อสร้างสมดุลอันยอดเยี่ยมแก่ชีวิตเรา ทั้งด้านสุขภาพ, ความสัมพันธ์ และความสำเร็จ ไม่ต้องดิ้นรนตามหาความสุขทั้งชีวิต

ความพยายามที่ไร้ความหมายจะทำให้เราออกนอกเส้นทางของความสุข!! ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่า เพียงแค่พยายามทำงานอย่างเต็มที่และเอาอกเอาใจเจ้านายให้อยู่หมัดก็จะมีความสุข แต่ในมุมมองของจิตแพทย์กลับเห็นว่า ถ้าขยันทำงานและทุ่มเทให้กับเจ้านายจนเป็นทาสของงานจะตกอยู่ในสภาวะไร้สุข จริงอยู่ว่าเราควรทุ่มเททำงานให้เต็มที่ แต่ก็ต้องให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการงานด้วย ชีวิตถึงจะมีสุข

...

คู่มือสร้างสุขที่ใช้ได้จริง และเข้าใจง่ายที่สุด ถูกจำลองให้เห็นผ่าน “พีระมิดสามสุข” ซึ่งควรจัดเรียงลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง เพราะหากจัดลำดับผิดก็จะปราศจากความสุขชั่วชีวิต

แบบไหนที่เรียกว่าจัดลำดับผิดแล้วทำให้ไร้ความสุข เช่น ถ้าให้ความสำคัญกับ “ความสำเร็จ” มากกว่า “สุขภาพ” หักโหมทำงานหนักด้วยความมานะพยายาม ไม่เคยเกี่ยงงานเจ้านาย ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และสุขภาพร่างกายทรุดโทรม หรือถ้าให้ความสำคัญกับ “ความสำเร็จ” มากกว่า “ความผูกพัน” มีความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน แต่ชีวิตคู่พัง ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว อย่างนี้คงเรียกว่ามีความสุขไม่ได้

ในทัศนะคุณหมอ “สุขภาพ” คือรากฐานของพีระมิดสามสุข ที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ต้องเริ่มสร้างความสุขแบบเซโรโทนิน (serotonin) คือความสุขจากการมีสุขภาพดีทั้งกายใจ จากนั้นค่อยสร้างความสุขแบบออกซิโตซิน (oxytocin) คือความสุขจากความรักความผูกพัน แล้วจึงแสวงหาความสุขแบบโดพามีน (dopamine) คือความสุขจากความสำเร็จและทรัพย์สินเงินทอง

“ความสุขแบบเซโรโทนิน” จะหลั่งออกมาเต็มที่ในสภาวะที่จิตใจสงบนิ่งไม่คิดฟุ้งซ่าน เป็นสภาวะที่เข้าสู่โหมดสมาธิ ความรู้สึกสดชื่นหลังออกกำลังกายก็ใช่ หรืออย่างเดินเล่นตอนเช้าแล้วรู้สึกสดชื่นแจ่มใสก็ใช่ หากเซโรโทนินลดลงเราจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไว้ไม่ได้ กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด, อารมณ์เสียง่าย, ขี้โมโห, ทุกข์ทรมาน และท้อแท้ไม่อยากทำอะไร

“ความสุขแบบออกซิโตซิน” เป็นความรู้สึกสบายใจที่มาจากความผูกพัน ต้องมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว, ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก, ความสนุกสนานกับเพื่อนฝูง และความอบอุ่นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม อย่าปล่อยให้ตัวเองโดดเดี่ยวว้าเหว่ เพราะมันคือตัวการทำร้ายสุขภาพ

“ความสุขแบบโดพามีน” คือความสุขขั้นสูงสุดของพีระมิดสามสุข ทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกลิงโลดใจ ดีใจที่บรรลุเป้าหมาย และทำอะไรสำเร็จ สมองจะหลั่งโดพามีนทันที ทว่าการจะได้ความสุขแบบโดพามีนมานั้น มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ แถมยังเป็นสารเคมีแบบว่า ขออีกๆๆ ไม่เคยพอ ถ้าปล่อยให้โดพามีนหลั่งออกมามากจะมีอาการเสพติด เช่น เสพติดความสำเร็จ, เสพติดการช็อปปิ้ง และเสพติดยอดวิวยอดไลค์

สุขภาพและความสัมพันธ์ที่ดีต้องมาก่อน แล้วค่อยวิ่งหาความสำเร็จ ชีวิตถึงจะมีสุขแท้จริง!!

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม