ในแต่ละปี กรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 7,300 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะที่เรียกเก็บเดือนละ 20 บาท อัตราคงที่ตั้งแต่ปี 2546 อยู่ที่ปีละประมาณ 500 ล้านบาท ทุกปี กทม.จึงต้องใช้งบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนเกินถึง 93%

การบริหารจัดการขยะให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นเครื่องชี้วัดวิสัยทัศน์และผลงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในทุกยุคสมัย ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ

นับตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการเมื่อเดือน มิ.ย.2565 กรุงเทพมหานครภายใต้การบริหารของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดตัวโครงการที่มุ่งเน้นการจัดการขยะ ได้แก่ โครงการไม่เทรวม ขอความร่วมมือคน กทม.หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการแยกขยะ รณรงค์ให้โฟกัสเรื่องการแยกขยะแห้งออกจากขยะเปียก ซึ่งจะช่วยให้คนเก็บขยะทำงานได้ง่ายขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ลงได้มาก รวมทั้งลดขั้นตอนการทำงาน ภายใน 1 เดือนแรกที่เปิดตัวสามารถลดปริมาณขยะได้ 52 ตัน โดยปัจจุบัน กทม.จัดเก็บขยะที่ผ่านการคัดแยกได้ถึงวันละ 400 ตันและกำลังจะเพิ่มเป็น 500 ตันในเร็ววันนี้

...

รวมทั้งโครงการ “BKK Food Bank” หรือ “ธนาคารอาหารกรุงเทพมหานคร” ซึ่งล่าสุด กทม.ได้ร่วมกับติ๊กต่อก (TikTok) ขยายการรับรู้เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆให้ได้มากที่สุด หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างขึ้น

ฟู้ดแบงก์หรือธนาคารอาหารเป็นโมเดลจัดการอาหารส่วนเกินที่นำมาจากต่างประเทศ เปิดตัวช่วงปลายปี 2565 มีเป้าหมายสำคัญนอกจากจัดการอาหารส่วนเกิน สร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน

หลักการของฟู้ดแบงก์คือ การส่งมอบอาหารสดและแห้งจากผู้ที่ต้องการแบ่งปันไปยังประชาชน ในส่วนของอาหารสดนั้น มาจากร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์ มาร์เกต ร้านอาหารและวัด ที่มีอาหารสดเหลือค้างแต่ละวัน โดยเขตจะออกไปรับแล้วนำไปแจกจ่ายต่อยังชุมชนสลับสับเปลี่ยนกันไป ปัจจุบัน (ก.พ. 2566-พ.ย.2567) มีอาหารถูกแจกจ่ายไปแล้ว 3.3 ล้านมื้อ คิดเป็นน้ำหนักอาหาร 800,000 กิโลกรัมที่ถูกนำไปรับประทานต่อ แทนที่จะเหลือทิ้งเป็นขยะเศษอาหาร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์ได้กว่า 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอน

ส่วนอาหารแห้ง จะถูกนำไปวางในธนาคารอาหาร ณ ที่ทำการเขต 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้คนกลุ่มเปราะบางมารับไปบริโภคผ่านการแจกคูปอง โดยสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการได้ ช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพฯได้กว่าแสนราย

โดยหลังร่วมมือกับ TikTok ภายใน 1 เดือน (ต.ค.-พ.ย.2567) แจกอาหารไปได้ 1.1 ล้านมื้อ ลดก๊าซคาร์บอนได้ 690,000 กิโลกรัมคาร์บอน

เดินหน้านโยบาย “ส่งเสริม” “ขอความร่วมมือ” และ “สมัครใจ” มาพักใหญ่ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 1.5 ปี (จากวาระ 4 ปี) สภากรุงเทพมหานครในยุคของชัชชาติได้ตัดสินใจผ่านร่างข้อบัญญัติใหม่เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขยะสำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ เป็นเดือนละ 60 บาท ส่วนบ้านที่แยกจ่าย 20 บาทเท่าเดิม รอมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. อธิบายว่า มาตรการนี้เป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) ของนโยบายแยกขยะ เป็นมิติสำคัญในการส่งเสริมภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นหน่วยสังคมย่อยที่ท้าทายที่สุด “กว่า 2 ปีที่ผ่านมาเราผลักดันการแยกขยะในกลุ่มผู้ประกอบการไซส์ L หรือ 22 แหล่งกำเนิดขยะไปได้มากแล้ว เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไซส์ M อย่างร้านอาหารทั่ว กทม. จึงถึงเวลาแล้วที่จะขยับบทบาทของภาคครัวเรือนไซส์ S ซึ่งมีจำนวนมาก ยาก และท้าทาย”

...

นอกจากจะเป็น Game Changer แล้ว การใช้ระบบขึ้นค่าธรรมเนียมและลดให้หากมีการแยกขยะ ยังเป็นครั้งแรกที่ กทม.หันมาใช้ “กลไกทางเศรษฐศาสตร์” เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะเป็นแรงจูงใจ นอกจากประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ส่วนถ้าไม่แยกก็จ่ายอัตราเต็มเดือนละ 60 บาทไป ในราคา 60 บาท ประกอบด้วยค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท บังคับใช้ครอบคลุมผู้ประกอบการด้วย แต่ในอัตราที่สูงกว่าครัวเรือน

ระหว่างนี้ บ้านที่แยกขยะสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเพื่อลดหย่อนค่าธรรมเนียมกลับมาเป็นเดือนละ 20 บาทได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เขตเดินทางไปตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริง.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม