ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงแนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนการสอนของจุฬาฯในปัจจุบัน ว่า จุฬาฯตั้งเป้าสร้างคนที่พร้อมต้อนรับเอไอและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างเอไอที่พร้อมจะเป็นเครื่องมือของคน จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่สร้างเอไอของตนเองที่เรียกว่า ChulaGenie โดยร่วมมือกับกูเกิลคลาวด์ เพื่อส่งเสริมการหาความรู้ของนิสิต และนำความรู้ที่ได้จากเอไอมาต่อยอดความรู้นั้น โดยรูปแบบการเรียนนั้นจะขึ้นกับลักษณะของแต่ละวิชาว่าจะนำเอไอไปใช้ในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน สำหรับวิธีการประเมินนั้นจะไม่ประเมินปริมาณการใช้เอไอ แต่จะประเมินการเรียนรู้ว่า ความรู้ที่ได้นั้นสามารถวิเคราะห์ เชื่อมโยงหรือสร้างสรรค์โครงงานที่ผลิตขึ้นได้อย่างไร สำหรับการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลของจุฬาฯนั้น จะมีระบบการป้องกันข้อมูลวิชาการของจุฬาฯ และข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ รวมทั้งให้คำแนะนำที่ถูกต้องหากมีการป้อนคำถามที่ไม่เหมาะสม
รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ เปิดให้ใช้ ChulaGenie เพื่อให้นิสิตเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมานิสิตมีการเข้าถึงข้อมูลทางเทคโนโลยีต่างๆด้วยตนเองอยู่แล้ว โดยเสียค่าใช้จ่ายเองประมาณเดือนละ 700 บาท ซึ่งไม่ใช่นิสิตทุกคนจะจ่ายได้ และหากให้จุฬาฯสนับสนุนเป็นรายบุคคล จะต้องใช้งบประมาณถึง 400 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การเปิดใช้ ChulaGenie จะช่วยให้นิสิตเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่