แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน แต่โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ที่ สสส. ผนึกกำลังกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย ไปจนถึงระดับชุมชน ร่วมรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ภาพรวมของนักดื่มระดับประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา จำนวนรวม 13,154,239 คน เพิ่มขึ้น 3 ล้านคนเมื่อเทียบจากปี 2566 ซึ่งประเมินว่า ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ได้ถึง 10,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 6 พันล้านบาท รวมถึงผลการศึกษาโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ตลอด 23 ปีที่ผ่านมายังระบุด้วยอีกว่า ช่วยลดการดื่ม 9.97% ลดปริมาณน้ำเมาได้ 11.7 ล้านลิตรต่อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และเหนืออื่นใด “งดเหล้าเข้าพรรษา” ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนได้พบตัวเอง “คนใหม่” จากการลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สสส. พร้อมผนึกกำลังต่อเนื่อง

ความสำเร็จของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาที่แสดงผ่านตัวเลขจากผลการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน ภาคภูมิใจอย่างมาก แต่นอกเหนือจากความภูมิใจที่เกิดขึ้นแล้ว ความอิ่มใจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง ทั้งภาพรวมระดับประเทศ และระดับบุคคล ก็ทำให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนพร้อมหนุนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่องต่อไปทุกๆ ปี ขณะเดียวยังขยายผลต่อไปยังโครงการอื่นๆ เพื่อให้เกิดการลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดทั้งปี โดยมีกลไกระดับชุมชนขับเคลื่อนอย่างมุ่งมั่น เพื่อคืนความสุขแก่ทุกครอบครัวและชุมชนให้ได้มากขึ้น

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปรียบเสมือนภัยเงียบ แฝงตัวมาเสมือนเครื่องมือสร้างความสุข แต่เป็นความสุขที่ฉาบฉวยและลวงตา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายระยะยาวเท่านั้น แต่กลายเป็นผลเสียต่อเนื่องถึงสุขภาพจิตใจของผู้ดื่ม บุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ปัญหาความรุนแรง ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันการเสพติดการเสพความสุขชั่วคราวจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อค่าใช้จ่ายและเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างมากด้วย การที่โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเข้ามาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลได้จึงหมายถึงนิมิตหมายอันดีต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ในระดับชุมชนและสังคมด้วย

ทั้งนี้จากการศึกษา “กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.3 ระบุว่า ได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยร้อยละ 48.6 ระบุว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 40.5 ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และร้อยละ 31.4 ระบุสุขภาพจิตใจดีขึ้น และเมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะงด/ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่ากว่าครึ่ง หรือร้อยละ 58.4 มีความตั้งใจจะลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีก ในช่วงเข้าพรรษาปี 2568 อีกครั้ง เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้าและประธานชมรมคนหัวใจเพชร (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความตั้งใจที่ดีเช่นนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าอย่างมากในระดับบุคคล แต่ทั้งนี้การจะสามารถลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จริง ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยเช่นกัน เริ่มต้นจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ไปจนถึงระดับชุมชน ซึ่งแนวทางนี้เผยความสำเร็จให้เห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่เครือข่ายงดเหล้า และภาคีเครือข่าย ได้ริเริ่มขึ้น อย่างโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งอาศัยกลไกเล็กๆ ในครอบครัวช่วยขับเคลื่อน เรื่อยมาจนถึงพลังจากชุมชนผ่านโครงการชวน ช่วย ชม เชียร์ ที่อาศัยความสำเร็จระดับบุคคล ช่วยส่งต่อพลังถึงกันอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไม่เพียงคืนคนคุณภาพกลับสู่ชุมชนได้เท่านั้น แต่ได้ช่วยสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อโครงการพัฒนาชุมชนด้านอื่นๆ ได้อีก

ภูมิใจได้คุณคนใหม่

สำหรับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปีนี้ สสส. และ สคล. ได้ผุดโมเดล SoBrink SoClub เข้ามาช่วยเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพชุมชนในช่วงเข้าพรรษา โดยสร้างสรรค์โปรแกรม SoBrink; เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งในปีนี้ มีหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายมาร่วมรณรงค์ความร่วมมือ มากกว่า 3,500 เครือข่าย, มีผู้ลงนามปฏิญาณตนผ่านระบบฐานข้อมูล Sober CHEERs จำนวน 32,495 คน แยกเป็นเพศหญิง 15,715 คน เพศชาย 16,713 คน LGBTQ+ 67 คน ทั้งนี้มีลักษณะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละกลุ่มที่จะได้นำมาเป็นข้อมูล ติดตามประเมินผล ในการช่วย ลด ละ เลิกอย่างใกล้ชิด โดยความร่วมมือระหว่าง รพ.สต., อสม. และชมรมคนหัวใจเพชร ซึ่งจากข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการงดเหล้า 3 เดือน พบว่า ประหยัดเงินค่าเหล้าได้ถึง 279,496,851 บาท มีผู้งดเหล้าครบพรรษาจำนวน 12,179 คน ผู้ที่ชมรมเชียร์ต่อให้เป็นคนหัวใจเพชรจำนวน 6,189 คน ผู้ที่ชมรมพัฒนาศักยภาพต่อในฐานะอาสาสมัครชมรมคนหัวใจเพชรจำนวน 12,598 คน โดยมีพื้นที่ชุมชนคนสู้เหล้า 1,010 แห่ง ขับเคลื่อนโดยชมรมคนหัวใจเพชร (40 กลุ่ม) และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร (80 กลุ่ม) ร่วมสร้างการเปลี่ยนเล็กๆ ที่ค่อยๆ ยิ่งใหญ่ขึ้น

คุณสิริรัตน์ อินทโน จากจังหวัดสตูล ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จจากการลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเอง โดยเริ่มต้นจากงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนที่ผ่านมา และพร้อมเดินหน้าสู่การละเลิกอย่างจริงจัง เนื่องจากได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในตัวเอง โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น รวมถึงการมีรายได้ในครัวเรือนมากขึ้น คุณสิริรัตน์เล่าว่า ในอดีตไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เริ่มดื่มเพราะการสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนกับสามีจนกลายมาเป็นการเสพติดความสุขจากการดื่ม แต่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือการได้การชักชวนจากประธาน อสม. ชมรมคนหัวใจเพชร และคำสบประมาทจากโซเชียลมีเดีย ทำให้คุณสิริรัตน์ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง และทำสำเร็จในที่สุด

พลังจากชุมชนจึงมีความหมายมากกว่าที่คิด เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นกับคู่รักนักดื่มอย่าง คุณธีรัช จันทร์หอม และคุณอัญญารัตน์ โกติรัมย์ จากจังหวัดพัทลุง ที่ได้รับการชักชวนจากคุณลุงให้เข้าร่วมโครงการฯ จนนำไปสู่การร่วมกิจกรรมดูแลสุขภาพ SoBrink SoClub ที่เห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จึงตัดสินใจลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง และหันไปดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นแทน เช่น น้ำโซคราฟ ที่ช่วยล้างพิษ และเสริมสร้างสุขภาพได้ ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของการ “ชวน ช่วย ชม เชียร์” เพื่อจุดประกายสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเองสำหรับคนอื่นๆ ในชุมชนอีกด้วย

เช่นเดียวกันกับคุณรัชนก บ่องาม จากจังหวัดพะเยา ที่งดเหล้าเข้าพรรษา คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต การเริ่มต้นจากงดดื่มตลอด 3 เดือนนำไปสู่เส้นทางใหม่ๆ ในชีวิต รวมถึงการมีพลังกาย พลังใจที่มากขึ้น และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลังชุมชนในการขับเคลื่อนชุมชนกับขบวนการ บวร ชุมชนบ้านตุ่นใต้ คุณรัชนกกล่าวว่าการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งแรกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากทำได้ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะเหมือนได้คุณคนใหม่เกิดขึ้น

โดยในวันประกาศความสำเร็จของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2567 ยังได้มีนิทรรศการจากชุมชนต้นแบบ ชุมชนเปี่ยมสุข ปลอด(ภัย)ปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ 8 แห่ง ที่ร่วมนำเสนอความสำเร็จจากแนวทางที่ชุมชนใช้ดูแลชุมชน เพื่อสร้างเปลี่ยนแปลงและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต ได้แก่

1) โมเดล วาระคนเวียงชัย ม่วนก๋าย สุขใจ๋ โดย ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย

2) โมเดล นาทม อยู่ซุ่ม กินเย็น โดย ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร อ.นาทม จ.นครพนม

3) โมเดล ร้อยใจ ให้โอกาส ในอ้อมกอดของชุมชนคนประจันตคาม โดย ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

4) โมเดล รวมพลัง บวรตุ่นใต้ สร้างสรรค์นวัตกรรม ; ชุมชนคุณธรรม คนปลอดภัยปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ โดย ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา

5) โมเดล สานพลังทุนทางสังคม เสริมพลังชุมชนแก้งสุขปลอดเหล้า โดย ชมรมคนหัวใจเพชร ต.บ้านแก้ง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

6) โมเดล ชุมชนปากแพรกคือพลังของการเปลี่ยนแปลง โดย กลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร บ้านหอยกัน ต.ปากแพรก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

7) โมเดล พิมานผูกรัก ; ใส่ใจสุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล

8) โมเดล ป่าเลร่วมใจ ; สื่อรักพักตับ สุขภาพดีเป็นฐาน กินอาหารเป็นยา โดย ชมรมคนหัวใจเพชรและกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร บ้านป่าเล ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

ทั้งนี้ยังพร้อมผลักดันดำเนินการตลอดปี โดยมีชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงในแต่ละภูมิภาค ร่วมพัฒนาเป็นชุดกิจกรรม โปรแกรม SoBrink SoClub เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต พร้อมด้วยแนวอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาลและสมุนไพรไทย เข้าไปร่วมเสริม ผ่านโมเดลศูนย์เรียนรู้ 8 แห่ง เพื่อสร้างโปรแกรมครอบครัวสุขปลอดเหล้า โปรแกรมลดเหล้า ออมเงิน สร้างสุขในครอบครัว ที่มีพลังมากขึ้น ผ่านเป้าหมายการดำเนินงาน 3 เป้าหมายหลัก นั่นคือ 1) พัฒนาคนดื่มที่ตัดสินใจเลิกเหล้า สู่คนหัวเพชร และพัฒนาศักยภาพให้เป็นนักสื่อสารและสร้างเสริมหัวใจเพชร 2) พัฒนาชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา สู่ชุมชนคนสู้เหล้า, ชุมชนสุขปลอดเหล้า และชุมชนเปี่ยมสุขปลอดภัยปัจจัยเสี่ยง ตามลำดับ ภายใต้แนวทางชุมชนจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ค่านิยม และสภาพแวดล้อม “สุขปลอดเหล้า และปลอด(ภัย)ปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ” ซึ่งขับเคลื่อนโดย ชมรมคนหัวใจเพชร และ 3) พัฒนาชมรมคนหัวใจเพชร ให้เป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อน ทั้งด้านพัฒนาศักยภาพว่าที่คนหัวเพชร สู่นักสื่อสาร สร้างเสริมสุขภาวะหัวเพชร, จัดระบบสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเลิกเหล้าและครอบครัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งเปิดพื้นที่และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการจัดการชุมชนแต่ละระดับ ซึ่งหากสามารถผนึกกำลังได้อย่างเต็มกำลัง ความสำเร็จที่เกิดก็จะเป็นกว่าแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่หมายถึงความสุขที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว ทุกชุมชน ทั่วประเทศอีกด้วย