ต้นเดือนที่แล้ว...การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ “ข้อเสนอการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพของนโยบายล้างไต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ..“บัตรทอง 30” จากคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข”

รายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวเป็นการเห็นชอบทั้งการเพิ่มสัดส่วน “บริการล้างไตทางช่องท้อง” ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 การควบคุมค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้ไม่เกินร้อยละ 12 ของงบประมาณบัตรทองในระยะเวลา 5 ปี...หรือไม่เกินร้อยละ 15 ในระยะเวลา 10 ปี

และ...การลดจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังรายใหม่ที่เลือกวิธีล้างไตให้ต่ำกว่าจำนวน 1.6 แสนรายในระยะเวลา 10 ปี โดยการ “ป้องกัน” และการ “ชะลอ” ไตวายเรื้อรังในระยะยาว

พร้อมกันนี้ “บอร์ด สปสช.” ยังเห็นชอบให้นำ “นโยบายล้างไตทางช่องท้องวิธีแรก (PD First)” กลับมาใช้และให้ดำเนินการโดยทันที เนื่องจากตั้งแต่ปี 2565 จากการติดตามข้อมูลผู้ป่วยล้างไตในระบบ พบว่ามีผู้ป่วยฟอกไตมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีจำนวนลดลง

โดยข้อมูลการเสียชีวิตพบว่า ผู้ป่วยฟอกไตมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 5,500 คน ในช่วง 2 ปี ถือว่า...เป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้องอัตราการเสียชีวิตยังคงเดิม

อีกทั้งมิติด้านการใช้ทรัพยากรดูแลผู้ป่วยฟอกไตใช้ทรัพยากรการดูแลที่มากกว่าผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จะส่งผลให้ค่าบริการบำบัดทดแทนไตในระบบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ของงบประมาณบัตรทองในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 30 ในอีก 5 ปี และ 10 ปีข้างหน้า

...

นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ยังกำหนดให้งบบริการบำบัดทดแทนไตเป็นแบบปิด (Global Budget) เช่น กำหนดวงเงินให้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบจัดบริการของกองทุนบัตรทอง ในปีงบประมาณ 2568 ฯลฯ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำว่า ทั้งหมดนี้เพื่อให้ระบบการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีความยั่งยืน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสริมว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ยังมีมติให้ สปสช. ดำเนินการทั้งการพัฒนาและขยายขีดความสามารถการให้บริการตามนโยบาย PD First อย่างเร่งด่วน พร้อมกับกำหนดให้มีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วยก่อนรับการบำบัดทดแทนไต

ที่เรียกว่า “Pre-Authorization” ที่ยึด ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง...ได้รับบริการล้างไตที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

การนำ PD First กลับมาใช้ทันที ไม่ได้หมายความว่าจะบังคับให้ผู้ป่วยทุกคนต้องล้างไตผ่านช่องท้อง โดยผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดจริงๆยังไงก็ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสม”

วันนี้ที่เราพูดเรื่องล้างไตผ่านช่องท้อง บริบทไม่เหมือนในอดีตที่ให้ผู้ป่วยล้างไตเอง 4 รอบต่อวัน แต่มีทางเลือกการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ที่ผู้ป่วยทำการล้างไตเองในช่วงกลางคืนได้

หนึ่งในเสียงจากผู้ป่วยตัวจริงเสียงจริง บุญถม จำปารอดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ...“บัตรทอง 30 บาท” อายุ 62 ปี เล่าให้ฟังว่า ผมเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุ 50 ปี จากนั้นจึงตามมาด้วยโรคเกาต์ โรคหัวใจ รวมถึงโรคไตในเวลาต่อมา เนื่องจากแพทย์เคยสั่งห้ามไม่ให้ทานยาชุดแก้ปวด

แต่...ปัญหามีว่า ถ้าไม่ทานก็จะปวดจนทำงานไม่ได้ กระทั่งวันหนึ่งที่เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินและต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์แจ้งว่า..เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น ซึ่งต้องทำบอลลูน 3 ครั้ง ในขณะที่ไตก็ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

...

ปี 2564 บุญถมอายุ 58 ปี...ได้เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไต โดยใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ที่เปลี่ยนน้ำยาด้วยมือ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนน้ำยา 4 ครั้งต่อวัน เมื่อดีขึ้นก็ลดลงเหลือ 3 ครั้งต่อวัน กระทั่งปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2567

โดยเข้ารับการฝึกใช้งานที่คลินิกเวชกรรมเคดีเคซี ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานประมาณ 2-3 วัน ก็เริ่มคุ้นเคยและคล่องขึ้น พบว่า ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก เพราะทำการล้างเพียงวันละ 1 รอบระหว่างนอนเท่านั้น แม้จะกลับบ้านดึกก็ไม่เป็นปัญหา เพียงแค่มีเวลาล้างให้ครบ 10 ชั่วโมง

“ถ้าอยากตื่นสายก็ใส่ตอนดึก แต่ถ้าอยากตื่นเช้าก็ใส่เร็วขึ้น ส่วนช่วงกลางวันก็ไม่ต้องยุ่งยากคอยเปลี่ยนน้ำยา สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น” บุญถมทิ้งท้าย

ขณะที่ น.ส.ชลธิชา มาลีเมาะ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะท้าย สิทธิบัตรทอง 30 บาท อายุ 29 ปี เสริมว่า เธอเข้ารับการรักษาโรคไตอักเสบมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่เมื่อแพทย์แจ้งว่าหายดีแล้วจึงไม่ได้รักษาต่อ จนกระทั่งเมื่อถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 เริ่มรู้สึกเหนื่อยง่ายและบวม สามารถทำกิจกรรมกับเพื่อนได้น้อยลง

...

อยู่ๆมาวันหนึ่งก็เกิดอาการวูบ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลได้รับการตรวจพบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไต แพทย์แนะนำให้ใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง

เนื่องจากมองว่ากำลังเรียนอยู่ซึ่งจะสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ที่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทำให้อาจต้องหยุดเรียนบ่อย ช่วงแรกรู้สึกกังวลบ้างที่ต้องเปลี่ยนน้ำยาด้วยตนเอง แต่เมื่อได้มาเรียนกับคลินิกเวชกรรมเคดีเคซี พบว่าพยาบาลให้การสอนดีมาก

...เพียง 7 วันก็สามารถทำได้ แล้วหลังจากนั้นก็มีน้ำยาคอยส่งไปให้ถึงที่บ้าน ค่าน้ำยาไม่ต้องเสียเลย

“เขาเตรียมให้หมด...อย่างเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีปัญหาอะไรขึ้นมาโทร.หาทางคลินิกเขาก็รับเลยทันที ซึ่งที่นี่ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วมาก จะมีก็อาจเป็นในส่วนของค่าเดินทาง หรือบางทีเรามีค่ายาพิเศษนอกบัญชีที่ต้องจ่ายเอง แต่ในส่วนของบัตรทองก็ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปมาก ที่ทำให้หนูไม่ต้องเสียค่าเครื่อง ค่าน้ำยาไปด้วยอีก”

...

นี่คือสิทธิ “บัตรทอง 30 บาท”...เติมเต็มให้ “ผู้ป่วยไตวาย” ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม