ผมพยายามเข้าใจ ทำไม ศรัณย์ ทองปาน ตั้งชื่อหนังสือเล่มที่เขียน ช.ช้าง กับ ค.คน (ต้นฉบับใช้ตัวหนังสือ ค.คนจริง แต่แป้นพิมพ์ดีดผมหาไม่เจอ) (สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ.2550) ไล่เรียงอ่านเรื่องช้างไปเรื่อยๆจนเจอเรื่องคน...ชายชื่อช้าง

ศรัณย์ ทองปาน เริ่มต้น...นายช้างคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เป็นชาวอยุธยา มีเรื่องเล่าบันทึกไว้ในหนังสือเสด็จประพาสต้นว่า วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2447 ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสทางเรือผ่านไปในคลองบางหลวง อยุธยา

ระหว่างทางต้องหาที่แวะทำครัวมื้อกลางวัน พอดีเห็นบ้านหลังหนึ่งที่บางหลวงอ้ายเอียง อำเภอบางบาล มีสะพานท่าน้ำพออาศัยได้ จึงขึ้นไปบอกกล่าว

ปรากฏว่าเป็นบ้านกำนัน แต่ตัวกำนันไม่อยู่ อยู่แต่พ่อตาและแม่ยาย คือนายช้าง และนางพลับ

นายช้างเข้าใจว่าในหลวงเป็นข้าราชการจากกรุงเทพฯที่ตามมาในขบวนเสด็จอย่างที่เขาว่ากัน ก็ออกมาต้อนรับแข็งขัน ทั้งยังคุยว่าตนก็เคยไปบางกอกบ่อยๆ รู้จักคนใหญ่คนโตหลายคน

“แล้วเคยเห็นในหลวงไหม?” มีคนถาม

“เคยสิ” นายช้างคุยสำทับ “เคยเข้าเฝ้าด้วย รูปในหลวงอยู่บนเรือนก็มี”

ฝ่ายนางพลับก็มากุลีกุจอช่วยดูแลจัดหาข้าวปลาอาหารให้จนอิ่มหนำสำราญกันแล้ว นายช้างก็ออกปากฝากให้ “คุณ” (คือรัชกาลที่ 5) ซึ่งแกคาดว่าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ช่วยเป็นธุระซื้อหาปืนเมาเซอร์ให้สักกระบอกหนึ่ง

จะราคาสักเท่าใดก็ให้ว่ามา

ก่อนกลับ “คุณคนนั้น” เอาธนบัตรปึกหนึ่งใส่ซองมอบให้นายช้าง แล้วก็ร่ำลาลงเรือเดินทางต่อ

ธนบัตรปึกใหญ่ในซองกับรูปในหลวงบนเรือน เป็นเหตุให้

รุ่งขึ้นนายช้างนางพลับต้องยกครัวพากันลงมากรุงเทพฯ เที่ยวสืบหาเจ้านายและข้าราชการที่โดยเสด็จ เพื่อขอขมาลาโทษ

...

คนที่เคยอ่านเรื่องนี้คงจำได้ มีตอนหนึ่ง นางพลับหลุดปากตำหนิใครสักคนที่ใช้จวักตักชิมน้ำแกง

นายช้างนางพลับได้เข้าเฝ้าในหลวง เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ในการนี้ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานปืนพกให้นายช้าง ตามที่ออกวานให้ช่วยหาไว้ พร้อมทรงแต่งตั้งให้นายช้างเป็น “หมื่นปฏิพัทธภูวนารถ”

ในรัชกาลที่ 6 เมื่อออกกฎหมายให้คนไทยมีนามสกุลใช้ หมื่นปฏิพัทธภูวนารถ ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล “คชาธาร”

ศรัณย์ ทองปาน ตามสืบค้นจนพบว่า นายช้างนางพลับเป็นโยมอุปัฏฐากสำคัญของวัดกอไผ่ วัดประจำหมู่บ้านย่านนั้น ใครไปก็จะได้เห็นกุฏิหน้าจั่วรูปช้าง มีคำจารึกหมื่นปฏิพัทธภูวนารถ คุณแม่พลับ สร้างถวาย

อ่านเรื่องเพื่อนช้างแล้วชื่นใจนะครับ นี่คือเรื่องหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินของเรา ทรงได้สมัญญาสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวไทยทั้งหลายทั้งปวง

ศรัณย์ ทองปาน ยังมีเรื่องนายช้างอีกคน บรรดาศักดิ์เป็นหลวงอภัยเภตรา นายอำเภอเสนาใหญ่ มีภรรยาชื่อนางเงิน อยู่ห่างจากวัดกอไผ่ ไปถึงริมแม่น้ำน้อยราว 10 กม.

ก่อนหลวงอภัยเภตราจะถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2437 ได้อุทิศบ้านถวาย วัดตึกคชหิรัญ (คช ช้าง หิรัญ เงิน)

เดือนตุลาคม พ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 เสด็จจากบางปลาม้า สุพรรณบุรี ผ่านมาทรงทราบว่า วัดตึกตกกฐิน ไม่มีผู้จองทอดกฐิน จึงเสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐิน

วัดตึกคชหิรัญวัดนี้คือวัดต้นตระกูล “คชหิรัญ” รุ่นเหลนเป็นพระเอกชื่อดัง นาท ภูวนัย ชื่อจริง อุดมพร คชหิรัญ เป็นจุดเริ่มให้ผมได้เรื่องเก่าที่ฟังแล้วประทับใจจนรู้คนเดียวไม่ไหว ต้องเขียนคอลัมน์ต่ออีกวัน.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม