"อ๊อบ ณัฐชัย" แบรนด์เทพนม สาโท เผยพัฒนาการสุราชุมชน ปัจจุบันมีการปรับปรุงจนสะอาด ได้มาตรฐาน บางแห่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ต่างจากญี่ปุ่น
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ "ไทยรัฐ" ผนึกกำลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน "เมรัยไทยแลนด์" มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศครั้งแรก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้สู่คนตัวเล็ก เพื่อยกระดับความคราฟต์ของชุมชน ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน โดยช่วงเช้ามีการพูดเสวนาเกี่ยวกับหัวข้อ "สุราชุมชนไม่สะอาดจริงดิ?"
เมื่อพูดถึงสุราชุมชน ในอดีตเรามักจะผูกโยงกับความ "ไม่สะอาด" แต่ปัจจุบันสุราชุมชนยกระดับ สร้างมาตรฐานการผลิต มาปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เรื่องสุขอนามัยของสุราชุมชน เพื่อลบล้างมายาคติเดิม
เส้นแบ่งสุราชุมชน กับ เหล้าเถื่อน
คุณอ๊อบ ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ แบรนด์เทพนม สาโท กล่าวว่า การที่เราจะผลิตสุราไม่ว่าจะเป็นสุรากลั่น หรือสุราแช่ เราต้องขออนุญาตกับทางกรมสรรพสามิตก่อน โดยส่งตัวอย่างไปตรวจเพื่อวิเคราะห์ ดังนั้นสุราชุมชนจึงแตกต่างจากโรงสุราเถื่อนอย่างชัดเจน
เทพนมทำมาหลายอย่าง แต่ตัวหลักๆ ที่ทำคือสาโท ก่อนที่เราจะเริ่มผลิตจริงเราใช้เวลาในการพัฒนาสูตรนานมากประมาณ 2 ปี เพื่อให้รสชาตินิ่งได้มาตรฐาน และได้ไปเยี่ยมชมโรงสุราหลายที่ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ซึ่งมีการใช้ข้าว แต่ว่าโปรดักส์จะเหมือนเดิม
และก่อนจะส่งตัวอย่างไปให้กรมสรรพสามิต เราจึงมีการพัฒนาอยู่ตลอด โดยส่งตัวอย่างไปตรวจสอบซ้ำหลายรอบ ดังนั้นจึงปลอดภัย ค่าแอลกอฮอล์ไม่เกิน
ก่อนหน้านี้มีความกังวลในตอนที่เข้าวงการใหม่ๆ บางทีเห็นสุรากลั่นก็ไม่กล้ารับประทาน กลัวว่าจะมีเมทานอลแอลกอฮอล์ แต่ที่จริงแล้วคนได้รับใบอนุญาตทั้งหมดในขั้นตอนการกลั่นนั้น จะมีเมทานอลน้อยมาก จนไม่เป็นอันตรายต่อเรา และในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก็จะมีเมทานอลเล็กๆ น้อยๆ จนไม่เป็นอันตราย จึงไม่น่าจะมีความเสี่ยงอะไร
...
และจากการไปดูโรงสุรามาหลายพื้นที่ ประมาณ 5-6 ปีก่อนอาจจะยังไม่ค่อยสะอาด แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาหมดแล้ว มีการให้ความรู้เพิ่มเติม ปรับจนดีกว่าแต่ก่อนเยอะ ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เหมือนกับของญี่ปุ่น ก็ต้องโชว์ความสะอาด เมื่อก่อนอาจจะใช้ถังพลาสติก แต่ตอนนี้ปรับเป็นถังสแตนเลสมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีข้อจำกัด
ย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มทำใหม่ๆ โดนจำกัดในเรื่องของแรงม้าเครื่องจักรไม่ให้เกิน 5 แรงม้า ตอนนี้พอเปลี่ยนมาใช้ 50 แรงม้าก็สะดวกมากขึ้น ใช้อุปกรณ์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพการหมักคงที่มากขึ้น เมื่อก่อนอาจจะบรรจุด้วยมือ พอใช้เครื่องอัตโนมัติ ซึ่งส่วนใหญ่ในตลาดจะเป็นปั๊มลม ทำให้กระบวนการผลิตได้มาตรฐานมากขึ้น
คุณอ๊อบ ณัฐชัย กล่าวอีกว่า แบรนด์เทพนม เราทำมาได้ 10 ปี แต่ในส่วนของ เทพนม สาโท ทำมาได้ 3 ปีแล้ว โดย เทพนม สาโท ทำสุราจากข้าว เป็นสุราแช่ ที่เลือกใช้ข้าว เพราะก่อนที่จะมาทำสาโทได้ทำคราฟต์เบียร์มา 10 ปีแล้ว ตอนเริ่มที่ทำเบียร์ก็มีความชื่นชอบแต่พอทำไปก็รู้สึกว่าวัตถุดิบที่ใช้ทำคราฟต์เบียร์มีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด มีแค่น้ำที่ใช้ในไทย แต่ออกมารสชาติก็ดี แต่จากที่ได้เดินทางไปดูโรงสุราหลายๆ รวมทั้งรู้สึกว่า ญี่ปุ่นทำสาเกส่งออกได้ แล้วประเทศไทยที่ปลูกข้าวส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แล้วทำไมสาโทของเราไม่ได้รับการเชิดชูจึงทำตัวสาโทขึ้นมา
เราจึงเริ่มหาข้าวเอาข้าวเหนียวเขี้ยวงู จากเชียงราย ข้าวสังข์หยดจากพัทลุง มาทำ ซึ่งข้าวในไทยที่เป็นข้าวพื้นบ้านมีหลายร้อยสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีรสชาติหลากหลาย นำมาทำสาโทได้แตกต่างมาก สามารถใช้วัตถุดิบได้จากทั่วประเทศ
ถามว่ากังวลไหม หากข้อกฎหมายจะปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ คุณอ๊อบ ณัฐชัย กล่าวอีกว่า มีความกังวลมาก และก่อนจะมาทำเหล้า เบียร์ ผมทำบริษัทซอฟต์แวร์มาเป็น 10 ปี แล้วมาเปลี่ยนสายอาชีพเพราะความชอบ และก่อนที่จะมาทำสุรา เราก็รู้อยู่แล้วว่ามีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2552 รวมไปถึงเรื่องภาษี หากเทียบกับธุรกิจทั่วๆ ไป การทำบริษัทซอฟต์แวร์ก็ง่ายกว่าอยู่แล้ว แต่เราก็ทำใจ
แต่ถามผมที่อยู่วงการนี้มา 10 ปี ก็มีการแก้กฎหมายในทางที่ดีมาเรื่อยๆ มีความเข้าใจผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น แต่ถามว่ารวดเร็วไหมก็ไม่ เป็นการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทางสมาคมฯ คราฟต์เบียร์ สุรา ก็มีการต่อสู้มาโดยตลอด เพื่อให้กฎหมายควบคุมสมดุล ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ได้
"ตอนที่ผมทำซอฟต์แวร์ ผมเห็นผู้ใช้ซอฟต์แวร์ ใช้แล้วมีความสุข พอทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผมเห็นคนดื่ม ดื่มแล้วมีความสุข เป็นกำลังใจให้ ไม่ต้องการเห็นคนเมา เลยอยากพัฒนาสาโท ให้เป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนดื่มได้ จึงต้องผลักดันกฎหมายให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้โต เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องกังวลอยู่ตลอด"
...
ถามว่าในฐานะผู้เล่นรายเดิมมีกังวลไหม หากในอนาคตจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา คุณอ๊อบ ณัฐชัย กล่าวว่า หากมีผู้เล่นมากขึ้น จะได้มีการแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างเช่นการขายก๋วยเตี๋ยว ไม่ใช่ว่าทุกคนเข้ามาแล้วจะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ และการที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำสาโท ซึ่งตอนนี้มีอยู่น้อยมาก ก็อยากให้เข้ามาช่วยกันพัฒนาสาโทแข่งกับสาเก
สุรา กลายเป็นแพะ?
คุณอ๊อบ ณัฐชัย มองว่า ปัจจุบันในเมืองไทยมองเหล้าเบียร์ว่าไม่ดี ทำให้การให้ความรู้จึงไม่ค่อยมี ห้ามไปทุกอย่าง พอให้ความรู้ก็จะกลายเป็นว่า เป็นว่าการส่งเสริมให้เหล้าหรือเปล่า แต่ในต่างประเทศมีการให้ความรู้ตั้งแต่เด็กว่า แต่ละคนสามารถกินได้เท่าไร แล้วใช้เวลาพักเท่าไรที่แอลกอฮอล์จะลดต่ำลง จึงอยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ ทางสมาคมฯ เองก็มีการพูดคุยกันว่า คนขายในลักษณะกินที่บาร์ อย่างคนที่ดื่มแล้วเมาไม่ควรจะขับรถ ซึ่งในต่างประเทศ การที่จะเป็นบาร์เทนเดอร์จะมีการสอบ เมื่อเห็นคนเมาแล้วบาร์เทนเดอร์จะดูแลโดยให้พักก่อน ไม่ใช่ห้ามขับรถเลย แต่เป็นการพักจนสามารถเดินทางได้
ส่วนเรื่องข้อจำกัดในการโฆษณา ตนมองว่าการประชาสัมพันธ์ของตัวแบรนด์เองมีผลเยอะ เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและคุณภาพโดยตรง หากเราสามารถพูดได้ว่าเราทำดีอย่างไร ใช้วัตถุดิบอะไร ที่มีคุณภาพ และมีขั้นตอนอย่างไร ก็จะสามารถทำให้ผู้บริโภครับรู้ได้ เพราะปัจจุบันทำออกมาไม่สามารถบอกได้ว่า แต่ละแบรนด์ต่างกันอย่างไร แต่เข้าใจว่าตอนนี้กำลังมีการแก้กฎหมายให้พูดถึงเรื่องกระบวนการ ขั้นตอนมากขึ้น เพราะสุราชุมชน แตกต่างจากเหล้าทั่วไป แบรนด์จะขายไม่กี่ตัว แต่สุราชุมชนจะมีหลายตัว.