ชีวิตมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เมื่อเกิดลืมตามาแล้วการเจ็บป่วยไข้ไม่สบายหรือการที่ต้องมีโรคใดโรคหนึ่งในชีวิตดูเสมือนเป็นเรื่องปกติสามัญธรรมดา แต่ในข้อเท็จจริงการที่คนใดคนหนึ่งต้องมีโรคในร่างกายของตนและคนในครอบครัวย่อมนำมาซึ่งความทุกข์

ทั้ง...ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา ชุมชน รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์พยาบาล งบประมาณของรัฐที่จักต้องใช้จ่าย เพื่อดูแลรักษาให้โรคดังกล่าวหายไป เพื่อที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

เฉลิมพล พลมุข ประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ บอกว่า การเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในสังคมไทยเราปัจจุบัน กลุ่มเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ยุคนี้หลายคนมีเสรีทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์กันในระหว่างการเรียน การทำแท้ง การตั้งครรภ์มิพึงประสงค์ หรือการตั้งท้องแล้วคลอดระหว่างเรียน...เป็นความปกติสามัญทั่วไป

สภาพของปัญหายาเสพติดประเภทดื่มกินฉีดที่เป็นเหตุของการเพิ่มการมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นทั้งเด็กเยาวชน คนทำงานหรือแม้กระทั่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางรายที่เคยต้องโทษในเรือนจำกล่าวอ้างถึงความเสี่ยงระหว่างคุมขังต้องโทษ ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่มิได้มีการป้องกัน การสักยันต์ หรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ

...

ที่จะทำให้ตนเองเป็น “ผู้ติดเชื้อฯรายใหม่” ยังคงมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อีกข้อเท็จจริงหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงก็คือผู้ติดเชื้อฯจำนวนหนึ่งที่เขาเหล่านั้นมีร่างกายสมบูรณ์ปกติทำงานในองค์กรหน่วยงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ หากเขามิได้เปิดเผยตนเองว่าเป็นผู้ติดเชื้อฯ วันหนึ่งหากมีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศสัมพันธ์...อีกฝ่ายหนึ่งก็จักกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่อย่างที่จักปฏิเสธมิได้

“ภาครัฐ” หรือ “รัฐบาล” ได้มีนโยบายในการป้องกันในประเด็นเหล่านี้ด้วยหรือไม่...?

ช่วงแรกๆของการระบาดแพร่เชื้อเอชไอวีและการมีผู้ป่วยเอดส์ให้สังคมได้รับรู้ก็คือเนื้อตัวร่างกายผิวหนังผอมแห้ง มีแผล ตุ่มตามร่างกายน่ารังเกียจเป็นภาพจำของคนในสังคมการรังเกียจ กลัว ปฏิเสธมาถึงปัจจุบันนี้...ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนครึ่งล้านกว่าคนกระจายอยู่ทั่วเมืองไทยเรา เขาเหล่านั้นร่างกายแข็งแรง

...มีสุขภาพกาย ใจเสมือนคนทั่วๆไป มีหน้าที่การงานในองค์กร หน่วยงานต่างๆทั้งภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ เขาสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี ทว่าพฤติกรรมหนึ่งที่อาจจักสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อก็คือการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการมิได้ป้องกัน

“โอกาสที่แพร่เชื้อเอชไอวีไปยังผู้คนปกติได้ง่าย...ต่อเนื่องมามากกว่าสี่สิบสามปีแล้วที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ทั้งในเมืองไทยเราและระดับโลกยังคงมีทั้งผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยเอดส์ สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมเสี่ยงในการรับเชื้อฯ”

สำหรับชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวียุคปัจจุบันเขาเหล่านั้นได้รับยาต้านไวรัส ที่ต้องกินต่อเนื่องตรงต่อเวลา รวมถึงระบบการปรับยาต้านสำหรับผู้ติดเชื้อฯบางราย...หลายรายมีสุขภาพกายใจสังคมอยู่ในระดับดีมาก อาจทำให้สังคมส่วนรวมส่วนหนึ่งเห็นว่า...ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์คงจะหมดสิ้นไปจากสังคมไทยแล้ว...

ขอย้ำว่า...ข้อมูลปี 2566 สังคมไทยเรามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งประเทศ 580,000 คน...กำลังรับยาต้านไวรัส 474,675 ราย ...มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ 12,000 คน และพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,100 คน...ร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อฯ พบในจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน

ตัวเลขข้างต้นนี้จะเห็นว่าสังคมไทยเรายังคงมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐแต่ละส่วนงานก็ยังคงทำหน้าที่ให้การดูแลชีวิตเขาและครอบครัวเขาอย่างต่อเนื่อง

...

สะท้อนถึงคำพูดหนึ่งที่เราท่านได้ยินเสมอก็คือ...วันเวลาที่ผ่านมากว่าสี่สิบปีเหตุใดผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ยังคงไม่มีตัวเลขที่ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปจากสังคมไทย...(hivhub. ddc.moph.go.th)

วัดพระบาทน้ำพุ มูลนิธิธรรมรักษ์ แห่งจังหวัดลพบุรี ยังคงเป็นสถานที่ให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์มาอย่างยาวนานของสังคมไทยมากกว่าสามสิบปี การให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ภายในวัดยังคงในหลักการเดิมก็คือเมตตาและมนุษยธรรมให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในครอบครัว ญาติพี่น้อง

...เป็นบริการฟรีทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย นับรวมไปถึงส่งเสริมอาชีพให้เขาเหล่านั้นมีงานทำ นอกจากนี้มูลนิธิยังทำหน้าที่บริการชุมชนสังคมในภาพรวม  ทั้งการให้การสงเคราะห์ประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็กติดเชื้อฯ เด็กกำพร้า คนพิการตาบอด หูหนวก แขนขาพิการ ผู้สูงอายุคนแก่ชรา ฯลฯ

หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธิประชานาถ เจ้าอาวาส ผ่านทั้งปัญหาอุปสรรคในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะทัศนคติในการดูแล...อยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ด้วยความรักความเข้าใจจนวาระสุดท้ายของชีวิต ยังคงอยู่ในประเด็นของการผลักผู้ป่วยออกจากบ้าน รวมถึงการทอดทิ้ง...

“สิ่งสำคัญยิ่งก็คือหากไม่มีอุดมการณ์ การคิดช่วยเหลือประชากรกลุ่มดังกล่าวด้วยความจริงใจหรือมั่นคงที่จะดูแลชีวิตเขาอย่างยาวนานก็ยากที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้...อะไร สิ่งใดที่เป็นข้อเท็จจริงต่อการทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขา เพื่อส่วนรวมสังคมอย่างต่อเนื่อง”

...

วันนี้น่ากังวลและเป็นห่วง...กลุ่มเด็กนักเรียน วัยรุ่น วัยเรียน การให้ความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การดูแลผู้ป่วยเอดส์ได้ขาดหายไปจากระบบการศึกษาไทยเป็นเวลานานกว่าสองทศวรรษ ครูอาจารย์ผู้สอนบางคนในสถาบันการศึกษาก็ไม่มีองค์ความรู้ดังกล่าวอย่างแท้จริง และรัฐก็ดูเหมือนไม่สนใจในปัญหานี้...

หรือว่า...ต้องให้มีการระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งของสังคมไทยอีกครั้ง?

 เหลียวมองคำขวัญ “วันเอดส์โลก” ปีนี้...“เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” (Take the rights path: Respect rights, aim for ending AIDS) การเคารพสิทธิในความเป็นมนุษย์เป็นหลักการสากลที่เราท่านทั้งหลายพึงได้รับด้วยความเป็นธรรมตราบที่ยังมีลมหายใจ

หลักการดังกล่าวจักเป็นจริงทั้ง “รูปธรรม” และ “นามธรรม” หรือไม่ อย่าให้เป็นแค่ฝัน

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม