“ไทยรัฐกรุ๊ป” ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค. ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ยกมาตรฐานสุราชุมชนสู่สากล เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆให้กับประเทศไทย พร้อมเปิดวงเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจ สุรา และการเมือง” ชี้มาถูกทางหนุนสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ไทยเพื่อยกระดับผลผลิตการเกษตรเป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ที่ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 พ.ย. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ แห่งชาติ และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ ที่ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนจัดขึ้น
นพ.สุรพงษ์กล่าวเปิดงานว่า การดื่มสุราหรือการร่ำสุรา ไม่ใช่เรื่องของเหล้า 1 ขวด หรือเหล้า 1 ไห แต่เป็นวัฒนธรรมที่มีอยู่มานานเป็นพันๆปี ทำให้มนุษย์มองสุราเหมือนเพื่อน เหมือนเครื่องที่ทำให้บันเทิงใจ รวมถึงเป็นเครื่องบำรุงจิตใจ สุราไม่ใช่เป็นเรื่องที่บอกว่าดื่มแล้วเป็นผลต่อสุขภาพอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่ตนเป็นแพทย์ ขอบอกว่าการร่ำสุรา ดื่มเมรัย ต้องมีความพอดี สุราคือวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นบรรพบุรุษ ตกทอดกันมาในแต่ละชุมชน แต่ละอารยธรรมแตกต่างกันไป เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ว่า จะทำอย่างไรให้สุราถูกปลดปล่อยออกมาให้เกิดเสรีภาพในการที่จะนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ ตอนนั้นมีสุราชุมชน มีไวน์ผลไม้ ยอมรับว่าขณะนั้นเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นและมีความตื่นตัวอย่างกว้างขวาง ปัญหาที่ตามมาอาจมีหลายส่วน เช่น ปัญหาทางกฎหมาย ปัญหาคุณภาพ
...
นพ.สุรพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี หลังจากไม่ได้มีการพัฒนาส่งเสริมกันจริงจัง ส่งผลให้สุราชุมชนรูปแบบต่างๆไม่ได้เติบโตก้าวหน้ากลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของโลก วันนี้คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เรามีคนที่มีองค์ความรู้ มีความฝันอยากจะพัฒนาสุรา ให้กลายเป็นเครื่องมือทำตามความฝันได้ เราเห็นองค์ประกอบจากพืชผลการเกษตรหลายๆอย่างของไทย เช่นข้าวหอมมะลิ เอามาปรุงแล้วสามารถที่จะแข่งกับข้าวมอลต์ในต่างประเทศ เรื่องนี้หากส่งเสริมกันจริงจัง มีการตลาด มีการขายที่มีประสิทธิภาพ จะมีโอกาสทำให้เรื่องเมรัยไทยแลนด์พัฒนาต่อไปได้ สุรายังเป็นวิถีชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ สามารถจับคู่เครื่องดื่มกับอาหารท้องถิ่น สิ่งที่จะทำให้เติบโต คือ ต้องมีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ฝึกอบรม พัฒนาคุณภาพอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้การผลิตที่มีคุณภาพเกิดขึ้นในประเทศไทย แน่นอนต้องนำไปสู่การแก้ไขร่างกฎหมายสุราชุมชนและ พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เราสามารถทำความพอดีเรื่องนี้ให้กลายเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
ด้าน “วัชร วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อสนับ สนุนภูมิปัญญาไทยหรือความรู้ไทยท้องถิ่น กอปรกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตเหล้าหรือเบียร์ อยากส่งเสริมคนตัวเล็กๆให้มีโอกาสมีเวทีนำสินค้าของพวกเขาออกมาแสดงให้ทุกคนได้เห็น งานเมรัยไทยแลนด์เป็นงานที่อยากช่วยส่งเสริมผลักดันให้สุราไทยและคราฟต์เบียร์ไทยไปไกลระดับอินเตอร์ เครื่องดื่มของไทยมีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเองสูงมาก เราต้องการยกระดับและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ผลิตหรือผู้ขายที่ส่วนใหญ่เป็นรากหญ้า เป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆได้ขึ้นมาต่อสู้ในเวทีใหญ่ เป็นการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง เจตนาของการจัดงานนี้ไม่ได้ชวนกันมาเมาหรือมอมเมา แต่อยากส่งเสริมส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและช่วยผู้ประกอบการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเมรัยไทยแลนด์ ยังมีกิจกรรมไฮไลต์ คือ การเปิดวงเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจ สุรา และการเมือง” มีผู้นำทางความคิดจากหลากหลายวงการมาร่วมพูดคุย นำโดย “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย และ น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับสุราในมิติทางการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมหาโอกาสในการต่อยอดสุราในฐานะผลิตภัณฑ์ซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นายณัฐพงษ์ กล่าวเปิดประเด็นว่า สุราชุมชนเกี่ยวกับการเมืองอย่างแน่นอน อีกทั้งเกี่ยวเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือกฎหมายสุราชุมชน ถ้าจะมองให้ลึกเรื่องการส่งเสริมรายได้ในพื้นที่ เกษตรกรไทยแทนที่จะแข่งกันปลูกข้าวกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ทำไมเราไม่หันมานำข้าวผลิตเป็นสุรา ที่ภาครัฐและการเมืองสามารถสนับสนุนได้ เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเกษตรกร ท้องถิ่น และการท่องเที่ยว
เมื่อถามถึงโอกาสว่าจะทำอย่างไรให้สุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ไทยเติบโตมากกว่านี้ เท้ง-ณัฐพงษ์ กล่าวว่า สุราเท่ากับอาหาร มองว่าเกิดขึ้นได้ถ้ารัฐบาลสนับสนุนถูกต้อง มีกติกาการแข่งขัน การควบคุมมาตรฐานคุณภาพของสุรา กรณีเมทานอลที่เป็นข่าว มองว่าเกิดจากพ่อค้าอาจแอบผสมเติมเข้าไป สุราชุมชนจริงๆไม่ได้อันตรายขนาดนั้น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำลังจะผ่านคณะกรรมาธิการในวาระที่ 2 การบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญในบางประเทศมีการใช้ดิจิทัลไอดี ยืนยันตัวตนการซื้อออนไลน์ มีการยืนยันตัวตนกรณีซื้อผ่านตู้ขายตามจุดต่างๆ รวมไปถึงมาตรการการขาย ขายวันไหน ขายกี่โมง ไม่ควรมาจากโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ แต่ควรอยู่ที่ระดับท้องถิ่น เพราะวิถีแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน รัฐต้องหาตลาดให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก อยากให้รัฐ มีฐานข้อมูลวัตถุดิบ วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นที่บ้านเรา ข้าวและผลไม้แต่ละพื้นที่มีความโดดเด่น อยากให้ภาครัฐมีต้นทุนทางวัฒนธรรม โปรโมตการท่องเที่ยว มีแค็ตตาล็อกวัตถุดิบเด่นๆของแต่ละพื้นที่ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปพื้นที่นั้น จะช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรได้ ปรับวิถีการเพาะปลูกเข้ากับบริบทที่เราต้องการได้ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลปลดล็อก นอกจากเรื่องกำลังการผลิต คือเรื่องใบอนุญาต ที่มองว่าควรเป็นใบเดียวที่สามารถครอบคลุมสุราทุกชนิด
...
ขณะที่นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย กล่าวว่า สุราชุมชนไทยเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะรัฐบาลก่อนหน้ามีการจับมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาสุราชุมชน แต่เมื่อเป็นยุครัฐบาลทหารไม่ได้มีการพัฒนาเรื่องนี้อีก ขณะที่มูลค่าการตลาดของสุราในประเทศมีประมาณแสนล้าน แต่สุราชุมชนมีมูลค่าการตลาดไม่ถึง 5% สุราชุมชนนอกจากจะทำจากข้าวแล้ว ทำจากผลไม้ก็ได้ หากเราสามารถสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสุราชุมชน เพื่อผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ต้องไปแก้มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยการโฆษณาแสดงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายก่อน ไม่อย่างนั้นใครจะรู้ว่าที่นี่มีสุราชุมชนอะไรที่โดดเด่น นอกจากแก้กฎหมายแล้วยังมีเรื่องกฎหมายสรรพสามิตหลายตัวที่อยากให้แก้ เพื่อให้สุราชุมชนได้ผลิตกันอย่างเสรีจริงๆ ปลดล็อกสุราเสรีให้ได้จริงๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าต้องผลิตขั้นต่ำเท่าไหร่ เพราะผลิตมาแล้ว โฆษณาไม่ได้ ขายไม่ได้ ก็วนกลับมาที่จุดเริ่มต้นเหมือนเดิม
ด้าน น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ แสดงทรรศนะว่า เราพยายามแก้กฎหมายคราฟต์เบียร์มาโดยตลอดทำมา 6-7 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ จนยุครัฐบาลปัจจุบันเข้ามาขับเคลื่อน ล่าสุดเรื่องนี้ได้เข้าสภาฯ มีผู้ประกอบการได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ไปศึกษางานที่จีน พบว่ามณฑลกุ้ยโจวที่จนที่สุดของจีน ภาครัฐอยากให้เมืองนี้มีรายได้มากขึ้น จึงส่งเสริมสุราเหมาไถ ช่วยสนับสนุนจนทำให้เหมาไถเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คนจีนจะพูดว่าสุราคืออาหาร เขาจะปฏิบัติกับสุราเหมือนอาหาร ครัวไทยไปครัวโลกได้ ทำไมเหล้าไทยจะไปอยู่ในแก้วของชาวโลกไม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากภาครัฐช่วยส่งเสริมทัศนคติ สุราไม่ใช่ยาพิษ สุราเป็นอาหารจีนไม่มี พ.ร.บ.ควบคุมเหล้าเบียร์ หากมีคนดื่มเหล้าแล้วทะเลาะวิวาทจะใช้กฎหมายทะเลาะวิวาท ถ้าดื่มแล้วขับจะใช้กฎหมายจราจร เรื่องการโฆษณา ใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เรามีกฎหมายเหล่านั้นทั้งหมด หากมี พ.ร.บ.ควบคุมเหล้าเบียร์ จะไปทับซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ จีนมีบิลบอร์ดโฆษณาเหล้าเบียร์เต็มไปหมด แต่จะมีข้อความว่าดื่มอย่างมีสติ แม้จะมีการโฆษณาแต่พบว่าอุบัติเหตุจากเหล้าและการขายเหล้าให้เด็กแทบไม่มี เพราะเขาแก้ปัญหาถูกจุด ที่ผ่านมาสื่อไม่กล้าพูดถึงเหล้าเบียร์เลย จริงๆหากเกิดการปลดล็อกแล้ว เราทุกคนรวมทั้งสื่อควรช่วยกันสร้างค่านิยมไม่ขายให้เด็ก ไม่ดื่มแล้วขับและควรเดินหน้าปลดล็อกเรื่องภาษี เพราะเบียร์กับไวน์โดนภาษีสูงมาก ทำให้คนไม่ดื่มคราฟต์เบียร์เพราะราคาแพง หรืออาจจะแก้ปัญหาการนำเข้าเบียร์กับไวน์น้อยลง อีกเรื่องคือภาษีสุราไทย แม้จะปลดล็อกไปแล้ว อยากให้ช่วยได้มากกว่านี้
...
ทั้งนี้ “งานเมรัยไทยแลนด์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พ.ย.- 3 ธ.ค. ณ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ เปิดให้เข้างานฟรีตลอด 7 วัน ในงานมีการรวบรวมผู้ผลิตสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์กว่า 50 รายจากทั่วประเทศ พร้อมมีเวทีดนตรีให้ผู้ร่วมงานดื่มด่ำไปกับเสียงเพลงหลากหลายแนว พลาดไม่ได้กับกิจกรรมไฮไลต์ “Chef’s Table แกล้มเมรัย” ชวนชิมฝีมือการปรุงอาหารสดๆของเชฟมิชลินสตาร์ 4 ภาคของไทย จับคู่กับเครื่องดื่มสุดคราฟต์ประจำภาคต่างๆ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่