สะเทือนสังคมไทยไม่น้อย กรณี “ทนายความโซเชียลฯคนดัง” ทำงานในลักษณะอาสาช่วยสังคมเรียกร้องความยุติธรรมให้ประชาชนจนหลายคดีได้รับความสนใจจาก “สื่อมวลชน” แต่ต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง และฟอกเงิน ถูกตำรวจจับกุมไปไม่นานมานี้

ทว่าที่ผ่านมาสำหรับ “ทนายโซเชียลฯ” ก็ไม่ใช่เคสแรกที่พยายามสร้างชื่อเสียงผ่าน “สื่อ” ที่ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลสาธารณะ “จนได้รับความชื่นชอบ และน่าเชื่อถือจากประชาชน” ทำให้สื่อมวลชนให้ความสำคัญนี้

ถ้าวิเคราะห์ให้ดีสิ่งเหล่านี้ “เป็นรูปแบบการสร้างภาพลักษณ์ตัวตนด้วยอาสาช่วยสังคม” ที่ใช้หลักสื่อมวลชนสัมพันธ์อันเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับ “สื่อมวลชน” เพื่ออาศัยเป็นสื่อกลางเผยแพร่กระจายข่าวไปสู่ประชาชน “อันหวังผลประโยชน์จากความโดดเด่น” ที่เริ่มปรากฏพบอย่างแพร่หลายในสังคมไทยขณะนี้

เช่นนี้ทำให้ “ทีมข่าวสกู๊ป” จึงนำเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษาจาก ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า ตามปกติสื่อมวลชนมักให้ความสนใจกับบุคคลผู้มีชื่อเสียง หรือบุคคลมีตำแหน่งสำคัญอย่างนายกฯ รัฐมนตรี ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือศิลปินดาราเป็นหลัก

...

เพราะสมัยก่อนนั้น “การสื่อสารไม่ทันสมัย” ทำให้บุคคลทั่วไปจะสามารถสร้างตัวตนให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่สนใจในสังคมได้ไม่ใช่เรื่องง่าย “แม้แต่ดาราต่อให้ดังล้นฟ้าก็ต้องพึ่งพาสื่อมวลชน” เพราะด้วยสื่อโทรทัศน์สมัยนั้นมี 6 ช่อง และหนังสือพิมพ์ก็มีไม่กี่ฉบับ ส่งผลให้คนที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญจึงมีน้อย

ยกตัวอย่าง “องค์กรช่วยเหลือเด็กและสตรีแห่งหนึ่ง” ถือว่าเป็นองค์กรแรกของประเทศไทยที่นำรูปแบบหลักการสื่อมวลชนสัมพันธ์มา “สร้างตัวตนเป็นที่โดดเด่น” ในการอาศัยสื่อมวลชนเป็นสื่อกลางสร้างข่าวในการทำงานด้านการช่วยเหลือสังคมจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นภาพลักษณ์มีชื่อเสียงที่จดจำมาถึงทุกวันนี้

เพียงแต่ว่าสมัยนั้น “การสร้างตัวตนลักษณะทำงานอาสาช่วยสังคม” ส่วนใหญ่มักไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทน “เป็นตัวเงิน” แต่มุ่งเน้นการสร้างชื่อเสียงรักษาบทบาททางสังคม ตำแหน่งทางการเมือง หรือสร้างคะแนนเสียงนำไปสู่การลงสมัครเลือกตั้งทางการเมือง

ต่อมาราว 10 กว่าปีมานี้ “โลกโซเชียลฯเติบโต” หลายคนใช้โลกออนไลน์เกาะกระแสเรียกดราม่าให้ได้มาซึ่งยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดคนติดตาม “บางคนอยากเป็นจุดสนใจ” จนใช้วิธีการโจมตีด่าทอคนอื่น โกหกสร้างภาพ หรือทำสิ่งที่ส่งผลให้คนอื่น พยายามหาวิธีที่จะเป็นจุดสนใจของผู้อื่นอยู่เสมอ

พอมีชื่อเสียงแล้ว “เริ่มอาสามาช่วยสังคม” ไม่ว่าจะอาสาช่วยทางคดี เรียกร้องขอความเป็นธรรม หรือแนะนำข้อกฎหมายช่วยเหลือผู้ยากจนที่เผชิญปัญหาจากการถูกทำร้าย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ โดยมีกระบวนการสื่อมวลชนสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ “คัดเลือกเรื่องที่สื่อมวลชนสนใจ” เพื่อนำเสนอตัวเอง

ด้วยรูปแบบนำพา “ผู้เสียหายเรียกร้องหน่วยงานรัฐ” ตั้งโต๊ะแถลงอย่างที่ปรากฏให้เห็นทุกวันนี้โดยมีกระบวนการแจ้งข่าวให้สื่อรู้ ล่วงหน้าเสมอ เพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจติดตามทำข่าวอยู่ตลอด หรือแม้แต่เห็นใครก็ตามที่กำลังตกเป็นกระแสทางสังคม หรือเป็นกระแสของสื่อที่สนใจก็มักจะปรากฏตัวในเหตุการณ์นั้น

อย่างกรณีดราม่าหวย 30 ล้าน “ประเด็นข้อพิพาทไม่มีอะไรเลย” แต่พอมีกลุ่มสร้างตัวตนอาสาช่วยสังคมเข้าไปเกี่ยวข้องก็ปั่นกระแสนำเสนอตัวเองให้อยู่ในความสนใจของสื่อกลายเป็นเรื่องดราม่าอยู่หลายเดือน

ตรงนี้สังเกตได้ว่า “รูปแบบการสร้างตัวตน” จะมีแบบแผนการสื่อสารกับสื่อมวลชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน “มีเป้าหมายการสร้างชื่อเสียงให้ถูกการันตีเป็นบุคคลสาธารณะ” ทำให้สามารถเข้าดำเนินการประสานกับภาครัฐได้ง่ายด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปตามที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนเป้าหมายการสร้างตัวตนปัจจุบัน “ไม่ใช่แค่ต้องการชื่อเสียง” แต่ยังหวังผลในตำแหน่งสำคัญ เช่น คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรือบางคนลงเล่นการเมืองสามารถเข้าไปอยู่ในสภาก็หลายคน

...

ปัญหามีอยู่ว่า “ชื่อเสียงมักมาพร้อมกับค่าตอบแทน” เพราะประชาชนจะติดต่อขอให้สื่อทำข่าวเรื่องตัวเองโดยตรงทำได้ยาก ต้องอาศัยผ่านคนมีชื่อเสียงที่สื่อให้ความสำคัญแทน ทำให้เป็นช่องว่างในการหยิบยืมเงินทองแลกการช่วยเหลือทางสังคมกดดันหน่วยงานรัฐ “บางคนมีข้อพิพาทกับผู้อื่น” วิ่งเข้ามาขอให้ช่วยกดดันคู่กรณีก็มี

กลายเป็นทำงานหวังผลประโยชน์สร้างรายได้ในข้ออ้างว่า “การช่วยเหลือมีค่าใช้จ่าย” แต่คนกลุ่มนี้มักอยู่ภายใต้องค์กรไม่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรือตั้งชื่อองค์กรขึ้นมาเท่านั้นโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีมานี้กลุ่มคนอาศัยการสื่อสารสร้างตัวตนจะเร่งปั่นประเด็นออกสื่อแทบทุกวัน เพื่อสร้างมูลค่าให้ตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็น “ช่องว่างการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ” ที่บางคนเดือดร้อนเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ทำให้หันมาพึ่งพากลุ่มสร้างตัวตนที่มีภาพลักษณ์ช่วยเหลือสังคมแทน จนกลายเป็นอีกที่พึ่งของผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมแทบจะเป็นเสาหลักแห่งที่พึ่งเลยด้วยซ้ำ

ถัดมาในส่วน “การทำหน้าที่สื่อ” ก็เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะตั้งรับจากกลุ่มสร้างตัวตนอาสาช่วยสังคม คอยทำหน้าที่หาข้อมูล นำเสนอเนื้อหาสำเร็จรูปป้อนให้สื่ออยู่ตลอดบวกกับการแข่งขัน “สร้างยอดติดตามข่าวออนไลน์เน้นความรวดเร็ว” สื่อหลายสำนักต่างมุ่งทำข่าวกับกลุ่มหิวแสงสร้างตัวตนอาสาช่วยสังคมเป็นหลัก

แล้วนำเสนอข่าว “โดยมิได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการข่าว” ซึ่งไม่สนใจประเด็นข่าวนั้นมีคุณค่าในเนื้อ หรือประชาชนได้ประโยชน์จากข่าวหรือไม่ กลายเป็นกลุ่มหิวแสงสร้างตัวตนสามารถ “ชี้นำสังคมผ่านสื่อ” จนข่าวคุณภาพในเชิงข่าวสืบสวน ตรวจสอบกลโกง และการทุจริตลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

...

“ต่างจากสมัยก่อนสื่อมวลชนมักลงพื้นที่ตรวจสอบทำข่าวด้วยตัวเอง เพื่อสะท้อนมุมมืดอีกด้านของสังคมให้ถูกเปิดเผยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจริงๆ แล้วกลิ่นอายนี้คงเหลือเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่มีกองบรรณาธิการคัดกรองเนื้อหาข่าวก่อนเสนอสู่สาธารณชนทำให้ยังคงคุณค่าของข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ในขณะนี้” ผศ.ดร.สิงห์ ว่า

ฉะนั้น อดีตถึงปัจจุบันจะเห็น “ผู้ต้องการพื้นที่หน้าสื่อ” ต่างมีเป้าหมายแฝงในการทำงานอาสาช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมของสังคม “ประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทัน” ถ้าเดือดร้อนควรเข้าหาภาครัฐโดยตรงหากไม่มีการตอบรับก็สามารถติดต่อศูนย์ดำรงธรรมในจังหวัดจะดีที่สุด...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม