12 มกราคม 2567เวลาประมาณ 15.00 น. ร่างไร้ลมหายใจของ ‘อ่องโกโก’ พลเมืองสัญชาติเมียนมา วัย 37 ปี ถูกพบอยู่บริเวณ ‘พื้นที่ 70 ไร่’ ซึ่งเป็น ‘No man land’ (พื้นที่ที่ไม่มีผู้ใดครอบครอง) บ้านแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อ่องโกโกเป็นชาวเมียวดี ที่เข้ามาขายแรงงานในไทย เขาเคยเป็นอาสาสมัครชุดรักษาการความปลอดภัยชุมชนบ้านใต้ อ. แม่สอด จังหวัดตาก หรือที่เรียกกันว่า ‘ชรบ.’ จากปากคำประจักษ์พยานในรายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ อ้างว่า ทหารไทย 3 นาย ได้ซ้อมทรมานอ่องโกโก ทุบตีเขาอย่างรุนแรงด้วยท่อนไม้ขนาดยาว จนสภาพร่างของอ่องโกโกมีแต่รอยฟกช้ำรุนแรง ทั้งรอยฟกช้ำที่หน้าผาก กระดูกแก้มทั้งสองข้าง จมูก ส่วนหลังของเขาเกือบทั้งหมดตั้งแต่กระดูกสะบักลงมาถึงเอวก็มีรอยฟกช้ำรุนแรง และภาพถ่ายยังฉายให้เห็นรอยแผลที่บาดลึกเป็นแนวยาวประมาณ 1 นิ้วบนข้อศอกด้านขวา ฯลฯ หลังสิ้นสุดการทรมาน ทหารไทยได้สั่งให้ประจักษ์พยานคนหนึ่งหิ้วร่างของอ่องโกโกไปส่งที่แนวพรมแดนเมียนมา แต่เดินไปได้เพียงไม่กี่ก้าว อ่องโกโกก็ล้มลง มีเลือดไหลออกจากบาดแผลที่ข้อศอกและศีรษะ ที่สุดแล้ว อ่องโกโกได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ล่าสุด 27 กันยายน 2567 หลังกระบวนการสอบสวนของตำรวจและการส่งฟ้องของอัยการ กลายเป็นว่า ‘ศิรชัช’ หนึ่งใน ชรบ. คนหนึ่ง (เขาถูกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ไปดูเหตุการณ์วันที่อ่องโกโกถูกทหารคุมตัว) ถูกศาลแม่สอดพิพากษาว่า มีความผิดฐาน ‘ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย’ ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน คำถามคือ เมื่อนี่คือการ ‘ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย เหตุใด ‘ศิรชัช’ คือคนเดียวเท่านั้นที่ถูกพิพากษาความผิด… ‘ทหารไทย’ที่เป็นพยานทั้งหลายกล่าวถึง หายไปไหนจากคดีนี้? ไทยรัฐออนไลน์ สรุปเนื้อหารายงานเรื่อง ‘ความตายที่พรมแดนเมียนมา’ จัดทำโดย Fortify Rights องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่ตั้งคำถามถึงกระบวนการทางกฎหมายในคดีอ่องโกโก และพูดคุยกับ พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ หมู่พยัคฆ์ รองผู้กำกับการกองสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่สอด ที่จะมาตอบคำถามว่า ทหารมีเอี่ยวจริงหรือไม่ อย่างไร? (ภาพสุดท้ายของอ่องโกโก ขณะยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ถูกจับกุมในพื้นที่ 70 ไร่ ทหารที่จับกุมเขาได้ถ่ายภาพนี้และส่งให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)เกิดอะไรขึ้นกับอ่องโกโก อ้างอิงจากรายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ 12 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 11.00 น. ‘อ่องโกโก’ ชายชาวเมียนมา ถูกทหาร 4 นายจากกองทัพบกไทย พบตัวบริเวณ ‘พื้นที่ 70 ไร่’ ซึ่งเป็น ‘No man land’ (พื้นที่ที่ไม่มีผู้ใดครอบครอง) บ้านแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเข้าควบคุมตัวสอบปากคำ โดยทหารสอบถามว่า เหตุใดพลเมืองเมียนมาจึงมีเสื้อกั๊กของ ชรบ. ไว้ในครอบครอง (ตามข้อมูลของพยาน วันนั้นอ่องโกโกสวมเสื้อกั๊ก ชรบ.)เมื่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทราบเรื่องการคุมตัวอ่องโกโก จึงมอบหมายให้ ชรบ. บ้านใต้ คนอื่นๆ ที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานของอ่องโกโกมาดูสถานการณ์และรายงานตัวในที่เกิดเหตุ เมื่อพวกเขาไปถึง ชรบ. 2 คนจำอ่องโกโกได้ และยืนยันกับทหารว่า อ่องโกโกเคยเป็นสมาชิก ชรบ. จริง แม้ว่าเขาจะกลับไปทำงานที่เมียวดีประมาณเดือนหนึ่งแล้ว และได้ขอร้องให้ทหารปล่อยตัวเขาเสีย (อ่องโกโก คือคนตรงกลาง ในชุดเครื่องแบบ ชรบ.)ทว่าทหารไม่ยอมปล่อยตัว แต่กลับพาตัวอ่องโกโกไปที่ป้อมทหารใกล้ๆ และทิ้งให้ ชรบ. ที่เหลือรออยู่ที่เดิม กระทั่ง 20 นาทีผ่านไป ชรบ. กลุ่มนี้ได้ยินเสียงอ่องโกโกตะโกนขอความช่วยเหลือ โดย ชรบ. คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า “ผมได้ยินเสียงร้องตะโกนของอ่องโกโก บอกว่า ช่วยผมด้วย ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมไม่ได้ทำความผิด ช่วยผมด้วย… ผมจึงเดินตามเสียงไป มีทหารสามนายอยู่”ประจักษ์พยานคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เขาเห็นทหารของกองทัพบกไทย สอบปากคำอ่องโกโก ก่อนจะลงมือทำร้ายเขา โดยเล่าว่า “หลังอ่องโกโกพูดจบ หัวหน้าชุด (ทหาร) ได้เริ่มซ้อมเขาต่อหน้าพวกเรา โดยใช้ไม้ไผ่ตีที่หลังและขาซ้ำกันหลายครั้ง ตีแรงจนไม้ไผ่หัก จากนั้นพวกเขาก็ใช้ไม้ยาว 1.5 เมตร เพื่อตีต่อไป จนกระทั่งไม้หักอีก” ‘ศิรชัช’ หนึ่งใน ชรบ. ที่มาดูเหตุการณ์ยอมรับว่า เขาได้ร่วมตีด้วยในบางช่วง โดยตีไปที่หน้าแข้ง 2 ครั้ง และที่ก้น 1 ครั้ง จากนั้นเขาก็เดินจากไป แต่ทหารยังคงซ้อมอ่องโกโกต่อไปอย่างหนัก ชรบ. ที่อยู่ในเหตุการณ์อีกคนหนึ่งบอกว่า การทุบตีอ่องโกโกเกิดขึ้นหลายครั้ง จนอ่องโกโกร้องออกมา ทหารจึงหยุดตี และไล่ให้ ชรบ. (พยาน) ทั้งหมดให้เดินออกไป เหลือไว้ 1 คนเพื่อเป็นล่าม โดยพยานที่ถูกใช้ให้เป็นล่ามเล่าให้ฟอร์ตี้ฟายไรต์ฟังว่า “ตอนที่ทหารหยุดตี พวกเขาพูดว่า วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่อ่องโกโกจะได้อยู่ที่นี่ พวกเขาเตือนว่า ถ้าอ่องโกโกกลับมาอีก คราวนี้ได้ตายแน่” ประจักษ์พยาน กล่าวว่า ตั้งแต่สอบสวนจนถึงการทุบตีใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที หลังจากทุบตีเสร็จสิ้น ทหารได้สั่งให้ ชรบ.รายหนึ่งนำร่างของอ่องโกโกไปไว้ที่พรมแดนเมียนมา พร้อมกับขู่ว่าหากเขากลับมาอีกครั้งจะไม่มีชีวิตอีกต่อไป เมื่อพยานพาอ่องโกโกเดินไปได้เพียงนิดเดียว เขาก็ทรุดตัวลง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากภาพถ่าย สภาพร่างของอ่องโกโกมีแต่รอยฟกช้ำรุนแรง ทั้งรอยฟกช้ำที่หน้าผาก กระดูกแก้มทั้งสองข้าง จมูก ส่วนหลังของเขาเกือบทั้งหมดตั้งแต่กระดูกสะบักลงมาถึงเอวก็มีรอยฟกช้ำรุนแรง และภาพถ่ายยังฉายให้เห็นรอยแผลที่บาดลึกเป็นแนวยาวประมาณ 1 นิ้วบนข้อศอกด้านขวา จากสำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพ …ฟอร์ตี้ฟายไรต์ พบว่า ร่างของอ่องโกโกมีบาดแผลดังจำนวนมาก เช่น แผลถูครูดที่ใบหน้าและจมูก 6 บาดแผล ขนาด 1-3 เซนติเมตร, หน้าผาก เข่าขวา ขนาด 0.5-3 เซนติเมตร , ไหล่ขวา เข่าทั้งสองข้าง หน้าแข้งขวา ปลายเท้าซ้าย หางดวงตาซ้านย มีแผลขนาด 2 เซนติเมตร, บาดแผลฟกช้ำที่ด้านหลัง ลำตัว ต้นขาซ้าย ขนาดตั้งแต่ 2-15 เซนติเมตร, บาดแผนฟกช้ำใต้ผิวหนังแนวยาว ที่ลำตัว หลังด้านซ้ายบน ระยะระหว่างบาดแผล กว้าง 1 เซนติเมตร ยาวตั้งแต่ 3-15 เซนติเมตร รายงานยังระบุว่า อ่องโกโก ได้รับบาดเจ็บภายในศีรษะ รวมทั้งหนังศีรษะด้านหน้าซ้ายฟกช้ำ พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางด้านซ้าย สมองบวม และสรุปได้ว่า อ่องโกโกเสียชีวิตจาก ‘ศีรษะบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกาย’กระบวนการสืบสวนที่ ‘องค์กรสิทธิ’ แคลงใจผ่านไปเกือบ 1 เดือน หลังการตายของอ่องโกโก ตำรวจแม่สอดได้ทำการจับกุมและดำเนินคดี ‘ศิรชัช’ ชายชาวเมียนมาอายุ 24 ปี หนึ่งใน ชรบ. บ้านใต้ ที่อยู่ในเหตุการณ์และเป็นพยานรู้เห็นการซ้อมทรมานอ่องโกโก ในข้อหาข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ประกอบกับมาตรา 83จากนั้นวันที่ 27 กันยายน 2567 ศาลแม่สอดได้พิพากษาจำคุกศิรชัช 3 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ศิรชัชอ้างกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ก่อนถูกจับ ตำรวจแม่สอดได้โทรศัพท์เรียกให้ศิรชัชมาสอบปากคำที่สถานีตำรวจถึง 3 ครั้ง โดยระหว่างการสอบสวน ตำรวจพูดกับเขาว่า “มีคนแจ้งว่าคุณเป็นผู้ก่อเหตุฆ่าคนตาย” “ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผมควรสารภาพหรือไม่ แต่ความจริงผมไม่ได้เป็น คนฆ่าอ่องโกโก แต่ผมยอมรับว่าใช้ไม้ตีเขาสองครั้งที่ขาและหนึ่งครั้งที่ก้น ก่อนปล่อยตัวเขาไป ผมรู้ว่าผมทำผิด” หลังจากตำรวจแม่สอดสอบสวนคดีสิ้นสุดในเดือนเมษายน พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยในคดีนี้ เดิมทีมีพยาน 14 คน ต่อมาศาลตัดเหลือพยานที่สำคัญเพียง 6 ปาก และจากการเข้าไปสังเกตการณ์สืบพยานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ พบว่า ทนายความของศิรชัชได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการสืบสวนของตำรวจ รวมทั้งศาลไม่ได้จัดให้มีล่ามในระหว่างการสอบสวนพยานด้วย โดยตำรวจ (รองสารวัตรสอบสวน) อ้างว่า เป็นความบกพร่อง เพราะกำลังรีบทำสำนวนคดี โดยตนเองเป็นผู้สอบปากคำพยานด้วยตัวเองยาวนานถึงตีหนึ่งตีสอง ในรายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ได้บันทึกปากคำบางส่วนในการสังเกตการณ์การไต่สวนที่ศาลแม่สอด ที่น่าสนใจไว้ ดังนี้ คำให้การของพยานที่ชี้ว่า ‘ทหารไทย’ มีเอี่ยว ประจักษ์พยานคนหนึ่ง ได้ให้การในศาลใจความว่า ทหารคนหนึ่งนำตัวอ่องโกโกข้ามสะพานไม้ไป ศิรชัชและพยานก็เดินตามพวกเขาไป ไม่มีการมัดมือและไม่มีการปิดตาอ่องโกโก แต่ทหารจับแขนไว้ข้างหนึ่ง ส่วนทหารอีกคนเดินนำหน้าไป เมื่อไปถึงต้นไม้ที่มีถังน้ำใหญ่ ทหารได้สั่งให้อ่องโกโกนั่งลง ทหารคนหนึ่งชักมีดออกมา และส่งให้กับทหารอีกคนหนึ่ง ส่วนทหารอีกคนหนึ่ง ได้ใช้มีดตัดท่อนไม้และส่งให้ทหารอีกคนหนึ่ง และเป็นคนที่เริ่มซ้อมอ่องโกโก พยานจำไม่ได้ว่าเป็นการซ้อมกี่ครั้ง พยานยืนอยู่กับศิรชัช ครั้งแรกทหารตีเขาที่ขา ตอนที่เห็นเช่นนั้น พยานได้พยายามขัดขวางไม่ให้ทหารตี แต่ทหารบอกว่าอย่าเข้ามายุ่ง ทหารถามว่าตัวจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องอะไร ทำให้ทั้งศิรชัชและข้า ต้องถอยออกมา พยานได้ยินเสียงตีหลายครั้ง แต่ไม่กล้าดู เพราะกลัวว่าจะได้รับอันตรายเช่นกัน เพราะทหารมีปืน ในรายงานระบุว่า ไม่มีการตั้งคำถามและไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เหตุใดตำรวจไทยจึงไม่ได้ดำเนินคดีกับทหารไทย อย่างไรก็ดี ขณะสืบพยาน อัยการได้ตั้งคำถามต่อพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรแม่สอดว่า พนักงานสอบสวนทราบว่า ทหารไทยอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย สถานีตำรวจภูธรแม่สอดก็ทราบถึงข่าวการเสียชีวิตจากตำรวจที่ป้อมหมายเลข 407 และมีการรายงานไปยัง (ผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจราชมนู หน่วยรบพิเศษ 431 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 70 ไร่) อย่างต่อเนื่องผ่านโทรศัพท์ โดยอ้างว่าอ่องโกโกถูกสังหารโดยทหารใช่หรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่า “ใช่” การดำเนินคดี ‘ศิรชัช’ ของตำรวจแม่สอด ประจักษ์พยานให้การในชั้นไต่สวน ว่า ประมาณวันที่ 17-18 มกราคม (5-6 วันหลังอ่องโกโกเสียชีวิต) ตำรวจได้พาพยานคำหนึ่งมาที่สถานีตำรวจ ให้พยานลงชื่อในเอกสารทันทีโดนไม่มีการอ่านและแปลให้พยานฟัง และตำรวจได้ถามพยานว่า รู้จัก ‘ศิรชัช’ หรือไม่ พยานบอกว่า “รู้จัก” ตำรวจจึงขอให้พยานถ่ายรูปขณะที่ชี้นิ้วไปที่ภาพของศิรชัช นอกจากนั้น ยังมีคำให้การของพยานซึ่งเป็นญาติของอ่องโกโก จากเอกสารที่พนักงานอัยการได้เสนอ ระบุใจความว่า พยานชี้ตัวศิรชัช เพราะตำรวจถามพยานว่า เขาเป็นคนที่ช่วยนำศพของอ่องโกโกมาให้ใช่ไหม และพวกเขาก็ขอให้พยานชี้นิ้วไปที่ภาพที่ศิรชัช โดยที่พวกเขาไม่ได้อ่านหรือไม่ได้แปลข้อความใต้ภาพของพยานฟังเลย ทำไม ‘ศิรชัช’ ถึงถูกจับข้อมูลในรายงานระบุว่า วันที่ 6 ก.พ. 2567 ตำรวจแม่สอดจับกุมศิรชัชในข้อหาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอ่องโกโก และตามคำร้องขอฝากขัง ตำรวจควบคุมตัวศิรชัชตามข้อกล่าวหาว่า เขาและ ‘บุคคลอื่นซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนี ได้ร่วมกันทำร้ายนายอ่องโกโก …โดยการเตะที่ลำตัวและใช้ไม้ไผ่ตีศีรษะทำให้ได้รับบาดเจ็บและเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา’ตามคำร้องขอฝากขังที่ยื่นต่อผู้พิพากษา ระบุว่า พยานสองคนยืนยันว่า ผู้ก่อเหตุที่ทำร้ายร่างกายด้วยการเตะและต่อย และใช้ไม้ไผ่ตีนายอ่องโกโกคือนายศิรชัช และบุคคลอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนี ระหว่างการสอบปากคำ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในส่วนกระบวนการชี้ตัว ‘ทหาร’ (ผู้ต้องสงสัย) โดยพยาน นั้น พยานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับฟอร์ตี้ฟายไรต์ ไว้ ใจความว่า ตำรวจได้นำตัวพยานไปชี้ตัวทหารที่อยู่ในวันที่มีการสังหารอ่องโกโก (มีนาคม 2567) โดยพยานได้เข้าไปชี้ตัวแล้วสองครั้ง แต่ไม่พบตัวทหารซึ่งเป็นคนซ้อมอ่องโกโกในกลุ่มผู้ที่ถูกนำมาให้ชี้ตัว พยานจึงไม่สามารถชี้ตัวได้ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นการชี้ตัวผู้บริสุทธิ์ พยานอ้างกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ ใจความว่า จะมีการนำตัวทหารมา 5 นายในแต่ละรอบ และพยานมองพวกเขาผ่านกระจก โดยไม่ได้บอกให้พยานชี้ไปที่หมายเลขใดหมายเลขหนึ่ง ตำรวจเพียงแต่ถามว่า “คุณรู้จักคนเหล่านี้หรือไม่ จำได้ไหมว่ามีใครอยู่ในที่เกิดเหตุในวันนั้นบ้าง” พยานอ้างว่า ไม่กล้าชี้ตัวใคร เพราะไม่รู้ชัดเจนว่าคนที่ฆ่าเป็นคนเนื่องจากพยานคนนี้ไม่ได้เห็นเหตุการสังหาร แต่พยานเห็นคนที่ซ้อมทรมานอ่องโกโก ทหารนายนั้นมีรูปร่างท้วมและสูงกว่าพยาน ทำให้พยานต้องเงยหน้ามองเขา ประจักษ์พยานให้การในชั้นไต่สวน ว่า ประมาณวันที่ 17-18 มกราคม (5-6 วันหลังอ่องโกโกเสียชีวิต) ตำรวจได้พาพยานคำหนึ่งมาที่สถานีตำรวจ ให้พยานลงชื่อในเอกสารทันทีโดยไม่มีการอ่านและแปลให้พยานฟัง และตำรวจได้ถามพยานว่า รู้จัก ‘ศิรชัช’ หรือไม่ พยานบอกว่า “รู้จัก” ตำรวจจึงขอให้พยานถ่ายรูปขณะที่ชี้นิ้วไปที่ภาพของศิรชัช นอกจากนั้น ยังมีคำให้การของพยานซึ่งเป็นญาติของอ่องโกโก จากเอกสารที่พนักงานอัยการได้เสนอ ระบุใจความว่า พยานชี้ตัวศิรชัช เพราะตำรวจถามพยานว่า เขาเป็นคนที่ช่วยนำศพของอ่องโกโกมาให้ใช่ไหม และพวกเขาก็ขอให้พยานชี้นิ้วไปที่ภาพที่ศิรชัช โดยที่พวกเขาไม่ได้อ่านหรือไม่ได้แปลข้อความใต้ภาพของพยานฟังเลย ‘ตำรวจแม่สอด’ โต้ ทหารไม่มีเอี่ยว!พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ หมู่พยัคฆ์ รองผู้กำกับการกองสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่สอด ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ ยืนยันว่า จากการสอบสวนว่า ทหารไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุทำร้ายร่างกายอ่องโกโก"ทหารไม่ได้อยู่เลย ทหารมาทีหลังสุดเลย เหมือนพระเอกตายตอนจบ ทหารมาเจอเหตุการณ์ทีหลัง แล้วก็ช่วยประสานนำส่งโรงพยาบาลด้วยซ้ำ” (No man land-พื้นที่ที่เรียกว่าไม่มีใครครอบครอง)โดย พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้คร่าวๆ ว่า ข้อเท็จจริงคือ อ่องโกโก (ผู้ตาย) ข้ามมาจากฝั่งเมียนมา บริเวณพื้นที่ 70 ไร่ (No man land-พื้นที่ที่เรียกว่าไม่มีใครครอบครอง) แต่เนื่องจากผู้ตายใส่ชุดคล้ายทหารฝั่งกะเหรี่ยง เมื่อมาเจอกับกลุ่ม ชรบ. (ซึ่งเป็นคนเมียนมาเช่นกัน) จึงมีการสอบถามถึงที่มาที่ไปในการแต่งกายเช่นนี้ กระทั่งมีปากเสียงกัน“จากนั้น ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี (ศิรชัช) ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงถือบัตร 10 ปี เหมือนเขาก็ไปตรวจที่เกิดเหตุร่วมกัน ชรบ. คนอื่น แล้วก็ไปเจอเหตุการณ์ แล้วก็ไปกระทืบผู้ตายด้วย พูดตรงๆ อะนะ แล้วก็พาดพิงไปถึงทหาร ของหน่วยเฉพาะกิจราชมนูว่ามีส่วนด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย” พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจได้นำประจักษ์พยานคือชาวเมียนมา 2 คน มาชี้ตัวทหารแล้วเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ปรากฏว่า ประจักษ์พยานไม่สามารถยืนยันตัวทหารที่อ้างว่าทำร้ายอ่องโกโกได้ “เราได้นำประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์คือชาวเมียนมา 2 คน มาชี้ตัวแล้วว่า ที่คุณบอกว่าเป็นทหารเนี่ย คือคนไหน เราเอาทหารที่เข้าเวรวันนั้นมาให้พยานชี้เลย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พยานก็บอกว่า ไม่ใช่ๆๆ คดีนี้ดำเนินแบบตรงมาตรงไป แล้วศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ต้องหาไปแล้วด้วย “จริงๆ เราเอาญาติผู้ตายมาสอบถามแล้วนะ ว่าติดใจตรงไหนไหม เขาก็บอก ไม่ติดใจ ขอให้ตำรวจทำงานแบบตรงมาตรงไป แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีการคุ้ยข่าวเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่คดีมันติดตามจบไปหมดแล้ว” พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ยังกล่าวว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ทหารไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เนื่องจากไม่มีพยานคนไหนยืนยันตัวทหารได้ อีกทั้งบอกว่า ทหารที่ถูกนำมาชี้ตัวนั้น ไม่มีใครเกี่ยวข้อง ตำรวจจึงไม่สามารถไปดำเนินคดีทหารได้ ส่วนในประเด็นที่ว่า ตำรวจไม่ได้เปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะนั้น พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ และ พ.ร.บ. ความลับของทางราชการ หากไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียในทางสำนวนคดี ไม่สามารถยื่นคำร้องขอคัดสำนวนต่ออัยการได้ โดยหลักแล้วในชั้นตำรวจ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะให้อยู่แล้ว หรือแม้เป็นผู้เสียหายในคดี เราก็ไม่มีสิทธิ์ให้ จนกว่าจะมีการฟ้องร้องในคดี ซึ่งจะปรากฎตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 8 พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ยืนยันว่า ตำรวจดำเนินการทุกมิติแล้วตั้งแต่ตอนที่เหตุเกิด ไม่นิ่งดูดาย และได้เรียกทหาร ฝ่ายปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทั้งหมด รวมท้ังนำประจักษ์พยานมาชี้ตัว ก็ได้ความว่า ผู้ก่อเหตุไม่ใช่ทหาร แต่แต่งตัวคล้ายทหาร และหนีไปฝั่งเมียนมาแล้ว เมื่อถามว่า ศาลพิพากษาว่า 'ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย' คำว่าร่วม แปลว่ามีมากกว่า 1 คน แล้วคนที่เหลือคือใคร อยู่ที่ไหน และตำรวจจะดำเนินการตามจับอย่างไรต่อไป? “ในส่วนที่เหลือ กำลังอยู่ในระหว่างสืบสวนหาตัว แล้วตัวผู้ต้องหาก็ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ มันรับว่ามันใช้ไม้ตี แต่มันไม่ได้มีเจตนาจะตีให้ตาย”“ลึกๆ แล้ว คนที่เหลือก็เป็นพม่ากลุ่มเดียวกับผู้ต้องหานี่แหละ แล้วมันก็หนีไปฝั่งโน้น (เมียนมา) แต่เราไม่มีตำแหน่งรูปพรรณสันฐานที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเป็นใคร มันก็เลยอยู่ระหว่างการสืบสวนหาตัว”เมื่อถามว่า อะไรคือพยานหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า ‘ศิรชัช’ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของอ่องโกโก พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ตอบว่า ภาพถ่ายที่พวก ชรบ. ถ่ายไว้ แล้วส่งแชร์กันไปที่กลุ่มไลน์ของ ชรบ. มันเลยไปเป็นพยานสำคัญ โดยตอนที่ผู้ก่อเหตุเอาไม้ไปตีผู้ตาย แล้วพอเห็นอาการเริ่มไม่ดี ก็เลยจะนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ระหว่างนั้น มีคนในกลุ่มของ ชรบ. คนหนึ่งถ่ายรูปไว้ เป็นภาพถ่ายตอนที่ผู้ก่อเหตุกำลังทำร้ายผู้ตาย แล้วก็ส่งไปในกลุ่มไลน์ของ ชรบ. มันก็ดิ้นไม่หลุดไง “เราได้ชี้แจงไปแล้ว เจ้าหน้าที่ NGO มา ญาติของผู้ตายมา คุณต้องการให้เราทำตรงไหน เราก็ทำให้หมดเลย เราสามารถตอบสื่อ ตอบองค์กรเอ็นจีโอได้หมด แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีการคุ้ยข่าวเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่คดีมันติดตามจบไปหมดแล้ว” พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ทิ้งท้าย อย่างไรก็ดี ความโปร่งใสของกระบวนการในคดีนี้ เกี่ยวพันกับความมั่นคงและความเชื่อมั่นของรัฐไทยในหลายมิติ เพราะอย่าลืมว่า กฎหมายไทยได้รับรอง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อีกทั้งไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องให้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่าง และเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาอีกหลายฉบับ ที่รับรองสิทธิในการมีชีวิตรอด คุ้มครองให้ปลอดภัยจากการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย คุ้มครองให้ปลอดภัยจากการทรมานและจับกุมโดยพลการ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา ฯลฯ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และข้อเสนอถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถึงรัฐบาลไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเฉพาะเพื่อดำเนินงานด้านวิกฤติการณ์ในประเทศเมียนมา รวมถึงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองจากประเทศเมียนมา ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกันให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้านโดยพลัน และไม่ลำเอียง ต่อกรณีการเสียชีวิตของอ่องโกโกประกันให้มีการเผยแพร่ผลการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของอ่องโกโกต่อสาธารณะเผยแพร่รายงานชันสูตรพลิกศพตามหนังสือมอบอำนาจที่ได้มาจากครอบครัวอ่องโกโกออกหมายเรียกข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากบริษัทเมต้า เจ้าของเฟซบุ๊ก รวมทั้งชุดของข้อมูลที่ถูกลบไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายกรณีการสังหารอ่องโกโก ประกันให้มีการดำเนินคดีและลงโทษผู้ก่อเหตุสังหาร การทรมาน และการควบคุมตัวโดยพลหารต่ออ่องโกโก โดยดำเนินการให้สอดคล้องตามสิทธิในกระบวนการอันควรตามกฎหมาย และมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีตำแหน่งหรือมียศระดับใด ประกันให้มีการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทนมานและกาารทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารนอกกระบวนการกฎกมาย การทรมาน และกาส่งกลับได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะการส่งกลับผู้พลัดถิ่นตามแนวชายแดนประเทศไทย-เมียนมาถึงกระทรวงยุติธรรม ประกันว่าสมาชิกในครอบครัวของอ่องโกโกจะได้รับการเยียวยาที่เป็นผล รวมทั้งค่าชดเชย ความพอใจ และหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุเช่นเดิมซ้ำอีก ประกันให้มีการคุ้มครองพยาน สมาชิกครอบครัว และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนกรณีสังหารอ่องโกโกถึงศาลยุติธรรมทบทวนมาตรการในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่วางหลักทรัพย์ประกันในระหว่างพิจารณาคดีสำหรับผู้ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อป้องกันมิให้เกิดเงื่อนไขที่อาจเป็นการเลือกปฏิบัติโดยเชื้อชาติถึงกองทัพไทย ให้ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสืบสวนเกี่ยวกับการจับกุมโดยพลการ ซ้อมทรมาน และการตายของนายอ่องโกโกรวมถึงบุคคลในสังกัด ที่มา - ความตายที่พรมแดนไทย-เมียนมา การควบคุมตัว การทรมาน และการสังหารอ่องโกโก พลเมืองสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย