- จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สู่โครงการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ บริการประชาชนที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อยใน 16 กลุ่มอาการ โดยเภสัชกร ลดการเดินทางและความแออัดในโรงพยาบาล
- แพทยสภา ฟ้อง สปสช. และสภาเภสัช ชี้โครงการนี้ขัด พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- นายกสภาเภสัช โต้ ร้านยาไม่ได้ไปรักษาโรคอย่างที่แพทย์กล่าวอ้าง แต่ดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นเท่านั้น
- ศาลปกครองสูงสุด ‘มีคำสั่งรับฟ้อง’ ชี้ คำฟ้องนี้เป็นประโยชน์สาธารณะ
- สปสช. แจง ร้านยาชุมชนอบอุ่น จะให้บริการต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน
จากกรณีที่ ‘แพทยสภา’ ฟ้องร้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม ประเด็นการให้เภสัชกร สามารถจ่ายยาได้ตาม 16 กลุ่มอาการที่ร้านขายยา ในโครงการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งล่าสุด ‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่งรับฟ้อง
เรื่องนี้ ถือเป็นข้อถกเถียงในวงการแพทย์และเภสัชอย่างกว้างขวาง โดยด้านหนึ่งมองว่า เภสัชกรไม่สามารถจ่ายยาตามโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากยาบางชนิด จะจ่ายได้ก็ต่อเมื่อมีการวินิจฉัยของหมอแล้วเท่านั้น ส่วนอีกด้านมองว่า ปกติผู้ป่วย 40% ก็เลือกซื้อยาบรรเทาอาการด้วยตัวเองที่ร้านขายยาอยู่แล้ว จึงนำข้อมูลนี้เข้าสู่ระบบ ‘บัตรทอง’ มีการติดตามอาการโดยเภสัชกรหลังจ่ายยา 3 วัน และหากอาการรุนแรงขึ้น ก็จะส่งต่อโรงพยาบาล โดยโครงการนี้จะช่วยลดความแออัดและการรอคิวนานในโรงพยาบาลได้
ไทยรัฐออนไลน์ จึงสรุปที่มาที่ไปของเรื่องนี้ และรวบรวมความคิดเห็นและแต่ละฝ่าย ทั้งแพทยสภา สปสช. สภาเภสัชกรรม รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ต่อโครงการและกรณีดังกล่าว ที่เกี่ยวพันกับประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศ
...
จุดเริ่มต้นนโยบาย ลดความแออัดใน รพ.
หากยังจำกันได้ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศนโยบาย ‘ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค’ และเมื่อได้เป็นรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ระบุว่าจะยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคให้มีประสิทธิภาพ-ครอบคลุมมากขึ้น สะดวกด้วยบริการพื้นฐาน ไม่ว่าจะนัดพบแพทย์ ตรวจเลือด รับยา ใกล้บ้าน พร้อมเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นประกาศเดินหน้านโยบายนี้ โดยเริ่มคิกออฟที่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดการแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ จากการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการอย่างต่อเนื่องได้ทุกที่ และได้ดึงสภาวิชาชีพ 7 สาขา มาร่วมให้บริการเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านได้ ลดการเดินทาง ลดระยะเวลารอคอย และลดความแออัดในโรงพยาบาล
โดยหนึ่งในนวัตกรรมของนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ก็คือบริการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ภายใต้โครงการ ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ นั่นคือ ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยตาม 16 กลุ่มอาการสามารถไปที่ร้านขายยาที่ร่วมโครงการ (สังเกตได้จากร้านยาที่มีโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือร้านที่ติดสติ๊กเกอร์ ‘ร้านยาคุณภาพของฉัน’) เพื่อปรึกษาเภสัชกรและรับยาตามอาการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวเพื่อยืนยันตัวตน และหลังจากได้รับยาแล้ว เภสัชกรจะมีการโทรติดตามอาการภายใน 3 วัน
โครงการนี้มุ่งไปที่การแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถเดินเข้าร้านขายยาใกล้บ้านได้ ไม่ต้องไปเดินทางไกลและรอคิวนานเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ในตอนแรก โครงการนี้เน้นดูแลการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการเท่านั้น แต่ต่อมา ได้มีการขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
‘แพทยสภา’ ฟ้องศาลทำไม
ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เอกสาร เรื่อง สปสช. และ สภาเภสัชกรรม ถูกฟ้องร้องจากแพทยสภา โดยศาลปกครองสูงสุด ‘มีคำสั่งรับฟ้อง’ โดยมีสาระสำคัญคือ แพทยสภา ฟ้องว่า ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ.2566 ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ สามารถรับยาได้ที่ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยร้านขายยาที่เป็นหน่วยรับบริการสาธารณสุข จะรับค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็น ‘กฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’
...
โดยคำร้องดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- แพทยสภายังมองว่า การให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเอง โดยไม่ผ่านความเห็นของหมอ ขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- ในคำร้องระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมายถึง บุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากแพทยสภา ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภาเท่านั้น จึงจะสามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้หลังซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- เป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558) ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจสภาเภสัชกรรมปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ประกอบวิชาชีพได้
- ‘ร้านขายยา’ มิใช่สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ดังนั้น การให้เภสัชกรจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ โดยไม่ผ่านการวินิจฉัยโรคของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้
แพทยสภา จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งคือ
เพิกถอนประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ.2566 และระงับการกระทำนี้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
ในทีแรก ศาลปกครองชั้นต้นมีมติไม่รับฟ้อง ต่อมาแพทยสภาจึงยื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ ‘รับคำฟ้อง’
‘แพทยสภา’ เผยสาเหตุฟ้องร้อง
...
ล่าสุดวันที่ 11 พ.ย. 2567 พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า แพทยสภาไม่ได้ฟ้องสภาเภสัชกรรม แต่ฟ้องคำสั่งของ สปสช. ซึ่งโยงกับสภาเภสัชกรรม ที่เป็นผู้รับดำเนินการโครงการจ่ายยา 16 กลุ่มอาการ เพราะแม้ที่ผ่านมาการจ่ายยาของร้านยาจะทำตามปกติ ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะคนไข้เป็นคนสั่งซื้อยา เป็นการรักษาตนเอง จ่ายเงินเอง แต่การตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษา เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม 2525 หมวด 5 มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
พญ.ชัญวลี ยังระบุว่า แพทยสภา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเภสัชกรจ่ายยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ แต่ปัญหาคือ 16 กลุ่มอาการที่มีลิสต์ยาที่สามารถจ่ายได้นั้น พบว่า ‘มียาที่ต้องจ่ายต่อเมื่อมีการวินิจฉัยแล้ว’ เมื่อทางแพทย์เห็นจึงกังวล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสูตินรีเวช อย่างมีอาการตกขาว จะจ่ายยากินเอง จะต้องวินิจฉัยก่อน แม้จะเป็นอาการเล็กน้อย แต่เมื่อตรวจภายในพบว่า มีอาการเบาหวานร่วม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมก็มี
พญ.ชัญวลี เสนอว่า หากเภสัชกรร้านยาจ่ายยา ควรปรับรูปแบบการจ่ายยาเป็น over-the-counter drug: OTC (ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์) ซึ่งไม่ใช่แค่ยาสามัญประจำบ้าน แต่สามารถมาหารือร่วมกันได้ว่า ควรจ่ายยาแบบใด แต่ปรากฏว่า รายการยาที่ออกมาให้จ่าย กลับเป็นยาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยก่อน ซึ่งที่น่ากังวลคือ ‘ยาตา ยาไมเกรน’ เรื่องนี้แพทยสภาได้หารือกับราชวิทยาลัยต่างๆ ก็มีความเห็นถึงปัญหายาอะไรบ้างที่ต้องผ่านการวินิจฉัย ดังนั้น การจ่ายยา OTC จะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคได้โดยตรงไม่จำเป็นมีใบสั่งยาจากการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งตรงข้ามกับ prescription drug หมายถึงยาที่จะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น
...
นอกจากนี้ พญ.ชัญวลี ยังได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ย้ำว่า การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชโดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัช จ่ายยา ตามธรรมเนียมเดิมแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับสภาเภสัชกรรมจะมาห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเช่นกัน
สปสช. ชี้ ยังรับยาได้จนกว่าศาลจะตัดสิน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นนี้ว่า ขณะนี้ สปสช. ยังคงให้สิทธิผู้ป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถรับยา ร้านยาใกล้บ้านได้ตามเดิม ตราบเท่าที่ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดให้ดำเนินการอะไร
นพ.จเด็จ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมา สปสช. มีการสำรวจสุขภาพประชาชนทุกๆ 2 ปี ว่า ‘เมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น ทำอย่างไร’
จากการสำรวจพบว่า ประชาชน 40 เปอร์เซ็นต์ ไปร้านขายยา บอกอาการ และซื้อยารับประทานเอง
ทาง สปสช. จึงนำผลสำรวจนี้มาปรับใช้ในระบบ โดยให้อยู่ใน ‘บัตรทอง’ และมีการติดตามอาการโดยเภสัชกร หากรุนแรงขึ้นส่งต่อโรงพยาบาล โดยตัวเลข 40% ดังกล่าว หากมาใช้บริการตรงหน่วยบริการวิชาชีพก็จะลดความแออัดในโรงพยาบาลได้
นพ.จเด็จ ย้ำว่า สปสช. ยืนยันกรณี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า
- หน่วยบริการสภาวิชาชีพสามารถเป็นหน่วยบริการในระบบได้แน่
- เมื่อเป็นหน่วยบริการแล้วมีเครือข่าย ทั้งวิชาชีพ ทั้งโรงพยาบาล ทั้งแพทย์ อย่างวิชาชีพใดมีปัญหาสามารถส่งต่อโรงพยาบาลได้
“ยกตัวอย่าง ร้านยาคุณภาพที่ร่วมโครงการ หาก 72 ชั่วโมงโทรติดตามอาการแล้วอาการดีขึ้น ถือว่าปกติ แต่หากแย่ลงต้องรีบส่งต่อเครือข่ายตามขั้นตอนต่อไป จริงๆ เคยเจอปัญหา รพ.บางแห่งไม่ยอมรับส่งต่อ ซึ่งไม่ได้ จะขัดตามกฎหมาย”
นายกสภาเภสัช ยัน ไม่ผิด พ.ร.บ.ยาฯ
รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า เรื่องนี้ มีการพูดคุยกับแพทยสภาหลายรอบแล้ว ตอนแรกเหมือนจะเข้าใจ จนได้ข้อสรุปจากแพทยสภาว่า ‘จะไม่ได้ก้าวล่วงกัน’ แต่มีแพทย์บางกลุ่มไม่ยอม และเสนอว่าอย่างน้อยให้มีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งก็สรุปว่า กรณีนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม และ พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพตามกฎหมายของตัวเอง
ส่วนประเด็นความปลอดภัยตามที่แพทยสภากังวลนั้น กรรมการกฤษฎีกา แนะนำว่า ถ้าแพทยสภาห่วงเรื่องความปลอดภัยก็ให้เภสัชกับแพทย์มาคุยกันว่าขอบเขตแค่ไหนดี จะได้ไม่อันตราย
รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิชาชีพฯ เพราะเภสัชกรจ่ายยาได้ ส่วนแพทย์จ่ายไม่ได้ แต่แพทย์ก็จ่ายยาอยู่ตลอด ซึ่งเรายังไม่ได้อยากจะฟ้องอะไรให้ทะเลาะกัน โดยยืนยันว่า ได้ทำตาม พ.ร.บ. ยาฯ
ส่วนประเด็นที่แพทยสภาพูดเรื่องโรครุนแรงว่าเป็นการรักษานั้น รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า เรามีหลายระดับตั้งแต่การดูแลสุขภาพเบื้องต้น (primary healthcare) และ การบริการปฐมภูมิ (Primary Care) บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก็ช่วยกันดูในอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
“ร้านยาเราไม่ใช่ไปรักษาโรคอย่างที่แพทย์กล่าวอ้าง เราให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นเท่านั้นเอง เราถึงมีในโครงการกําหนดว่าถ้ามาด้วยอาการอะไร และสิ่งที่ท้วงว่าเภสัชกรไปซักประวัติเป็นการวินิจฉัยโรคซึ่งไม่ใช่ เพราะการซักประวัติของเราคือเพื่อให้มั่นใจว่าอาการที่ผู้ป่วยบอกเจ็บป่วยจริงและมีลักษณะอย่างนั้น เราถึงจะเลือกยาตามอาการได้ถูกต้อง และเราก็จ่ายแค่ 3-5 วัน เพราะยาบางตัวมันต้องกินทั้งอาทิตย์ แล้วก็ต้องให้ครบถ้วน แต่ว่า 3 วันเราจะโทรติดตามว่าดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีเราก็ต้องแนะนำว่าต้องไปหมอ”
แพทย์-เภสัช ถกสนั่น
ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอายุรแพทย์ระบบประสาท โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้
- เจตนาของโครงการนี้เพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และลดความแออัดในโรงพยาบาล
- โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ย.2565 จนถึงปัจจุบันมีการประเมินว่า ‘มีผลดี’ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ตามเจตนา
- กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยนี้ ถ้าได้รับการประเมินและได้รับการรักษาเบื้องต้น ถ้าอาการตอบสนองดีก็จบ แต่ถ้าอาการไม่ดีผู้ป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งเภสัชจะมีการติดตามผลการรักษาและให้คำแนะนำ
- ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งแต่เดิม เมื่อผู้ป่วยมีอาการแบบนี้ ก็จะมาซื้อยาที่ร้านขายยาเภสัชประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วย
- ร้านยาก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ต้องผ่านการอบรม ประเมินและทดสอบความรู้ ซึ่งดีกว่าเดิมก่อนมีโครงการนี้ เภสัชสามารถจ่ายยาได้เลย ยาที่จ่ายให้ผู้ป่วยก็เป็นยาทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยก็ซื้อมาใช้อยู่แล้ว
- ถ้าแพทย์ต้องการเพิ่มคุณภาพของเภสัชกร เพื่อป้องกันและลดความผิดพลาดลงให้เหลือเป็นศูนย์ก็ต้องช่วยกันสร้างความรู้อย่างเหมาะสมให้เภสัชกรในโครงการ
- ผมทำงานร่วมกับเภสัชกรมานานกว่า 25 ปี พบว่าเภสัชกรสามารถช่วยในการวินิจฉัยปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้ และมีความสามารถในการใช้ยาได้เป็นอย่างดี
- ผมเชื่อมั่นว่าถ้าแพทย์ร่วมมือกับเภสัชกรในโครงการนี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และลดความแออัดลงได้ตามเจตนาของโครงการ
อีกด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ดุลพินิจขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด 5 ท่าน แต่ละวิชาชีพ แต่ละองค์กรมีหน้าที่บทบาทต่างกันไป ส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน ก่อนสั่งยา แพทย์ต้องมีกระบวนการคิดเพื่อวินิจฉัยโรค (Diagnosis) หรืออย่างน้อยก็ต้องวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis) ก่อนเสมอ แพทย์ จึงต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย สั่งการตรวจที่จำเป็น
กระบวนการคิดก่อนสั่งยาของแพทย์ ต้องผ่านการเรียนหลักสูตรแพทย์ อย่างน้อย 6 ปี ขึ้นไป และอาจถึง 11 ปี สำหรับผู้เชี่ยวชาญบางสาขา ที่สำคัญต้องสอบผ่านการทดสอบความรู้ระดับชาติ และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภาก่อน การอ่านคู่มือเพียงหนึ่งเล่มไม่สามารถทดแทนกระบวนการฝึกสอนที่ให้ได้มาซึ่งกรอบความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งการวินิจฉัยโรคได้
แพทย์ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องผ่านการฝึกจริง (Practice) (ไม่ใช่การอ่าน) ต้องรับมือและแก้ปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนจากการสั่งยาของตนได้เอง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี ตลอดหลักสูตร แพทยศาสตร์ ก่อนจะไปสั่งยาให้ผู้ป่วยทั่วประเทศได้
ด้าน ดร.ภก.กฤติน บัณฑิตานุกูล ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
- เห็นด้วยที่ไม่ควรแค่จ่ายยาตามอาการ โดยไม่ซักประวัติหรือตรวจร่างกาย แต่ท่านรู้ได้อย่างไรครับว่าร้านยาไม่ซักประวัติคนไข้ก่อนจ่าย วิชาชีพเภสัชไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไปครับ บางท่านอาจจะบอกว่าอาการเล็กน้อยก็กลายเป็นรุนแรงได้ แต่ในทางตรงข้ามคลินิก หรือ รพ.สต. เองบางแห่งการตรวจร่างกายเป็นเพียงเบื้องต้น และไม่สามารถตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ เพียงจ่ายยาตามอาการเช่นกัน รวมถึงอาจไม่ได้นัดคนไข้มาติดตามอาการซ้ำ ก็อาจไม่ได้แตกต่างจากร้านยาที่ท่านกำลังโจมตีครับ
- ระบบ Primary Care ของประเทศเรายังไม่ได้แข็งแรงเหมือน US หรือยุโรปครับ ดังนั้นทุกคนก็อยากจะไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง คนไข้แน่นและ work load หนักมาก คลินิกเช้ากว่าจะเสร็จบ่ายโมง บ่ายสอง แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ขาด ต้องรับเวรต่อเวรแทบไม่ได้พัก คนไข้เจ็บป่วยเล็กน้อยจึงไม่อยากไปโรงพยาบาล โครงการดังกล่าวจึงพยายามช่วยลดภาระคนไข้กับโรงพยาบาลตรงนี้ แต่หากท่านมองว่าก็ไปคลินิกหรือ รพ.สต. แทนสิ คำถามคือความพร้อมของ คลินิกกับ รพ.สต. มีบุคลากรพร้อมขนาดไหน มีแพทย์ครบทุกแห่งไหม และครอบคลุมทุกพื้นที่หรือไม่
- ทุกวงการและวิชาชีพ มีคนที่ทำดีและไม่ดีครับ คิดว่าแพทยสภาก็พอทราบว่าไม่ใช่ทุกคลินิก หรือทุกวิชาชีพที่ทำได้ตามมาตรฐานอุดมคติ และปัญหาที่เจอคืออะไรบ้างอย่างที่ไม่ต้องแจง เราควรไปพัฒนาจัดการให้ดี และสร้างระบบที่เข้มแข็ง มากกว่าการบอกว่าร้านยาจะ harm ผู้ป่วยครับ
- สิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างระบบใบสั่งยา ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องควรมานั่งคุยกัน และสร้างขึ้นมาเพราะต้องเป็นนโยบายระดับชาติถึงจะเกิดได้ และทุกคนยอมรับแต่มันมีความข้องเกี่ยวหลายส่วน และถ้าอยากให้เกิดทุกคนต้องช่วยกันครับ
- ในฐานะที่ทำงานร่วมกับแพทย์หลายท่านและมีร้านยา ทุกคนมองความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลักครับ คงจะดีกว่าถ้ามานั่งคุยและพัฒนาแก้ปัญหาด้วยกัน มากกว่ากล่าวโทษกันครับ
ด้าน สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ผ่านเพจเฟซบุ๊กไว้เช่นกัน เรื่องว่า แพทยสภาอังกฤษไม่ฟ้อง NIH (National Institute of Health) แต่แพทยสภาไทย ฟ้อง สปสช.และ สภาเภสัชกรรม
ในประเทศอังกฤษ รัฐบาลได้ทำโครงการไปร้านขายยาก่อน Pharmacy First เช่นเดียวกับที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ร่วมกับร้านขายยาคุณภาพ ที่สนใจร่วมให้บริการกับผู้ป่วยบัตรทอง และสามารถจ่ายยาพื้นฐานได้กับ 16 กลุ่มอาการ และโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการนางฟ้ากับ 7 สภาวิชาชีพ เพื่อให้ช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยบัตรทองใกล้บ้าน ลดความแออัดของโรงพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ติดเตียง
โดยโครงการสภาวิชาชีพ 7 นางฟ้า เป็นโครงการของ สปสช. ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เน้นการใช้ 7 กลุ่มวิชาชีพที่ทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการรับรู้และการให้คำแนะนำในชุมชน เป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในสิทธิ์การรักษาของประชาชนในระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย
- พยาบาล - ให้คำแนะนำด้านสุขภาพและบริการทางการแพทย์ในชุมชน
- เภสัชกร - ช่วยแนะนำการใช้ยาและการจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวกับยา
- นักกายภาพบำบัด - ให้คำแนะนำและบริการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังการเจ็บป่วย
- นักจิตวิทยา - ช่วยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและการดูแลทางจิตใจ
- นักโภชนาการ - ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการและการดูแลสุขภาพผ่านการกินอาหารที่เหมาะสม
- นักเทคนิคการแพทย์ - ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและการวินิจฉัยโรค
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือก - ส่งเสริมการใช้การแพทย์ทางเลือกในบางกรณีที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
โครงการนี้ มุ่งหวังให้กลุ่มวิชาชีพเหล่านี้สามารถช่วยสื่อสารและให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงการแนะนำในการเข้าถึงบริการที่เหมาะสมตามสิทธิของตนเอง และช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในบางกลุ่มที่อาจจะไม่รู้ถึงสิทธิ์ของตนเอง
ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการในการพัฒนาและผลักดันกลไกการเข้าถึงยาจำเป็น และอีกหลายบทบาทด้านการเรียกร้องให้มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี โดยเธอได้โพสต์ข้อความ กรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครอง ค้านการจ่ายยา 16 กลุ่มอาการที่ร้านยาคุณภาพในบัตรทอง หรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยยกกรณี บริการ Pharmacy first ในระบบระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NIH) ที่สหราชอาณาจักรกำลังผลักดันและประชาสัมพันธ์
โดยบริการ Pharmacy First (พบเภสัชก่อน) สร้างขึ้นจากบริการ NHS Community Pharmacist Consultation Service ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2019 ซึ่งบริการให้คำปรึกษานี้ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อไปยังร้านขายยาในชุมชน เพื่อรักษาอาการป่วยเล็กน้อยหรือจัดหายาซ้ำเร่งด่วน
บริการ Pharmacy First แบบใหม่ ที่เปิดตัวในวันที่ 31 มกราคม 2024 ได้เพิ่มจากบริการให้คำปรึกษาเดิม โดยอนุญาตให้ร้านขายยาในชุมชนสามารถให้การดูแลสุขภาพสำหรับอาการทั่วไป 7 ประเภท ตามแนวทางการรักษาที่กำหนดไว้
ประโยชน์ของบริการ Pharmacy First
ในเดือนพฤษภาคม 2023 NHS England และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคม ได้ประกาศแผนฟื้นฟูการเข้าถึงการรักษาเบื้องต้น ซึ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถรับยาบางประเภทจากร้านขายยาโดยไม่ต้องนัดพบแพทย์ทั่วไป
บริการใหม่นี้ คาดว่าจะช่วยลดจำนวนการนัดหมายกับแพทย์ทั่วไป ทำให้ผู้ที่ต้องการการรักษาด่วนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและสะดวกขึ้น โดยรวมถึงการจัดหายาที่เหมาะสมสำหรับ 7 อาการทั่วไป เช่น ปวดหู เจ็บคอ และติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจลุกลาม
ปัจจุบัน ผู้ป่วยของ NHS ในอังกฤษ ต้องพบแพทย์ทั่วไปเพื่อเข้าถึงยาที่สั่งจ่ายได้เฉพาะตามใบสั่งยา ซึ่งอาจทำให้เกิดการพบแพทย์ซ้ำและการล่าช้าในการรักษา ร้านขายยาในชุมชน จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกยิ่งขึ้นในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย การเลิกสูบบุหรี่ การตรวจวัดความดันโลหิต การคุมกำเนิด รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร้านขายยาในชุมชนพบว่า ผู้ป่วยกว่า 90% ที่ได้รับคำแนะนำจากร้านขายยาในปีที่ผ่านมา รายงานว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำที่ดี
อย่างไรก็ดี หากมีความคืบหน้าเรื่องคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด และโครงการดังกล่าวหลังจากนี้ ไทยรัฐออนไลน์จะมารายงานสถานการณ์ให้ผู้อ่านได้ทราบอีกครั้ง
อ้างอิง
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกกฎหม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
- “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่เข้าร่วม 30 บ.รักษาทุกที่ ปชช.รับบริการแล้วกว่า 2.84 ล้านครั้ง
- สภาเภสัชกรรม แจงเจ็บป่วยเล็กน้อย ยังรับยา “ร้านยาใกล้บ้าน” ได้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น
- หมอเมธี โพสต์เฟซบุ๊ก ดุลยพินิจองค์คณะตุลาการศาลปกครอง ประเด็น 16 อาการรับยาร้านยาชุมชนอบอุ่น
- สปสช. ย้ำนโยบาย “ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ”จ่ายยาเฉพาะผู้ป่วยมีอาการ ไม่เจ็บป่วยไม่ได้รับยา
- ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย สิทธิบัตรทองรับบริการแล้วเกือบ 1.6 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่อาการไข้ ไอ เจ็บคอ
- สภาเภสัชฯ ย้ำ “ร้านยาคุณภาพ” ดูแล “เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ” ด้วยมาตรฐานวิชาชีพ
- นายกฯ คิกออฟ '30 บาท รักษาทุกที่ กทม.' บริการปฐมภูมิ สิ้นปีนี้ครบทั่วประเทศ
- เปิดคำแถลงนโยบายนายกฯ 'เศรษฐา' มุ่งยกระดับ '30 บาทรักษาทุกโรค' เข้าถึงบริการผ่านบัตรประชาชนใบเดียว สร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ
- ส่อง สปสช. รับนโยบาย 'ยกระดับ 30 บ.รักษาทุกโรค' 100 วันเห็นผล พร้อมวิธีลดภาระงานบุคลากร
- พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
- ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ