“เฉลิมชัย” นำคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดูพื้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่ หลังจีนยืนยันมอบ “แพนด้ายักษ์คู่ใหม่” เป็นทูตสันถวไมตรีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบ 50 ปี ด้านปลัด ทส.มั่นใจไทยพร้อมต้อนรับ แต่ต้องปรับปรุงสถานที่จัดแสดงใหม่ให้โอ่โถงขึ้น คาดใช้เวลาสร้าง 2 ปี เตรียมเซ็นเอ็มโอยู ปี 2568 คาดแพนด้ายักษ์ถึงไทยปี 2570 แล้วอยู่กันยาวๆ 10-20 ปี ขณะที่ ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯยันไม่ได้มาเป็นคู่แข่ง “หมูเด้ง” เพราะมีความน่ารักทั้งคู่

ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เดินทางมาที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อตรวจดูความพร้อมและการเตรียมการเพื่อจะนำแพนด้ายักษ์มาจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่อีกครั้ง โดยมีนายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และสัตวแพทย์หญิงกรรณิการ์ จันทรังษี สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์เชียงใหม่ และพี่เลี้ยงแพนด้า รวมทั้งคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมส่วนจัดแสดงแพนด้าเดิม และสถานที่จัดแสดงแพนด้าที่เตรียมก่อสร้างใหม่

...

จากนั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มาดูความพร้อมของสถานที่ เนื่องจากในปี 2568 จะครบรอบความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบ 50 ปี และมีความเป็นไปได้ที่ทางจีนจะให้แพนด้ามาเป็นทูตสันถวไมตรีอีกรอบหนึ่ง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ในครั้งนี้จะทำให้ดูดีและใหญ่กว่าเดิม จะรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นการสานสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจากประสบการณ์ที่เลี้ยงดูแพนด้าครั้งที่แล้ว ในครั้งนี้เราจะทำได้ดีกว่าเดิม เราจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างเพื่อเตรียมความพร้อมรับแพนด้าในรอบนี้ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี หลังจากนั้นจะเชิญชวนพี่น้องชาวไทยและนักท่องเที่ยวมาชมดูที่สวนสัตว์เชียงใหม่ สำหรับสถานที่เดิมกับสถานที่ใหม่ จากเท่าที่พูดคุยควรจะทำให้สถานที่ใหญ่และโอ่โถงกว่านี้ เพราะผูกพันกับการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งพื้นที่ยังคงอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่จะจัดสรรสถานที่ให้เรียบร้อย โดยงบประมาณในการดูแลเป็นงบประมาณแผ่นดิน ภายหลังจากที่มีการเจรจากับทางจีนได้ จะดำเนินการก่อสร้างทันที

ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เปิดเผยว่า จีนยืนยันที่จะนำแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ให้เป็นทูตสันถวไมตรีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี หลังจากที่องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยสวนสัตว์เชียงใหม่ส่งร่างแพนด้าช่วงช่วงและหลินฮุ่ย กลับจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2567 พร้อมจัดทำรายงาน 20 ปีแพนด้าในไทย ส่งให้จีนประเมินโครงการในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ ทส.มีความพร้อมในการรับแพนด้าคู่ใหม่จากจีนเข้ามาดูแลในนามของรัฐบาลไทยและมีการประสานกับทางสวนสัตว์จีนว่า ไทยมีความพร้อมในการรับแพนด้าแล้ว โดยจะนำมาอยู่และจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่เหมือนเดิม ส่วนระยะเวลาในการที่แพนด้ายักษ์จะอยู่ในประเทศไทยคาดว่าประมาณ 10-20 ปี เมื่อครั้งแพนด้าช่วงช่วงและหลินฮุ่ยก็อยู่ 20 ปี ทางจีนชื่นชมไทยว่าดูแลแพนด้าได้ดี

ปลัด ทส.กล่าวอีกว่า ในเรื่องความพร้อม จากที่มาดูสวนสัตว์เชียงใหม่ พบว่าสถานที่จัดแสดงเดิมมีขนาดเล็กเกินไป ต้องมีการปรับปรุงก่อสร้างใหม่ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี เพื่อให้ได้มาตรฐานของทางการจีนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งไปยังจีนเพื่อแสดงเจตจำนงว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการรับแพนด้าคู่ใหม่แล้ว ส่วนแพนด้ายักษ์จะเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อใดนั้น ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ คาดว่าในปี 2568 จะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันในวาระครบรอบความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 50 ปี และคาดว่าจะส่งมอบแพนด้ายักษ์มาไทยในราวปี 2570 หลังส่วนจัดแสดงใหม่เสร็จสมบูรณ์

เมื่อถามถึงกรณีที่มีภาคประชาชนหรือกลุ่มคนรักสัตว์บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการนำแพนด้ามาจัดแสดงในสวนสัตว์อีก นายจตุพรกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตนเห็นว่าแพนด้าเป็นทูตสันถวไมตรี ไม่ได้เป็นการนำสัตว์มาทรมาน ส่วนปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือจะทำให้ทางจีนกังวลหรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะส่วนจัดแสดงแพนด้าเป็นระบบปิด เป็นห้องแอร์อยู่แล้ว ฝุ่นไม่สามารถเข้าไปได้

...

ด้านนายอรรถพร ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ ยืนยันว่าจีนมีความประสงค์จะมอบแพนด้ายักษ์ 1 คู่กับไทยในโอกาสพิเศษ โดยได้เรียกทางองค์การสวนสัตว์ฯไปหารือเรื่องความพร้อม ซึ่งสวนสัตว์เองมีความพร้อม ทั้งบุคลากรและประสบการณ์ในการดูแล แต่อาจต้องปรับปรุงพื้นที่เรื่องนี้เป็นนโยบายระหว่างรัฐต่อรัฐองค์การสวนสัตว์ฯ มีหน้าที่เตรียมพร้อมทุกเรื่องสำหรับการดูแลแพนด้าคู่ใหม่ และยืนยันแพนด้ายักษ์ไม่เรียกว่าเป็นคู่แข่งกับหมูเด้ง เพราะทั้ง 2 ชนิด มีความน่าสนใจแตกต่างกัน มีความน่ารักทั้งคู่ เรียกว่าเป็นโอกาสที่คนไทยจะได้เห็นแพนด้ายักษ์ตัวเป็นๆอีกครั้ง เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก แต่การจะทำให้ดังเหมือน “หมูเด้ง” หรือไม่นั้น หลักการของสวนสัตว์คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยงกับสัตว์เลี้ยง ในช่วงที่แพนด้าช่วงช่วง หลินฮุ่ยเดินทางมาและมีหลินปิงก็มีพี่เลี้ยงและมีแฟนคลับที่ติดตามพี่เลี้ยงแพนด้าอยู่ เช่นเดียวกันกับที่มีพี่เลี้ยงฮิปโปแคระ เกิดขึ้นจากการที่เราสร้างคลิป พนักงานเลี้ยงสัตว์กับสัตว์เลี้ยงของเขาให้มีความสัมพันธ์กัน และคนจะได้เห็นพฤติกรรมเหล่านี้ แน่นอนว่าพี่เลี้ยงคนใหม่ของแพนด้าต้องจับตาดูว่าจะเป็นซุปเปอร์สตาร์คนต่อไป

ส่วนนายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ กล่าวว่า เริ่มแรกทางสวนสัตว์เชียงใหม่จะได้ประโยชน์คือความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องที่สองเด็กที่เพิ่งเกิด และเด็กที่ยังไม่เคยเห็น จะได้มาเห็นและเรียนรู้จากแพนด้าตัวจริง เพราะสวนสัตว์เป็นแหล่งเรียนรู้อยู่แล้ว และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายอนุรักษ์สัตว์ป่า แพนด้าเป็นสิ่งที่น่าอนุรักษ์ และมีความน่ารัก ส่วนการเจรจากับทางจีนนั้น เนื่องจากโครงการแรกปิดไปเมื่อปี 2566 และทางจีนทำหนังสือมาที่องค์การสวนสัตว์ฯ ชื่นชมสวนสัตว์เชียงใหม่และองค์การสวนสัตว์ฯ เขาพูดเสมอว่าอยากให้ไทยแจ้งเจตจำนงว่า สนใจจะเลี้ยงแพนด้าอยู่หรือไม่ หากมีโอกาสเป็นไปได้ อยากจะเชื่อมสัมพันธไมตรีและเลี้ยงแพนด้าต่อไป ส่วนจะมีโอกาสนำลูกของแพนด้าหลินปิงกลับมาจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ได้หรือไม่นั้น เบื้องต้นต้องบอกว่าหลินปิงเป็นลูกแพนด้าที่เกิดขึ้นในไทยและเป็นแพนด้าที่คนไทยชื่นชอบ มีความรักและหวงแหน แต่การจะนำแพนด้าเข้ามา ขึ้นอยู่กับฝ่ายจีนจะพิจารณาอย่างไร ตามประวัติที่ผ่านมา แพนด้าที่ออกไปอยู่นอกประเทศจีน จะมีอายุ 2-3 ปี เท่านั้น ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายจีน ซึ่งรัฐมนตรีและปลัดก็มีความหวังแบบนั้นเช่นเดียวกัน

...

สำหรับความพร้อมของบุคลากรนั้น สัตวแพทย์หญิงกรรณิการ์ จันทรังษี สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์เชียงใหม่ กล่าวว่า เรามีความพร้อมอยู่แล้ว เหลือด้านสถานที่ต้องการให้มีความโอ่โถงให้สมกับครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้วย ถ้าได้น้องแพนด้าชุดใหม่มา หลังจากที่มีการก่อสร้างสถานที่เสร็จ จะไปต่อกันอีก 20 ปี จากประสบการณ์ในการเลี้ยงมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา องค์ความรู้ค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว และทำให้เรารู้ได้ว่าควรผสมพันธุ์ เพาะขยายพันธุ์เมื่อไหร่ และขึ้นอยู่กับบุคคล การที่จะไปต่อเพราะต้องสร้างบุคลากรเพิ่มด้วย และองค์ความรู้เดิมที่จะพัฒนาต่อ มีความมั่นใจที่จะดูแลต่อ โดยแผนการก่อสร้างในสถานที่ใหม่นั้น อยู่ในพื้นที่ 19 ไร่ งบประมาณก่อสร้างประมาณ 200 ล้านบาท

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่