รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ "คร่าชีวิตครู-นร. 23 ศพ" สร้างการตื่นตัวให้สังคมจี้หน่วยงานรัฐหันมาดูแล “มาตรฐานความปลอดภัยรถสาธารณะ” แต่ผ่านมา 1 เดือนปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นรูปธรรมด้วยซ้ำ
เพราะถ้าย้อนดูสาเหตุ “รถบัสคันเกิดเหตุจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513 หรือใช้งานมาแล้ว 54 ปี” แถมยังดัดแปลงติดตั้งถังแก๊สเกินที่ระบุ กระจายทั่วตัวรถ “บางส่วนหมดอายุก็มี” ที่อาจเป็นต้นเหตุให้ท่อแก๊สหลุดนำมาสู่การสูญเสียบุคลากร และเด็กนักเรียน 23 คน และมีผู้บาดเจ็บ 5 คน แยกเป็นครู 2 คน นักเรียน 3 คน
ในจำนวนนี้นักเรียน 2 คนอาจต้องสูญเสียการมองเห็น 1 ข้างไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นความสูญเสียทรัพยากรอันมีคุณค่ายิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศ “สนง.คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” ก็ออกมาตรการวัวหายล้อมคอกจัดทำแผนเผชิญเหตุ และการจัดการภัยพิบัติทุกกรณี
เพื่อให้ทุกโรงเรียนวิเคราะห์เหตุที่คาดจะเกิดในแต่ละปี เดชา ปาณะสี รอง ผอ.ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ.ให้ข้อมูลในการประชุมแลกเปลี่ยนครบรอบ 1 เดือนรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้มาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารอยู่ที่ไหนจัดโดยสภาผู้บริโภคว่า ครั้งนี้เราสูญเสียครู และเด็กที่เป็นคนในครอบครัวไปจำนวนมาก
...
ทำให้ ศธ.จัดทำแผนการเผชิญเหตุ และการจัดการภัยพิบัติให้โรงเรียนทุกแห่งวิเคราะห์ในแต่ละปี เช่น โรงเรียนตั้งใกล้จุดเสี่ยงภัยสึนามิพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดาก็ต้องทำแผนเผชิญเหตุ จัดองค์ความรู้ และซักซ้อมแห้ง และการซ้อมจริงเตรียมพร้อมให้ “นักเรียน บุคลากร และผู้ปกครอง” เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการเผชิญเหตุในทุกมิติ
โดยเฉพาะมิติการเดินทางไปทัศนศึกษาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นับเป็นบทเรียนแสนแพง แม้ว่าทุกคนจะมีความเจ็บปวดแต่ก็รู้สึกดีใจที่ “ทุกหน่วยงาน” ต่างใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น
ทว่าในส่วน “สพฐ.” ล่าสุดหลังเกิดเหตุได้ประกาศแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำ ด้วยการนำระเบียบฉบับเดิมมาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ให้สอดรับกับแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นในช่วงนี้จะพยายามให้โรงเรียนหลีกเลี่ยง หรืองดเว้นการเดินทางไปทัศนศึกษาจนกว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะออกมา
หากจำเป็นจริงๆ “เด็กอนุบาล” จะให้เลือกสถานที่ใกล้โรงเรียน และมีผู้ปกครองร่วมเดินทางด้วย “เด็กโต” ให้เลือกสถานที่ที่เหมาะกับเด็ก “การเลือกรถ” ต้องตรวจสภาพรับรองความปลอดภัยก่อนเดินทาง 30 วัน “ห้ามใช้รถแก๊ส” ทั้งต้องจัดการเรียนรู้ในความปลอดภัยบนท้องถนน และสร้างความเข้าใจเรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
แล้วเวลาเดินทางต้องมีครูเวรคอยสังเกตอัตรายอย่างน้อย 2 คน ส่วนการเดินทางไปในพื้นที่ลาดชันต้องใช้รถชั้นเดียวเท่านั้น “งดเว้นการเดินทางเวลากลางคืน” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทางของเด็กๆ
เช่นเดียวกับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เหตุรถบัสไฟไหม้เป็นมากกว่าอุบัติเหตุจาก “ความหละหลวมปล่อยให้รถไม่ปลอดภัยวิ่งบนถนน” แถมยังให้พาเด็กไปทัศนศึกษาได้ด้วยแล้วไม่ใช่ปัญหาปัจเจกว่า “ใครผิด” แต่เป็นปัญหาเชิงระบบบริหารจัดการในการดูแลความปลอดภัย
เรื่องสำคัญคือ “การจัดหารถทัศนศึกษา” ถ้าปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้จัดหาเองมักจะเลือกราคาถูกที่สุด เพราะโรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดกลางทั่วประเทศมีจำนวนมาก “งบประมาณมีจำกัด” ทำให้ไม่มีกำลังที่จะจ่ายให้กับรถที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงเหมือนโรงเรียนเอกชนที่เวลาเดินทางต้องมีรถนำขบวนด้วยเสมอ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็น “ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมในการจ่ายมักจะมีความปลอดภัยมากกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ.จำนวนมาก” ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรฐานความปลอดภัยเหล่านี้
ดังนั้นเรื่องการจัดหารถนั้น "เขตพื้นที่การศึกษา" ควรมาช่วยตรวจสอบบริษัทเดินรถที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้วขึ้นบัญชีไว้ "หากโรงเรียนจัดทัศนศึกษา" ก็ต้องจ้างรถที่ผ่านการรับรองเหล่านี้เท่านั้น แล้วสิ่งสำคัญคือ "ไม่ควรให้เด็กเล็กนั่งรถทัศนศึกษาข้ามจังหวัด" เพราะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยบนท้องถนน
“สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นผู้ปกครองและบุคลากรการศึกษาต่างออกมาเห็นด้วยกับการยกเลิกการทัศนศึกษา เพราะไม่ไว้ใจในความปลอดภัย และไม่ต้องการแบกรับภาระ สะท้อนถึงทุกคนกำลังจะยอมแพ้ในการสร้างโลกที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ อันเป็นการปัดความรับผิดชอบแล้วทำให้ความไม่ปลอดภัยยังคงอยู่ต่อไป” ผศ.อรรถพลว่า
ขณะที่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ บอกว่า ส่วนฝั่งการเมืองก็พยายามใช้พื้นที่ในสภาฯ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐตรวจสภาพรถ คุณภาพคนขับ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะสังคมตั้งคำถามมากมายว่าทำไมรถบางประเภทที่ไม่มีความปลอดภัยสามารถผ่านการตรวจสอบออกมาได้
...
แต่ในเชิงนโยบายอยากชวนมาผลักดัน “มาตรฐานรถโรงเรียน” ที่ยังคงพูดคุยกันในการปรับสภาพรถที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการใช้งานขนส่งเด็กนักเรียน ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้หากเทียบกับ “สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น” มักจะไม่อะลุ่มอล่วยในด้านมาตรฐานเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาสร้างมาตรฐานรถโรงเรียนให้ปลอดภัยกับเด็กนักเรียนจริงจัง
อย่างกรณี “ญี่ปุ่น” ประกาศห้ามเด็กอนุบาลเดินทางไปทำกิจกรรมนอกจังหวัด “เด็กโต” หากเดินทางต้องใช้รถผ่านการตรวจสภาพรับรองจากบริษัทภายใต้การกำกับของรัฐก่อนเดินทางเสมอ “สหรัฐฯ” ก็มีรถ School Bus ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยสูง เช่น รถใช้สีเหลืองเป็นสีที่มนุษย์มองเห็นได้ไว สังเกตเห็นได้ง่ายในทุกสภาพอากาศ
แม้แต่รถหยุดก็จะมีสัญญาณไฟแดงกะพริบแจ้งให้ผู้ขับขี่อื่น “หยุดรถ” ขณะเด็กกำลังเดินขึ้น-ลงรถ ภายในรถออกแบบ Compartmentalization ด้วยเบาะนั่งทำด้วยโครงเหล็กดูดซับพลังงาน เบาะนั่งที่ชิดกันและยึดแน่นกับพื้นรถสามารถดูดซับพลังงานเมื่อเกิดการชนกระแทก ทำให้นักเรียนจะได้รับการปกป้องภายในช่องที่นั่งของตัวเอง
...
ดังนั้นประเทศไทยต้องเริ่มสร้างมาตรฐานให้ “ทุกโรงเรียน” มีรถโรงเรียนที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน “โดยมีหน่วยงานกลางคอยกำกับมาตรฐาน” แล้วทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรหันหน้ามาบูรณาการร่วมกัน ทั้งพิจารณาหลักสูตรภัยรอดตัวบรรจุไว้ในการศึกษาไทย เพื่อเป็นพื้นฐานการเอาตัวรอดกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินให้นักเรียน
ฉะนั้นสังคมไม่ควรลืมเหตุการณ์ “รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ที่มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก” แล้วอย่ามองเป็นอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว “ไม่ใช่ทางออก” แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหาทางป้องกันปัญหาจริงจัง โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยของรถสาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม