จากข่าวที่มีผู้มาร้องทุกข์หน้าทำเนียบรัฐบาล กรณีกล่าวหาว่า ‘พยาบาลวิชาชีพ’ โรงพยาบาลรัฐ ในสังกัดกรมการแพทย์ (ย่านสาทร) แอบลักลอบขโมยรกเด็กและสายสะดือจากทารกหลังคลอด (ซึ่งต้องเป็นเลือดกรุ๊ปโอเท่านั้น) นำออกมาขาย ให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งหนึ่ง (ย่านจตุจักร) โดยคลินิกฯ แห่งนี้ ได้นำ ‘รกเด็ก’ มาสกัดโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ส่วนสายสะดือนำมาสกัดเป็นสเต็มเซลล์ และจำหน่ายให้แก่คลินิกความงามและโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 100 แห่งอ่านตอนที่ 1 ได้ที่ เปิดโปงธุรกิจชะลอแก่ พยาบาลลักสายสะดือ-รกเด็ก ส่งคลินิกเถื่อนทำสเต็มเซลล์ ทันทีที่ข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ไทยรัฐออนไลน์พบว่า ประชาชนจำนวนมากยังมีความเข้าใจในเรื่องสเต็มเซลล์ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นมากมาย เช่นว่า สเต็มเซลล์คืออะไร ดีจริงไหม ใช้รกและสายสะดือได้หรือไม่ และถูกกฎหมายหรือไม่ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า สเต็มเซลล์ อยู่บ่อยครั้งผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาไปในทางความสวยงาม ชะลอแก่ รวมถึงการโฆษณาของโรงพยาบาลเอกชนมากมายที่ได้เสนอขาย ‘โปรแกรมเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือเด็กหลังคลอด’ เพื่อนำไปรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมความรู้เรื่องสเต็มเซลล์ จากการสัมภาษณ์ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ข้อมูลจากกรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง และบทความจากสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย มาคลี่ให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเรื่องสเต็มเซลล์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้มีใครตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่ว่อนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน สเต็มเซลล์ คืออะไรไทยรัฐออนไลน์ ได้สรุปความรู้เรื่อง ‘สเต็มเซลล์’ จาก สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ดังนี้ ‘สเต็มเซลล์’ หรือ ‘เซลล์ต้นกำเนิด’ คือ ‘เซลล์ชนิดพิเศษ’ ที่สามารถพบได้ทุกช่วงเวลาของการเจริญเติบโตในสิ่งมีชีวิต สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด และสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น เซลล์ผิวหนัง สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกายเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์สนใจสเต็มเซลล์ด้วยความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและการฟื้นฟูที่ไม่เหมือนใคร ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาสเต็มเซลล์เป็นอย่างมาก เพราะอาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ ๆ และการฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ สเต็มเซลล์ มีความหวังที่จะเป็น ‘ทางเลือก’ ในการรักษาโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาที่ดีพอในปัจจุบันสเต็มเซลล์มีความสามารถในการแบ่งตัวและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆ ได้ ทำให้สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคได้หลากหลายการศึกษาสเต็มเซลล์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกการเกิดโรคต่างๆ ได้ดีขึ้นสเต็มเซลล์เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนายาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างไรก็ตาม การวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ในปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นตอน ‘เริ่มต้น’ เท่านั้น และยังมีประเด็นทางจริยธรรมและกฎหมายที่ต้องพิจารณาอีกมาก เพราะแม้ว่าสเต็มเซลล์จะมีศักยภาพในการรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงบางประการที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงว่า การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาวงการแพทย์ทั่วโลก ใช้สเต็มเซลล์อย่างไร ปัจจุบัน การนำสเต็มเซลล์มาใช้ในทางการแพทย์นั้นมีหลายวิธี โดยใช้หลักการ ‘ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทดแทนเซลล์ที่เสียไป’ จากโรคต่างๆ เช่น โรคเลือด โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคหัวใจ และกระตุ้นการซ่อมแซมตัวเอง โดยสเต็มเซลล์สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่เสียหายในร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ เช่น ในการรักษาบาดแผลเรื้อรัง หรือโรคข้อเสื่อม ฯลฯส่วนในประเทศไทย ขณะนี้มีโรคเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่แพทยสภาอนุญาตให้นำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษา ได้แก่ โรคทางโลหิตวิทยาและโรคทางกระจกตาและผิวดวงตาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ในการรักษาโรคโลหิตวิทยาตามที่แพทยสภารับรองหรือกำหนด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคโลหิตจางชนิด, มะเร็งไขกระดูกชนิด, ธาลัสซีเมีย, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด และมะเร็งเม็ดเลือดชนิดต่างๆ การใช้เซลล์ทางการแพทย์ตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือการรับรอง ตามที่แพทยสภาหรือทันตแพทยสภากำหนด สเต็มเซลล์จากสายสะดือเด็ก มีประโยชน์จริงไหมปัจจุบัน ยังไม่มีการรับรองจาก อย. ในการใช้สารฉีดสเต็มเซลล์จากสายสะดือเด็ก ทั้งในทางการแพทย์และความงาม เพราะมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ เช่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียเชื้อไวรัสเฉพาะที่ติดต่อทางระบบเลือดเชื้อวัณโรคเทียม ผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบใต้ผิวหนังได้จากสารสกัดอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ผิวหนังในระยะยาวได้ฯลฯ โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) จากรกเด็ก มีคุณภาพจริงไหม?ปัจจุบัน ไม่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ (ทั้งในระดับ Controlled trial หรือ Systematic review) ยืนยันว่า การฉีดโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่สกัดจากรกเด็ก จะช่วยเรื่องหน้ากระจ่างใสหรือใช้รักษาโรคทางผิวหนังได้ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังไม่มีการรับรองการใช้ โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) สำหรับการฉีดเข้าผิวหนังแต่อย่างใด และหากพบว่ามีการกระทำผิด ก็จะเข้าข่ายตามความผิดดังนี้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมาตรา 72 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความสื่อถึงการนำไปฉีดเข้าสู่ผิวหนัง เข้าข่ายเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือขาย ฝ่าฝืน ม.6(1) ประกอบ ม.27(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน ม.32 (3) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความอันเป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วน ฝ่าฝืน ม.32 (4) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับการเก็บสเต็มเซลล์ ‘จากรกเด็ก’ เพื่อใช้ในอนาคต มีประโยชน์จริงหรือเปล่า?ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การเก็บสเต็มเซลล์ไว้ในธนาคารสเต็มเซลล์นั้นยังไม่มีความจำเป็น และมีโอกาสที่ใช้ได้น้อยมาก และยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์มารองรับว่าระยะเวลาการเก็บสเต็มเซลล์จากรกที่นานเกินกว่า 10 ปีนั้นจะส่งผลอย่างไรและจะมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในประเด็นนี้ ผศ.นพ. กฤษฎา วุฒิการณ์ จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เขียนอธิบายไว้ในบทความ ‘การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากรก เพื่อใช้ในอนาคต มีความจำเป็นหรือมีประโยชน์จริงหรือเปล่า? สรุปได้ดังนี้ การเก็บเม็ดเลือดจากรกเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ในอนาคตนั้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่า โอกาสในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากรก มีค่อนข้างน้อยมาก คิดเป็นเป็นโอกาสประมาณ 0.04-0.001% เท่านั้น สำหรับการเก็บเลือดจากรกในธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด หรือ ธนาคารเก็บเลือดจากรก (cord blood bank) เพื่อไว้ใช้สำหรับตัวเองในอนาคต ‘ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์’ รองรับว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคอื่นๆ เช่นโรคทางพันธุกรรม รวมถึงโรคจากความเสื่อมอื่นๆโดยสรุปคือ ในปัจจุบันสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ต่างๆ เช่น สมาคมโลหิตวิทยาแห่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา สมาคมการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดประเทศ สหรัฐอเมริกา สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศอเมริกา รวมถึงสมาคมโลหิตวิทยาแห่ง ประเทศไทย ‘ยังไม่แนะนำ’ การเก็บเลือดจากรกแช่แข็งไว้ใช้สำหรับการรักษาตนเอง (personal use) นอกเหนือจากการบริจาคให้แก่ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดรกสาธารณะ (public cord blood bank) เพื่อใช้เก็บเป็นแหล่งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้นความงามจาก ‘รกเด็ก’ วงการเทาๆ และความเชื่อผิดๆ ไทยรัฐออนไลน์ สนทนากับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ต่อประเด็นข่าวที่มีการกล่าวหาว่า ‘พยาบาลวิชาชีพ’ โรงพยาบาลรัฐ ในสังกัดกรมการแพทย์ (ย่านสาทร) แอบลักลอบขโมยรกเด็กและสายสะดือจากทารกหลังคลอด (ซึ่งต้องเป็นเลือดกรุ๊ปโอเท่านั้น) นำออกมาขาย ให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งหนึ่ง (ย่านจตุจักร) โดยคลินิกฯ แห่งนี้ ได้นำรกเด็กมาสกัดโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ส่วนสายสะดือนำมาสกัดเป็นสเต็มเซลล์ ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า การทำคลอด ถือเป็นหัตถการแบบหนึ่งไม่ต่างกับการผ่าตัด เพราะฉะนั้น ชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ จะไม่มีการนำไปใช้เพิ่มเติม เพราะถือว่าไม่ใช่การรักษาของคนๆ นั้นอีกต่อไปซึ่งโดยปกติแล้ว หลังทำคลอดเสร็จ โรงพยาบาลจะทำการทำลายรกและสายสะดือทิ้ง เพราะถือว่ารกและสายสะดือ เป็น ‘ตัวอย่างทางชีวภาพ’ หรือหมายความว่า เราไม่อาจบอกได้ว่ามันจะปลอดภัย 100% เพราะอาจจะมีเชื้อโรคหรือไวรัสบางอย่าง ไม่ต่างกับเลือดและชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ “เวลาคุณหมอผ่าตัดออกมา เช่น คนที่ต้องผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ผ่าตัดเนื้องอก พอเขาผ่าตัดออกมาแล้ว เนื้อที่นอกเหนือจากการนำไปวินิจฉัย ที่เหลือก็ต้องมีการจัดเก็บและทำลาย ไม่เอาไปใช้อื่น”“เว้นเสียแต่ว่า แพทย์จะขอความยินยอมจากคุณแม่ ในการนำรกและสายสะดือเด็กไปใช้เพื่อการศึกษาและการวิจัย เพราะเราถือว่านี่คือสิทธิผู้ป่วย เราไม่สามารถทำอะไรที่นอกเหนือการรักษามาตรฐานได้ โดยที่เจ้าตัวหรือเจ้าของร่างกายไม่รับทราบหรือยินยอมก่อน” ศ.นพ.มานพ มองว่า การลักลอบผลิตสเต็มเซลล์จากสายสะดือหรือสารสกัดจากรกเด็กในอุตสาหกรรมความงามนั้น เป็น ‘วงการธุรกิจเทาๆ’ ที่มีเม็ดเงินมหาศาล โดยธุรกิจเหล่านี้ อาจอ้างอิงหลักวิชาการอยู่บ้างส่วนหนึ่ง แต่การอ้างหลักวิชาการ ไม่ได้แปลว่าจะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ทันที และธุรกิจเหล่านี้มักจะกระโดด ‘ข้ามขั้นตอน’ โดยไม่ได้ดูว่า ระหว่างทางได้ประเมินความเสี่ยงและผลเสีย หรือมีโอกาสที่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน “ธุรกิจพวกนี้มันเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามันไม่มีดีมานด์ (ความต้องการของผู้บริโภค) จากวงการความงามที่นำของพวกนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น วงการความงาม วงการชะลอวัย ฉีดนู่นฉีดนี่ เขาก็จะหวังเงินเป็นหลักอยู่แล้ว พอมันมีดีมานด์แบบนี้ มันก็มีคนยอมจ่ายซื้อเพื่อให้ได้มา”ส่วนความเสี่ยงในการนำสารเหล่านี้ฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ ศ.นพ.มานพ อธิบายว่า หากมีการติดเชื้อ เราก็อาจเห็นผลกระทบทันที แต่ในบางกรณี อาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายเดือนในการออกอาการ เนื่องจากของหลายอย่างเป็น ‘ความเสี่ยงระยะยาว’ เช่น โรคบางอย่างแม้ว่าจะติดเชื้อ แต่ใช้เวลาช้ามากกว่าจะรู้ ซึ่งก็อาจเป็นเยอะแล้ว“วงการนี้มักจะมีการใช้ของบางอย่างซึ่งไม่ตรงไปตรงมาเกิดขึ้นหลายอย่างพร้อมกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องการฉีดสเต็มเซลล์หรอก แต่ยังมีการฉีดสารต่างๆ เยอะแยะไปหมดที่ไม่ได้รับการอนุมัติจาก อย. แล้วเราก็จะได้ยินการจับนู่นนี่นั่นเต็มไปหมด” ศ.นพ.มานพ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน สเต็มเซลล์ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก และถือเป็นมาตรฐานในการรักษาโรค มีสเต็มเซลล์เพียงชนิดเดียวเท่านั้นคือ เซลล์ไขกระดูก ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในเซลล์เม็ดเลือดเท่านั้น และถือเป็นมาตรฐานเดียวที่มีในตอนนี้ ส่วนกรณีการนำรกและสายสะดือเด็กไปใช้ในอุตสาหกรรมความงามนั้น “ไม่ใช่มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ ไม่มีข้อแนะนำ หรือคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานกลางจากสมาคมวิชาชีพให้ใช้ได้”อ้างอิงสเต็มเซลล์ (Stem Cell); เซลล์ต้นกำเนิด ตอนที่1: สเต็มเซลล์คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร? ประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ.2565ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552ประกาศแพทยสภา ที่ 76/2564 เรื่อง มาตรฐานการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดและการใช้เซลล์บำบัดในโรคทางกระจกตาและผิวดวงตาพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2552ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การควบคุม กำกับ ดูแลที่เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงผศ.นพ. กฤษฎา วุฒิการณ์: การเก็บสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดจากรกเพื่อใช้ในอนาคต มีความจำเป็นหรือประโยชน์จริงหรือ?