ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การปล่อยให้เด็กๆ มีเวลาเล่นอิสระเป็นวิธีที่ดีในการเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับมือกับอนาคต ให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ ตามความสนใจ ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์แน่นอน การเล่นแบบนี้นอกจากจะสนุกแล้วยังช่วยพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) ซึ่งสำคัญต่อการควบคุมพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์
ยิ่งเด็กๆ ฝึกทักษะสมอง EF มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งมีความสามารถในการจัดการกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น การเล่นอิสระเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF ดังนี้:
การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating)
ในขณะที่เล่นอิสระ เด็กๆ จะมีอิสระในการเลือกเล่นตามความสนใจของตนเอง พวกเขาจะได้คิดค้นสร้างสรรค์วิธีการเล่นใหม่ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์ตายตัว เช่น การสร้างปราสาททรายตามจินตนาการ หรือลองทำโครงการศิลปะที่พวกเขาคิดขึ้นมาเอง การที่เด็กๆ ได้ทดลองไอเดียใหม่ๆ และฝึกคิดนอกกรอบจะช่วยให้มีความกล้าในการลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ในทางตรงกันข้าม การเล่นที่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กจะเคยชินกับการทำตามคำสั่งและอาจไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง
การวางแผนและจัดการ (Planning & Organizing)
การเล่นอิสระทำให้เด็กๆ ได้คิดวางแผนและตัดสินใจด้วยตัวเอง กำหนดว่าจะเล่นอะไร ใช้อุปกรณ์อะไร เล่นอย่างไรให้สนุก การที่เด็กๆ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นตามสถานการณ์จริง รวมถึงการควบคุมตัวเองให้ทำจนสำเร็จ จะช่วยพัฒนาทักษะการวางแผนและการจัดการ ในขณะที่การเล่นที่มีผู้ใหญ่จัดการให้ เด็กๆ จะไม่ค่อยได้ฝึกทักษะการวางแผนด้วยตัวเอง
การจดจำข้อมูลเพื่อนำมาใช้งาน (Working Memory)
การเล่นอิสระช่วยฝึกทักษะนี้ได้ดี เช่น การจดจำกติกาและข้อตกลงในการเล่น การทบทวนวิธีการเล่น และเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเจออุปสรรคในการเล่น เด็กๆ จะต้องดึงข้อมูลที่มีอยู่มาคิดหาวิธีแก้ไข ทำให้ Working Memory ได้รับการฝึกฝน ในขณะที่การเล่นที่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กจะรอฟังคำสั่งและทำตามขั้นตอนที่กำหนด
การยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility)
การเล่นอิสระช่วยส่งเสริมการยืดหยุ่นทางความคิด เช่น เด็กอาจเปลี่ยนวิธีการเล่นเมื่อเจออุปสรรค หรือปรับเปลี่ยนกติกาให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ การที่เด็กต้องค้นหาวิธีแก้ปัญหาและเรียนรู้ที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จะช่วยพัฒนาทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด ในขณะที่การเล่นที่มีโครงสร้างและผู้ใหญ่แนะนำ เด็กมักถูกควบคุมให้ทำตามกฎ ทำให้ไม่มีโอกาสฝึกทักษะนี้
การจดจ่อใส่ใจ (Focus/ Attention)
การเล่นอิสระช่วยให้เด็กๆ ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการเล่นด้วยตัวเอง เช่น การปั้น การต่อตามแบบที่คิดขึ้นมาเอง การที่เด็กได้เล่นในสิ่งที่ชอบและสนใจจะช่วยให้พวกเขาจดจ่อใส่ใจเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่บอกหรือควบคุม
การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
การเล่นอิสระช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การจัดการกับอารมณ์หลากหลายด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเด็กๆ รู้สึกโกรธหรืองอแงเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ พวกเขาจะต้องหาวิธีควบคุมอารมณ์และปรับเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อให้การเล่นดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น การเผชิญกับความผิดหวังหรือความล้มเหลวจะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การอดทนและควบคุมอารมณ์ต่างจากการเล่นที่มีผู้ใหญ่ช่วยเหลือ
การยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control)
เมื่อเด็กๆ เล่นอิสระ พวกเขาจะต้องรู้จักยับยั้งตัวเองไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่แย่งของเล่นจากเพื่อน ต้องควบคุมตัวเองเพื่อให้เล่นเข้ากับกติกาที่ตกลงกับเพื่อนไว้ การตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร จะช่วยฝึกการยับยั้งชั่งใจที่มาจากแรงผลักดันภายใน ในขณะที่การเล่นที่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กจะทำตามข้อกำหนดจากภายนอก
การเล่นอิสระไม่เพียงสร้างความสุขให้กับลูก แต่ยังเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตที่สดใส มาสนับสนุนการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์กันเถอะ!
ชวนอ่านข้อมูลความรู้ที่พลาดไม่ได้เกี่ยวกับการเล่นอิสระได้ที่นี่ >> https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/microsite/healthyfamily/children/08003/content/4223?cx_trackid=UWr4PLtI9TepCBTRao3V&utm_source=website
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth