เมื่อกองทุนประกันสังคม “มีภาวะเสี่ยงล้มละลายอีก 30 ปี” ก็เป็นประเด็นร้อนกังวลใจให้ผู้ประกันตนที่เจียดเงินรายได้สมทบทุกเดือนทันที เพราะเกรงจะไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพในวัยเกษียณ

เพราะต้องเข้าใจว่า “กองทุนประกันสังคม” เป็นสวัสดิการสำคัญของลูกจ้างผู้ประกันตนจากเงินสมทบ “เพื่อประกันความเสี่ยง” กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต สิทธิประโยชน์คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร สิทธิประโยชน์ชราภาพ และสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานคุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงาน 13.7 ล้านคน

แบ่งเป็นตาม ม.33 ประมาณ 11.9 ล้านคน ม.39 ประมาณ 1.6 ล้านคน ม.40 ประมาณ 0.9 ล้านคน

แต่ความวิตกกังวลนี้ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศด้วยโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป “คนวัยทำงานจ่ายสมทบลดลงสัดส่วนวัยชรารับสิทธิเพิ่มก้าวกระโดด” มีเงินไหลออกจ่ายบำนาญมากกว่าเงินไหลเข้ากองทุน แล้วยิ่งความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขก็ทำให้คนอายุยืนขึ้นจนช่วงเวลาการรับเงินบำนาญยาวนานออกไปอีก

ปัจจุบันนี้ “คนวัยทำงานลดลง” อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 แล้วเข้าสู่สังคมสูงอายุปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% วัยเด็กเพียง 16% “วัยทำงานมีอยู่ 42.4 ล้านคน” ที่มีแนวโน้มลดลงด้วยบางกิจการอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และบางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และเอไอมากขึ้น

เช่นนี้ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่ผู้เชี่ยวชาญ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศพยากรณ์หากไม่ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆ “กองทุนประกันสังคม” จะไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันตนในปี 2597 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ที่ปรึกษาการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคมบอกว่า

...

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

สภาวะกองทุนชราภาพล้มละลายจะไม่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้อย่างดีหรือมีการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมต่อเนื่อง ดังนั้นการสร้างความยั่งยืนให้กองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคมนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของ สนง.ประกันสังคม หรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างความยั่งยืน

ตามที่มีการประชุมทางวิชาการประกันสังคมเมื่อ 24-25 ต.ค.2567 การทำงานของ คกก.ประกันสังคม และอนุกรรมการชุดต่างๆ ก็ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปในหลายมิติ เพื่อให้กองทุนประกันสังคมมีความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพความยั่งยืน และครอบคลุมการให้หลักประกัน หรือความมั่นคงในชีวิตกับผู้ใช้แรงงาน

แล้วการปฏิรูปและการดำเนินการจะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างการให้บริการเชิงรุก ยุทธศาสตร์การสร้างพลังแห่งการขับเคลื่อนสู่องค์กรแห่งความเชื่อมั่น ความไว้วางใจและมีธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิผลในการสร้าง และเข้าถึงหลักประกันสังคมให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม ทุกวัย

ทว่าวิธีที่จะทำให้กองทุนมีความยั่งยืน “ปรับแนวทางบริหารการลงทุน” เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของเงินกองทุนให้ขึ้นมาอยู่ระดับเฉลี่ย 5% “แต่ต้องระวังการบริหารความเสี่ยง” หากเพิ่มสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด หรือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ จำเป็นต้องมีระบบกลไกที่เป็นไปตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี

เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด “ซับซ้อนกว่าลงทุนในสินทรัพย์จดทะเบียนในตลาด” เพราะไม่มีหน่วยงานทางการกำกับดูแลชัดเจน นอกจากนี้การลงทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ผู้ประกันตนก็จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของกองทุนได้ เพราะการป้องกันการเกิดโรคมีต้นทุนระยะยาวที่ถูกกว่าการรักษาอย่างมาก

ถัดมาคือ “ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยี และ AI” เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้ประกันตน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ด้านสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบการพยากรณ์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตนรายบุคคลให้ทราบถึงสภาวะความเป็นไปได้ด้านสุขภาพ

...

ทั้งส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก และใส่ใจดูแลป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตไม่สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ “รัฐบาล” ควรมีแนวทางลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ บูรณาการสิทธิประโยชน์ และการบริการทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดภาระการเงินการคลังของประเทศ

ย้ำการพัฒนา “กองทุนประกันสังคมให้เป็นเสาหลักระบบสวัสดิการ” จำเป็นต่อการรับมือความท้าทายปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเป็นพื้นฐานให้ประเทศก้าวสู่การมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ยังอยู่ห่างไกลหากเทียบประเทศยุโรปเหนือมีสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีที่ 35-48% (สัดส่วนภาษีต่อจีดีพีไทย 14.6%)

ส่วนรายจ่ายสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีไทย 4.8%  ยังต่ำหากเทียบประเทศมีฐานะเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน แต่รายจ่ายสวัสดิการจะเป็นภาระงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ จากสังคมผู้สูงวัย ขณะนี้สัดส่วนรายจ่ายต่องบประมาณอยู่ที่ 20-23% สิ่งนี้ตอกย้ำว่าทำไมต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐ ปฏิรูประบบภาษี หรือต้องให้เศรษฐกิจขยายสูงกว่าในปัจจุบัน

ประเด็นต่อมาคือ “ต้องออกแบบระบบประกันสังคมครอบคลุมแรงงานให้มากที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ” เพื่อให้คนทำงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตรได้หลักประกันในชีวิต และความคุ้มครองทางสังคม เพราะมีคนทำงาน 59% หรือ 23.5 ล้านคนอยู่นอกระบบหลักประกันทางสังคมของรัฐ

...

โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย  แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานทำงานตามบ้านหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจะเอารายได้จากไหนมาใช้จ่ายที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่ “วัยชราภาพ” แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาดำรงชีพ

อย่าลืมว่าสังคมไทยมีประชากรวัยชรายากจน “ไม่มีเงินออมแต่มีหนี้จำนวนมาก” ดังนั้นระบบประกันสังคมจะช่วยบรรเทาปัญหาได้สำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ที่จะพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มเติมอย่างไรได้บ้างโดยคำนึงถึงความยั่งยืนระยะยาวตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัย

ไม่เท่านั้น “การพัฒนาระบบประกันสังคม” ต้องให้รองรับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตธุรกิจอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ แพลตฟอร์มต่างๆ และผู้ใช้บริการร่วมจ่ายเงินสมทบให้คนทำงานอิสระ เช่น ไรเดอร์ แรงงานทำชิ้นงาน พนักงานขายอิสระบนออนไลน์ ให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมด้วย

นี่คือข้อเสนอ “ความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม” ให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินไหลออก (รายจ่าย) กับเงินไหลเข้า (รายรับ) เพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหล ขาดประสิทธิภาพ หรือป้องกันการนำเงินของผู้จ่ายเงินสมทบไปลงทุนผิดพลาดเสียหาย...

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม