พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ จำใจลี้ภัยออกจากมาตุภูมิมาแล้ว 9 ปี จากการทำคดีเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ที่ฉีกหน้ากากฝ่ายความมั่นคงไทยจนล่อนจ้อนและมีเจ้าหน้าที่รัฐต้องติดคุกตารางไป ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสสนทนากับพล.ต.ต.ปวีณ ในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา กลางกรุงเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ท่ามกลางลมเย็น 12 องศาฯ ที่กลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ และเปลี่ยนสถานะเป็นเพียงชายใช้แรงงานในโรงงานทำกรอบรูป

ทุกวันนี้เขายังคงใส่เสื้อแขนยาวสีดำ คลุมร่างกาย เพราะไม่ชินกับสภาพอากาศออสเตรเลีย มีน้ำตาเป็นเพื่อนเมื่อคิดถึงบ้านเกิด ในใบหน้าเปื้อนยิ้มเต็มไปด้วยความฝันอันเข้มข้นที่จะได้มีโอกาสบอกกล่าวความจริงถึงความอยุติธรรมที่ผลักให้เขาต้องห่างไกลจากครอบครัวออกไปราว 8,000 กิโลเมตร 

ฤดูใบไม้ผลิปีที่ 9 จากกระทุ่มแบนถึงเมลเบิร์น 

ผมยังจำบรรยากาศวันแรกของผมที่ออสเตรเลียได้ มันคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันเดียวกันที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในเวลานั้น) แถลงข่าวว่าผมลาออกจากราชการตำรวจ คืนนั้นผมจึงได้รีบบินหนีออกจากไทย ไปสิงคโปร์ทันที และรอวีซ่าเข้าออสเตรเลีย นานถึง 20 วัน พอวันที่ 4 ธันวาคม 2558 วีซ่านักท่องเที่ยวเจ้าออสเตรเลียก็อนุมัติ เดินทางในคืนนั้น และมาสว่างเช้าวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ที่สนามบินเมลเบิร์น ออสเตรเลีย

...

ผมลงจากเครื่องบิน เห็นสนามบินปกคลุมไปด้วยหมอกมองแทบจะไม่เห็น อากาศเย็น มันหนาวยะเยือกเลย เพราะผมมาจากประเทศไทย ไม่คุ้นชินกับความหนาวมากนัก แม้ขณะช่วงเวลานั้นเป็นปลายฤดูใบไม้ผลิย่างเข้าฤดูร้อนแล้ว แต่ผมยังรู้สึกหนาว ความหนาวจากภูมิอากาศ การห่างไกลจากบ้านเกิดของตัวเอง และการถอดเครื่องแบบตำรวจที่ผมยังเหลืออายุราชการอีก 3 ปี มันเป็นความรู้สึกทรมานและบั่นทอนจิตใจของผมมากมายเหลือเกิน

ระยะเวลา 9 ปี ของคนมันไม่เหมือนกันในความรู้สึก บางคนคิดว่า 9 ปีมันรวดเร็วจัง แต่บางคนคิดว่า 9 ปียาวนานเหลือเกิน บางคนก็บอกว่า 9 ปีเป็นช่วงระยะเวลาแห่งความสุข บางคนก็บอกว่าช่วง 9 ปีมันมีแต่ความทุกข์ความเศร้าโศกระทมใจ

9 ปีของผมหลังจากพ้นอาชีพตำรวจในเมืองไทย แล้วต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย ตอบจากใจเลยว่ามันไม่ง่ายและค่อนข้างลำบากเลย มันมีทั้งความเครียดจากหลายอย่าง หลักๆ คือผมไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ไม่รู้หรอกว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไง แล้วสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือภาษา ผมแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่

อีกเรื่องคือสภาพดินฟ้าอากาศ อาหารการกิน สภาพแวดล้อม ผู้คนทั่วไป สังคม ที่มันปะเดปะดังเข้ามา มันทำให้บางครั้งเรารู้สึกเสียใจ เศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ผ่านมา แล้วผมต้องอยู่ตัวคนเดียว การจะปรับทุกข์พูดคุยหรือสอบถามใครมันก็ไม่ง่าย ต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังดีที่ได้รับการช่วยเหลือจากบางคนที่รู้จักบ้าง

วันนี้เป็นวันที่ 19 กันยายน 2567 ถ้าย้อนไปเมื่อวันเดียวกันนี้ ปี 2549 เป็นวันที่ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสพัฒนาประเทศ ถูกยึดอำนาจด้วยกลุ่มทหารและตำรวจ ซึ่งสร้างความเสียหายและบอบซ้ำให้ประเทศชาติมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมันควรเป็นวันที่คนไทยต้องระลึกถึง

ผมเป็นข้าราชการตำรวจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ได้สัมผัสรู้เห็นการปกครองของบ้านเมือง ได้ซึมซับกับความอยุติธรรมและความไม่ตรงไปตรงมา เมื่อผมมีอำนาจ ผมจึงพยายามทำงานอย่างตรงไปตรงมาให้ดีที่สุด และไม่เคยคิดเลยว่าผมจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แถมพบแต่ความอยุติธรรมจนกระเด็นกระดอนมาไกลถึงประเทศออสเตรเลีย จนวันนี้เกือบจะเข้า 9 ปีแล้ว แน่นอนว่าผมยังหวนระลึกถึงประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม มีครอบครัว ญาติพี่น้อง มีเพื่อนฝูง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมเคารพอยู่

ใช่ว่าอยู่ที่ออสเตรเลียชีวิตจะสะดวกสบายราบรื่น ทุกวันนี้ผมต้องทำงานในตำแหน่งคนคุมเครื่องจักรในโรงงานตัดกรอบรูป ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน นั้นคือกิจกรรมที่ผมเลี้ยงตัวเอง หนึ่งเดือนแรกผมเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วต้องรักษาตัวเองอยู่เกือบเดือน ไม่ได้ทำงานอยู่หลายวัน แล้วช่วงหลายปีมานี้ผมต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายครั้งจากอาการต้อกระจก

...

ลูกชาวสวนกระทุ่มแบน สู่ดาวประดับบ่า

ผมเติบโตในครอบครัวใหญ่ มีพี่น้อง 10 คน ผมเป็นคนที่ 5 คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำสวน ภูมิลำเนาเกิดของผมอยู่ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มองดูปัจจุบันมันไม่ไกลจากเมืองหลวงเท่าไหร่ แต่เมื่อก่อนตรงนั้นไฟฟ้าก็ไม่มี ถนนยังเป็นลูกรังอยู่เลย

ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดอยากเป็นตำรวจเลย กลับไม่ชอบอาชีพนี้ด้วยซ้ำไป เพราะสมัยนั้นแม่ชอบให้ผมเอาของไปขายที่วงไฮโลใกล้บ้าน แม่จะต้มไข่ มีส้ม มีขนมเปี๊ยะ มีบุหรี่ เอาไปขายหารายได้พิเศษ บางวันขายดี บางวันขายไม่ดี บางวันเสียหายมากเพราะตำรวจมาวิ่งไล่จับพวกคนเล่นการพนัน แล้วเวลามีเรื่องไปแจ้งความของหาย เครื่องสูบน้ำหาย หรือมอเตอร์ไซค์ของพี่หาย ตำรวจไม่เคยช่วยเหลือ ทำให้ตอนเด็กๆ ผมไม่ชอบตำรวจในหลายเรื่อง และไม่เคยประทับใจกับอาชีพตำรวจเลย เวลาเห็นตำรวจพกปืนเราก็ค่อนข้างกลัวจนต้องเดินออกห่างไกลๆ 

ฐานะทางบ้านของผมไม่ค่อยดี จนวันหนึ่งมีคนไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาบอกว่ามันไม่ต้องเสียค่าสอบ ผมก็เลยลองไปสอบบ้างแล้วก็สอบติด เราก็เรียนจนจบแล้วมาทำงานเป็นตำรวจ ด้วยประสบการณ์ชีวิตบ้านนอกที่ยากลำบาก มันหล่อหลอมให้จิตใจของเราคิดว่า เราอยากเป็นตำรวจแบบไหน พูดตรงๆ ว่าผมก็ไม่ใช่ตำรวจที่ดีเลิศประเสริฐศรีทุกอย่างนะครับ ก็เหมือนกับตำรวจทั่วๆ ไป ไม่ใช่ตำรวจที่เก่งฉกาจฉกรรจ์อะไร มีทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง สุดท้ายผมก็ได้ใช้ชีวิตการเป็นตำรวจทั้งสิ้น 33 ปี จนถึงวันที่ตัดสินใจลี้ภัย อายุราชการของผมเหลืออีก 3 ปีเท่านั้น

...

ผมจะไม่พูดเอาเท่เอาหล่ออะไรนะ มันคือความจริง ทุกคนเป็นนักเรียนทุนของประชาชนหมด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องตอบแทนประชาชน แต่ขณะนั้นผมก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะตอบแทนบุญคุณอะไร เพียงแค่ผมอยากจะทำสิ่งที่ผมฝัน นั่นคือทำหน้าที่ของเราให้ตรงไปตรงมา  

...

33 ปี บทเรียนชุดสีกากี

ผมอยากเป็นตำรวจที่ตรงไปตรงมา แต่ โอ้…ความจริงมันทำไม่ได้หรอกเพราะตำรวจมันมีชั้นยศ ผมจบใหม่เป็นร้อยตำรวจตรี ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของตำแหน่งที่ใหญ่กว่า ถ้าเราบอกว่าจะทำตรงนี้ แต่มีคนตำแหน่งใหญ่กว่าไม่เห็นด้วย เราก็ทำไม่ได้ ไหนจะระดับผู้บังคับการอีก มันทำให้ตรงไปตรงมาไม่ได้

คดีหนึ่งที่ผมยังจำแม่น เหตุเกิดที่จังหวัดระนอง มีทหารจ่าสิบเอกคนหนึ่งเมาเหล้า ขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรแล้วชนกับรถบัสของบริษัทท่องเที่ยว วันนั้นผมเข้าเวรพอดี ผู้กำกับสั่งว่าให้ผมช่วยทหาร เพราะว่าทหารเอากองกำลังมาปิดถนน แล้วให้บอกรถบัสว่าถ้าไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้จ่าทหารคนนี้ก็จะวิ่งผ่านค่ายทหารไม่ได้

ผมต้องทำให้รูปคดีเปลี่ยน เพื่อให้จ่าคนนี้เป็นฝ่ายถูกแล้วให้รถบัสเป็นฝ่ายผิด นี่คือสิ่งที่ผมเจอมาสมัยที่ผมเป็นตำรวจใหม่ๆ ตอนนั้นเขาสั่งมาเราก็ต้องทำตามแบบนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิด นอกจากนั้นยังมีอีกมากมายตลอดระยะเวลาที่รับราชการ มันไม่ง่ายที่จะเป็นตำรวจตรงไปตรงมา เพราะหากทำอย่างนั้น คุณอยู่ไม่ได้เด็ดขาดในสังคมประเทศไทยเรา

ทุกวันนี้พอมองกลับไปผมนึกว่ามันจะดีขึ้น นึกว่าทุกอย่างมันพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว แต่ไม่เลย มันกลับหนักขึ้นกว่าเดิมอีก ทั้งที่ไอ้ระบบเละๆ เทะๆ ในเมืองไทยมันควรจะเปลี่ยน ดังนั้นเวลาใครมาถามความเห็นผมเรื่องคดีต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ผมบอกเลยว่าผมไม่ขอวิจารณ์ เพราะผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขานำเสนอต่อสาธารณะมันครบถ้วนตรงประเด็นไหม พนักงานสอบสวนมีใบสั่งอะไรหรือเปล่า ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าตราบใดที่ตำรวจยังมีชั้นยศอยู่แบบนี้ การทำงานของตำรวจก็ไม่มีทางที่จะตรงไปตรงมา และผมยืนยันได้ว่าเมืองไทยตอนนี้เละยิ่งกว่าเมื่อก่อนนี้อีก

สำหรับผม 'ถ้ามึงระยำต้องฆ่าน้อง ต้องฟ้องนาย ต้องขายเพื่อน' ต้องทำเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินนี้ อย่าลืมว่าคนที่ให้ทุนคุณร่ำเรียน ก็คือภาษีของประชาชนที่จ่ายให้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย จนกระทั่งคุณรับราชการอ ประชาชนเขาไม่ได้ต้องการอะไรจากคุณนอกจากขอแค่ตรงไปตรงมาเท่านั้น

ในช่วงที่ผมเป็นแค่สารวัตร ผมก็ไม่ใช่คนตรงไปตรงมาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น เราก็เริ่มแก่กล้าขึ้นจนกระทั่งผมเป็นพลตำรวจตรี ผมพอแล้วกับยศตำแหน่ง ได้ขนาดนี้ก็ถือเป็นผลสำเร็จของชีวิต ที่เหลือก็เป็นกำไรแล้ว ผมเลยอยากทำตามความฝัน นั่นคือทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำในสิ่งที่ผิดจากทำนองครองธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ผมจึงใช้ประสบการณ์ทั้งหมดทำในสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อประเทศของผม ต่อประชาชน ไม่โกหกแล้วก็ไม่ทรยศ แต่ผมกลับได้รางวัลเป็นการต้องหนีลี้ภัยออกจากประเทศของผม

คดี ‘โรฮิงญา’ ต้องทิ้งดาวบนบ่า เพื่อพยุงความจริง

ในคดีโรฮิงญา เขาไปพบศพในพื้นที่สงขลาซึ่งไม่ใช่พื้นที่ผม เขาสอบสวนกันไปหลายวันแล้ว ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากนายตำรวจระดับสูงที่โทรมาตามผมให้ไปช่วยการสอบสวน วันแรกที่ไป มีการถกเถียงกันและวางรูปคดีเละเทะไปหมด ตอนนั้นมีนายตำรวจระดับผู้ใหญ่ยศสูงทั้งนั้น ทั้งพลตรี, พลโท, พลเอก เต็มไปหมด ไม่รู้ใครเป็นใครเถียงกัน แต่ในที่สุด พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ ซึ่งรับผิดชอบคดีโดยตรงเขายอมฟังผม แล้วก็วางรูปแบบคดีตามนี้ ตำแหน่งตอนนั้นผมเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8

วันแรกที่ทำคดี ผมโทรหาผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนภาค 8 ว่า "พี่ ผมขอคดีข้อมูลคดีโรฮิงญาหน่อย" เขาพูดว่าอย่างไรรู้ไหม... “ผมให้ไม่ได้” 

ผมตกใจกับคำตอบมาก วันแรกก็โดนปฏิเสธแล้ว จากนั้นยังไม่ทันไรก็มีพันตำรวจเอกซึ่งเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนภาค 8 โทรมาหาผมว่า “พี่ เราให้ไม่ได้นะ” แล้วปรากฏว่าอีกไม่นาน พันตำรวจเอกซึ่งผู้กำกับสืบสวนสอบสวนในภาค 8 ก็โทรมาหาผมอีกคนว่า “เราไม่ให้นะครับ” ทั้งสามคนเป็นคนทำคดีนี้อยู่แล้วแต่ให้ข้อมูลคดีไม่ได้ มันผิดปกติแล้ว 

เมื่อไม่ให้ เราก็ทำคดีด้วยตัวเอง ผมเดินทางไปตามพยานจนกระทั่งได้พยานเยอะแยะเลย แล้วก็ขยายผล ปรากฏว่าช่วงนั้นมีการชิงไหวชิงพริบในการจะขึ้นเป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าเขามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรกันอยู่ ผมก็ทำงานตามประสาของผม นั่นคือต้องทำงานให้ดีที่สุด แต่หลังจากทำคดีไปก็พบว่าเรื่องราวมันซับซ้อนกว่าที่คิด 

จำได้ว่า วันที่ 1 เมษายน 2558 มีประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลตึกสันติไมตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมก็ได้ไปร่วมประชุมด้วย พวกเขาก็ได้ประกาศให้การปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เพราะว่าอเมริกากับสหภาพยุโรป (EU) จะบอยคอตเรื่องสินค้าอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง ประเทศเสียหายเป็นแสนล้าน เพราะฉะนั้นต้องจัดการอย่างจริงจัง แล้วห่กข้าราชการทำผิดก็ต้องดำเนินคดีอย่างเต็มที่ 

หลังจากนั้นผมก็ได้ทำคดี วางรูปคดี และได้อาศัยหน่วยงานอื่นมาช่วยด้วย ไม่ว่าจะ สรรพากร ฝ่ายปกครอง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขาดไม่ได้คือสื่อมวลชน เพราะผมรู้เลยว่าเมื่อมาทำงานคดีใหญ่ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่กลั่นแกล้งใคร ไม่โกหกประชาชน ไม่โหกตัวเอง ไม่มีวาระซ่อนเร้นไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซึ่งมันจะทำให้คดีมีพยาน มีน้ำหนัก แล้วก็อธิบายกับสังคมได้ คดีนี้พวกเราร่วมกันสืบค้นหลายจุด ต้องค้นคนที่เกี่ยวข้องรวมถึงเครือญาติธุรกิจด้วย 

วันนั้นมีการค้น 10 กว่าจุดที่ระนอง แต่ผลปรากฏว่าผลการตรวจค้นกลับไม่ได้อะไรมากมาย ผมก็แถลงข่าวว่าไม่เจออะไร ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าการไปตรวจค้นครั้งนั้นได้ตรวจเจอสลิปการโอนเงินให้นายทหารชั้นนายพลคนหนึ่ง แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ จนกระทั้งมีการแถลงข่าวครั้งที่สอง นักข่าวก็ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็ตอบว่าไม่มี สุดท้ายมีโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นโทรมาถามว่า "ได้ข่าวว่าเจอสลิปโอนเงินหรอ" ผมก็ยังตอบว่า "ไม่" จนลูกน้องเอามาให้ดูว่ามีสลิปเงินเดือน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่มีนักข่าวปล่อยรูปลงโซเชียลมีเดียไปแล้ว ผมก็เลยต้องรีบทำหนังสือเข้าไปขอหลักฐานถึงจะได้มา นั่นทำให้ผมพบว่าคดีนี้มันเป็นการเมือง เป็นเรื่องของตำรวจด้วย 

จำได้ว่าตอนนั้นมีการออกหมายจับหลายคน อาทิ รองนายกปาดังเดซาร์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ฯลฯ มันเกี่ยวข้องกับคนใหญ่คนโตทั้งนั้น จนไปถึงออกหมายจับ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก แล้วจากนั้นมีนายตำรวจยศพันตำรวจเอกโทรมาหาผมว่าให้ประกันตัว พล.ท.มนัส เขาบอกว่าตัวเองเป็นนายตำรวจติดตามรองนายก แต่ผมก็ไม่ให้ประกันเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกับคดี 

ตอนที่ พล.ท. มนัส คงแป้น มามอบตัว มีคนระดับผู้บัญชาการไปรับตัวขึ้นเครื่องบินเที่ยวบินพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการดูแลอาหารระดับเฟิร์สคลาสเลยตอนนั่งเครื่องกลับมากรุงเทพ มีคนใหญ่คนโตทั้งนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมก็ไม่ให้ประกันตัวนะ หลังจากนั้นก็มีคนมาบอกผมว่า "ตอนนี้ทหารเขาโกรธมาก" ซึ่งทั้งหมดที่ผมเล่า ผมมีบันทึกไว้ 

หลังจากนั้น พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ ก็ถูกย้ายไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องทำสำนวนให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2558 เพราะหลังจากนั้นท่านเอกจะไม่ได้เป็นตำรวจแล้ว ผมจะได้ว่าวันที่ 29 กันยายน 2558 ผมสรุปสำนวนและส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุด ผมภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยหลักของกฎหมาย หลักของระเบียบที่ยึดอย่างเคร่งครัด เป็นเกราะกำบังคุ้มกันจนถึงทุกวันนี้ 

‘ลี้ภัย’ เพราะรัก ‘ชีวิต’ 

 21 ตุลาคม 2558 มีคำสั่งโยกย้ายให้ผมลงไปทำงานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) ออกคำสั่งย้ายไปยังศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง

“ผมกลัวตาย เลยตัดสินใจยื่นใบลาออก รักษาชีวิต เพราะถ้าไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนรอวันตาย ไม่รู้ว่าเราจะโดนถล่มวันไหน เพราะศัตรูทั้งนั้นเลย”

จนวันพิจารณาคดี ตอนนั้นจำได้ว่าผู้ต้อง 88 คน ทนายความ 60 กว่าคน คณะอัยการเป็น 10 คนอยู่กันเต็มห้อง คดีใหญ่มากนะ มีผู้พิพากษาเรียงกันบนบัลลังก์เป็น 10 คน มีผมคนเดียวที่เป็นตำรวจตัวแทนของพนักงานสอบสอบ หลังจากนั้นผมก็ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรียกพบ ผมก็เข้าไปคนเดียว 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเรียกผมเข้าไปคุย ให้ผมลาออกแล้วอยู่เงียบๆ หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจออกจากประเทศไทย เพราะรู้ว่าอยู่ไปก็ตาย มีการจำหน่ายผมแล้ว 

ถ้อยคำถึงมาตุภูมิ

หลังจากพ้นจากการเป็นตำรวจ จริงๆ ผมก็ปวดร้าวเจ็บช้ำน้ำใจเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะการมาอยู่ที่นี่ผมไม่เคยวางแผนมาก่อน มันไม่ได้สะดวกสบายและค่อนข้างจะลำบากมาก ผมเคยฟังอาจารย์สุนัย ผาสุก ให้สัมภาษณ์ว่าใช้ชีวิตในต่างประเทศมันไม่สะดวกสบาย ทีแรกผมก็ไม่เชื่อขนาดนั้น แต่พอได้มาอยู่จริง คำพูดของท่านมันยังก้องหูผมอยู่เลย มันลำบากจริงไง 

ผมรับสารภาพเลยว่า ผมไม่เข้มแข็งเหมือนเมื่อก่อน เพราะสภาพจิตใจมันชอกช้ำใจ มันไม่ง่าย มันช้ำใจจากผู้คนที่เราเคยคุ้นเคย ผู้คนที่เรารู้จัก แล้วการต้องมารู้จักสิ่งใหม่ๆ มันก็ไม่ง่ายสำหรับคนอายุเยอะแล้ว อีกทั้งผมไม่เก่งภาษา ค่อนข้างที่จะโง่เขลาเบาปัญญาเลยด้วย ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้ และระหว่างที่อยู่ที่นี่ สภาพจิตใจมันก็ไม่ค่อยดี บางทีความจำมันก็ลบเลือนไปบ้าง 

พอเราได้มาเห็นสังคมของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีสิ่งดีๆ มากมาย ผมก็อยากให้บ้านเมืองของเราเป็นแบบนี้บ้าง เริ่มเข้าใจว่าทำไมญาติพี่น้องของเราลำบาก สงสารทั้งตัวเองสงสารทั้งประเทศไทย ขณะเดียวกัน คนที่เกิดมาเสวยสุขมีอำนาจ มันก็ไม่สนใจความลำบากของคน สนใจแค่พยายามรักษาอำนาจของตนเอาไว้ 

เมืองไทยมันเหมาะกับคนที่มีเงิน มีอำนาจ มีเส้นสาย มีพรรคมีพวก ถ้าคนไม่มีเงินไม่มีเส้นสายเเริ่มตื่นรู้ตระหนักรู้ ก็ยังมีโอกาสที่สังคมไทยเรามันจะดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าคนพวกนี้ก็กลับไปชื่นชมคนที่ทำร้ายประเทศ มันน่าเสียใจมาก 

ความฝันที่อยากเล่า ‘ความจริง’ 

ย้อนกลับไปวันที่ผมลงจากเครื่องบินที่ออสเตรเลีย จนถึงวันนี้ก็จะเข้า 9 ปีแล้ว ผมยังไม่ชินกับฤดูกาล เราเกิดเมืองร้อน แต่ผมจำไว้เสมอว่า ไม่มีเวลาให้กับความท้อถอย ผมอดทนรอที่จะนำเสนอความฝันของผม ผมจะนำความจริงของผมมาให้สังคมรับรู้ แล้วในที่สุดมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกลนำเสนอเรื่องผมในสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นก็มีสารคดีของผมออกมา มีผู้คนสนใจและเข้ามาให้กำลังใจ ทั้งผู้ที่ช่วยเหลือด้านต่างๆ กับครอบครัวผมด้วย ต้องขอบคุณมาก ๆ 

การเล่าความจริงมันเป็นความถูกต้องชอบธรรมตรงไปตรงมา เป็นเกาะกำบังผมมาจนทุกวันนี้ ทุกอย่างผมมีบันทึกไว้หมด ความจริงเท่านั้นที่ยังอยู่ ผมอยากขอบคุณทุกคนที่ทำให้ผมได้เล่าความจริง 

“ผมภูมิใจมากที่ทำความฝันสำเร็ต ฝันที่ผมอยากเล่าความจริงให้ทุกคนได้รับรู้ทั่วโลก เรื่องของผมเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่พบเจอความอยุติธรรมในสังคมประเทศไทย”