ตามที่กลุ่มสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยกว่า 100 คน ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้อง เพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบทวนแนวทางการจ้างงานใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนมาจ้างเหมาบริการ และตัดเงินสมทบประกันสังคม ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างกว่า 70,000 คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะสวัสดิการด้านสุขภาพ การคลอดบุตร และการรับเงินบำเหน็จบำนาญในวัยเกษียณ โดยเรียกร้องให้ใช้วิธีการจ้างแบบลูกจ้างชั่วคราว ขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามนโยบายรัฐ และขอปรับตำแหน่งเพื่อความมั่นคงในอาชีพของลูกจ้าง สพฐ.ทุกตำแหน่งนั้น
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย ที่ขอเปลี่ยน จากการจ้างเหมาบริการ เป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พร้อมเงินสมทบประกันสังคมทุกตำแหน่งนั้น ในประเด็นนี้ตนได้ทำหนังสือแจ้งขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก่อน ซึ่งหาก ก.พ.มีหนังสือแจ้งตอบกลับมาว่าเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทำเรื่องการขอเงินและจัดสิทธิประกันสังคมให้ต่อไป ส่วนเรื่องการขอปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาลที่ปรับฐานเงินเดือนตามคุณวุฒิก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาลอยู่แล้วที่จะปรับเงินเดือนให้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่ง สพฐ.ก็จะทำเรื่องเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาด้วยเช่นกัน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเงินสมทบประกันสังคมของกลุ่มลูกจ้างฯที่ขาดไปนั้น ขณะนี้สำนักงบประมาณได้จัดสรรเงินมาให้ แต่เป็นเงินค่าจ้างเหมาบริการอย่างเดียวตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง เพราะถ้าเราไปจ่ายเป็นเงินสมทบประกันสังคมอาจมีความผิดได้ ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนวิธีการจ้างก็คงต้องหารือกับสำนักงานประกันสังคมต่อไป แต่ตอนนี้เนื่องจากสำนักงบประมาณจัดงบมาให้ตามระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ระบุว่าลูกจ้างคือกลุ่มจ้างเหมาบริการจึงไม่สามารถจ่ายเงินประกันสังคมได้ ซึ่ง สพฐ.จึงต้องแจ้งเขตพื้นที่ให้รับทราบว่าเงินที่ได้รับการจัดสรรมาให้จ่ายเฉพาะเงินค่าจ้างเพียงอย่างเดียว.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่