นับตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้ตอนอายุ 10 ปีโดยประมาณ หนึ่งในภาพจำของผมก็คือ “ปฏิทิน” ปีใหม่ใน พ.ศ.นั้นที่พิมพ์ด้วยระบบ 4 สี เป็นรูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ “ทรงพู่ห้อย” ลอยลำอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง
แม้ระบบการพิมพ์จะยังไม่ใช่ระบบ “ออฟเซต” แต่ก็มีความชัดความคมและสวยงามสุดๆ ในทัศนะของเด็กชาย “สมชาย” แห่งอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
เมื่อผมโตขึ้นก็มีโอกาสได้เห็น “ภาพ” ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวาระสำคัญต่างๆอีกหลายครั้ง แม้จะเป็นภาพขาวดำบนหน้า 1 หนังสือพิมพ์ เพราะยุคโน้นหนังสือพิมพ์ยังเป็นระบบขาวดำ... แต่ความสง่างามของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ก็ยังเจิดจ้าอยู่ในความทรงจำของเด็กบ้านนอกเช่นผมมาโดยตลอด
ผมมาเริ่มรู้จักเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มากขึ้นก็เมื่อ พ.ศ.2501 ขณะเรียนหนังสือชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกกันว่า “ม.7” ที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท
วันหนึ่งในวิชาภาษาไทย...อาจารย์ท่านหนึ่งอาวุโสมากแล้ว นักเรียนเรียกท่านว่า “อาจารย์เจ้าคุณ” เพราะเคยรับราชการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท รัชกาลที่ 6 อยู่เป็นเวลานานจนได้รับพระราชทาน บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณ แต่น่าเสียดายที่จำราชทินนามของท่านมิได้
อาจารย์เจ้าคุณนำ “กาพย์เห่เรือ” ของ “เจ้าฟ้ากุ้ง” มาสอนให้พวกเราอ่านทำนองเสนาะและส่งเสียงเห่ตามไปด้วยจนจบบท รวมทั้งบทที่ว่า “สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” อันแสนไพเราะ
จากนั้นมากาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งก็กลายเป็นกาพย์ที่ผมชื่นชอบ เวลาเหงาๆก็จะท่องและเห่อยู่คนเดียวเสมอๆ
...
อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ.2503) ผมไปเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา และยุคนั้นเป็นยุคที่มีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและโบราณประเพณีต่างๆอย่างใหญ่หลวง รวมทั้ง ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ด้วย
จึงมีการซ้อมทั้งย่อยและใหญ่เป็นแรมเดือนเช่นเดียวกับปัจจุบัน...ส่งผลให้ผมที่ชอบไปนั่งริมฝั่งเจ้าพระยาหน้าตึกโดมบ่อยๆได้เห็น “ตัวจริง” ของ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นครั้งแรก
ทำให้ภาพจำของผมครบถ้วนสมบูรณ์เป็นครั้งแรกโดยเฉพาะภาพ “ลอยหลังสินธุ์” ของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นั้น ช่างงดงามและองอาจสมกับที่ “เจ้าฟ้ากุ้ง” ทรงบรรยายไว้ทุกประการ
หลังจากนั้นแม้จะเรียนจบและต้องออกไปทำงานไกลแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ผมก็ยังติดตามชมขบวนพยุหยาตราในพระราชพิธีต่างๆอยู่เนืองๆ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจบ้าง ตามข่าวหรือภาพในหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง
ดังนั้น จึงรู้สึกปีติและตื้นตันใจอย่างเหลือล้นที่ได้มีโอกาสชมการถ่ายทอดสดพิธีพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ณ วัดอรุณราชวราราม อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
พบว่าไม่เพียงแต่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ที่ยังทรงลอยล่องอย่างโดดเด่นเท่านั้น ขบวนเรือทั้ง 52 ลำก็ยิ่งใหญ่อลังการและงดงามเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างสุดพรรณนาได้
แม้เนื้อหาของกาพย์ปัจจุบันจะเปลี่ยนไปบ้าง จาก “สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย...งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์” เป็น “สุพรรณหงส์ทรงลอยล่องงามผุดผ่องล่องลอยลำ”
แต่ความสง่างามของเรือพระที่นั่ง “สุพรรณหงส์” ก็ยังคงเหมือนเดิม...และจะเหมือนเดิมเคียงคู่ประเทศไทยไปตลอดกาลนาน.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม