ในช่วงหลายปีมานี้ “การผูกขาดเศรษฐกิจในไทย” ถูกใช้เป็นช่องทางลักแสวงหากําไรสามารถจำกัดผลผลิตกำหนดราคาสินค้าออกสู่ “ตลาด” ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเกิดปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น
เพราะกลไกการผูกขาดกลุ่มทุนนั้น “ก่อเกิดขึ้นโดยรัฐเข้าไปอุปถัมภ์” ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์โดยตรงอย่างการให้สัมปทานต่อเนื่องยาวนาน ทั้งยังมีการผูกขาดโดยรัฐยินยอมตามกติกาแห่งกฎหมายหากกลุ่มทุนจะควบรวมกิจการ หรือมีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันต้องขออนุญาตจากรัฐก่อน
อย่างการอนุญาตกิจการควบรวมการค้าปลีก หรือการควบรวมกิจการโทรคมนาคมต่างๆ ฉะนั้นรัฐมีอำนาจตามกฎหมายจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ “สุดท้ายก็อนุญาตให้กลุ่มทุนใหญ่” ทำให้การผูกขาดเพิ่มมากขึ้น
ไม่เท่านั้นยังมี “การผูกขาดของกลุ่มทุนโดยรัฐทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น” ในการควบรวมกิจการกันไป หรือมีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันโดยรัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยตรง อย่างกรณีโรงพยาบาลที่ควบรวมกัน ทำให้ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศเสรีในการผูกขาดจนต้องตกอยู่ในสภาวะคล้ายๆ “รัฐ” มีการขูดรีดในที่สุด
...
โดยไม่มีการสร้างงานด้านเศรษฐกิจกลับนำไปใช้เป็นเครื่องมือให้ทุนใหญ่แสวงหาผลประโยชน์เอาเปรียบกลุ่มทุนขนาดเล็ก เอาเปรียบประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจทำมาหากินฝืดเคือง
กลายเป็นส่งผลต่อ “การเติบโตเศรษฐกิจเดินไปอย่างช้าๆ” เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวได้ “ต้องมีการแข่งขันในตลาด” เรื่องนี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความอึดอัดคับข้องใจจนรู้สึกทำมาหากินไม่ได้ “ประชาธิปไตยก็ไม่ค่อยดี” ทำให้เกิด ปรากฏการณ์คนไทยอยากออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นถึง 1.5 ล้านคน
อันเป็นสัญญาณเตือน “เศรษฐกิจ และการเมือง” กำลังทำให้คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ต่างรู้สึกว่า “ประเทศไม่น่าอยู่” ดังนั้นการแก้โจทย์จำเป็นต้องทำควบคู่ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ที่สะท้อนผ่านความเห็นจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย บอกว่า
การเมืองระบอบประชาธิปไตยมักมาควบคู่กับการมีตลาดเสรีทางเศรษฐกิจ “ตามประวัติศาสตร์” ตลาดเสรีก็ทำให้เกิดนายทุนขนาดเล็ก “อันมีผลประโยชน์ทางการค้า” แล้วพยายามรักษาผลประโยชน์ตัวเองในการผลักดัน “การมีประชาธิปไตย และการมีนิติรัฐ” เพื่อคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน และคุ้มครองการทำสัญญาต่างๆ
เหตุนี้ทำให้ “ประชาธิปไตย และตลาดเสรี” เป็นของควบคู่หนุนเสริมกันเปรียบเสมือน “คู่สมรสแต่งงานต้องครองคู่กันไป” เพียงแต่บางคู่สมรสก็มักไปด้วยกันได้ยาก เพราะการเมือง (รัฐ) ครอบงำกลุ่มทุน หรือกลุ่มทุนเข้าไปครอบงำการเมือง แล้วปัจจุบันประเทศไทยก็กำลังเผชิญอยู่ใน 2 สภาพนี้ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ
จนทำให้เห็นปรากฏการณ์ “กลุ่มทุนเข้ามามีส่วนร่วมจัดตั้งรัฐบาล” หากตามข่าวจะพบกลุ่มทุนบางกลุ่มเข้ามาเป็นเจ้าภาพประสานให้ “การเมืองเกิดขึ้น” เมื่อจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็จะเห็น “ผู้นำทางการเมือง” เรียกกลุ่มทุนบางคนเข้ามาสยบยอม หรือแสดงความยินดีตามเวทีต่างๆ เพื่อจะเป็นการเอื้อต่อไป
เรื่องนี้เป็นปัญหาต่อ “ประชาธิปไตย และการค้าเสรีที่มีความสมดุลแบบย่ำแย่” ทำให้เกิดการผูกขาดเศรษฐกิจกับคนมีอำนาจทางการเมืองไม่กี่ราย เช่นนี้เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และ ครป.จัดเสวนาหัวข้อปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดประเทศไทย การเมืองและกฎหมายจะกำกับกลุ่มทุนได้อย่างไร มีความเหมาะสมดีมาก
แล้วโมเดลเรื่องนี้ที่น่าจะนำมาศึกษาคือ “บทเรียนในสหรัฐอเมริกา” เพราะเป็นประเทศประชาธิปไตยอันมีปัญหาผูกขาดทางด้านเศรษฐกิจจนถูกแก้ไขผ่านมา 100 กว่าปี โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษปี ค.ศ.1800-ค.ศ.1900 “สหรัฐฯ” ที่ดูเหมือนเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าแต่ก็เฉพาะคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
...
คราวนั้นเกิดการผูกขาดจาก “กลุ่มอภิมหาเศรษฐี” ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน ผู้บริโภค แรงงาน และเกษตรกรรมจำนวนมาก เช่น การผูกขาดระบบขนส่งทางรถไฟจนเกษตรกรถูกโก่งราคาก่อเกิดการรวมตัวประท้วงแล้วเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ “พรรคการเมือง” ประกาศสู้กับกลุ่มทุนออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาด
โดยได้รับฉันทานุมัติจาก “สภา” ซึ่งสถานการณ์ในสหรัฐฯ ตอนนั้นก็คล้ายกับประเทศไทยในเวลานี้แม้มีกฎหมายการต่อต้านการผูกขาดกลับไม่บังคับใช้กฎหมาย เพราะอำนาจการบังคับใช้ตัวจริงอยู่ภายใต้ดุลพินิจของรัฐอันเป็นฝ่ายเดียวกับ “ทุน” คราวนั้นแม้แต่ “ศาล” หากกรณีมีปัญหาก็มักจะไม่เป็นคุณต่อผู้บริโภคด้วยซ้ำ
เหตุการณ์เหล่านี้ก่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงนำมาสู่ “การ เปลี่ยนผ่านสู่ยุคก้าวหน้าใน ค.ศ.1901” เริ่มบังคับใช้กฎหมายจริงจังและมีการรณรงค์ปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ “ก่อเกิดการสลายการผูกขาด” จนปัจจุบันสังคมในสหรัฐฯ จะเห็นว่าเศรษฐีมักอยู่ในสถานะไม่ได้ยอมรับจากประชาชน และไม่สามารถเสวยสุขอย่างมีเกียรติได้
...
สุดท้ายเศรษฐีสหรัฐฯ “ต้องมาตั้งมูลนิธิเพื่อทำการกุศลในเมืองใหญ่” เพื่อสาธารณประโยชน์ขึ้น สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสหรัฐฯ จากยุคการผูกขาดเสรีมาสู่ยุคการก้าวหน้าได้ด้วยตัวแปรสำคัญคือ “ความตื่นตัวของผู้ได้รับถูกคุกคามรวมตัวกัน” สร้างเป็นแนวร่วมภาคประชาชนอันเป็นกุญแจในการแก้การผูกขาด
เช่นนั้นภาคประชาชนต้องมีความเข้มแข็งร่วมกัน “ตั้งพรรคของประชาชน” เพื่อรณรงค์อย่างเข้มข้นไม่ยอมรับอภิมหาเศรษฐีที่เติบโตจากการผูกขาดอย่างการทำรายชื่อธุรกิจที่ทุนผูกขาดไปถือหุ้นอยู่เพราะบางธุรกิจเราอาจจะเลือกไม่ได้ เช่น กรณีโทรศัพท์มือถือแต่หลายอย่างเรามีทางเลือกได้ เช่น ปฏิเสธสนับสนุนธุรกิจผูกขาดร้านกาแฟ
ทั้งต้องรณรงค์ในสังคมควรเลิกเชิดชูบรรดาเจ้าสัวทุนผูกขาดที่ร่ำรวยเติบโตจากการเอารัดเอาเปรียบประชาชน และมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องให้ปริญญากิตติมศักดิ์อันจะเป็นการแสดงสัญลักษณ์การยอมรับทุนผูกขาดนั้น
ดั่งคำพูดออนอเร เดอ บาลซัก นักเขียนฝรั่งเศสว่า “เบื้องหลังความร่ำรวยลึกล้ำคือ อาชญากรรมยิ่งใหญ่” ดังนั้นเราต้องหนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมภาคีระหว่างประเทศที่ส่งเสริมธรรมาภิบาล และลดการผูกขาด เช่น การเข้าร่วมเป็นสมาชิก “โออีซีดี” อันจะเป็นการเสริมสร้างต่อการต้านทานการผูกขาดในประเทศได้
...
ย้ำว่าพลังประชาชนมีความสำคัญอย่างมากต่อ “การตรวจสอบนักธุรกิจ เจ้าสัว หรือนักการเมือง” ทั้งยังสามารถผลักดันการออกกฎหมายควบคุมการทำธุรกิจแบบผูกขาดได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม