ประเทศไทยยังเป็น “ปลายทางนำเข้าขยะ” เมื่อกรมศุลกากรตรวจพบการสำแดงกระดาษใช้แล้วไม่ได้ฟอกร้อยกว่าตันซุกขยะเทศบาล ขยะติดเชื้อ ขยะพลาสติกอันเป็นของเสียต้องห้ามกฎหมายไทย
แต่คราวนี้ก็มิใช่ครั้งแรกก่อนหน้านี้เดือน ส.ค.2567 “เรือบรรทุกฝุ่นแดง” ก็พยายามเข้ามาในไทยจนถูกสกัดผลักดันกลับประเทศต้นทางแล้วยังมี “โรงงานจีนใน จ.นครปฐม” ลักลอบนำเข้าอะลูมิเนียมดรอสจำนวนมากอีก
สะท้อนให้เห็นถึง “ประเทศไทย” ยังเป็นปลายทางการนำเข้าขยะหลายชนิด ทั้งที่สิ้นปี 2567 เป็นต้นไป “จะห้ามเศษพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร” ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2566 เว้นแต่นำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากรช่วงปี 2566-2567 ที่อนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนดไว้
คำถามว่าทำไมเส้นทางเคลื่อนย้ายขยะจากต่างประเทศมักพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงเมื่อขยะโลกหลั่งไหลเข้าไทยเราจะรอดพ้นสถานการณ์อย่างไร ว่า ปัญหานำเข้าเศษพลาสติกมาในไทยมากมาจาก “รัฐบาลจีนสั่งห้ามนำขยะเข้าประเทศ” เพื่อแก้ไขสิ่งแวดล้อมมลพิษทางอากาศ
...
เหตุผลนี้ “ธุรกิจรีไซเคิลในจีนหลายเจ้า” เลือกย้ายฐานผลิตมายังประเทศอาเซียน กลายเป็นเส้นทางการค้าขยะพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ กระดาษใช้แล้ว และขยะอุตสาหกรรมอันตรายถูกส่งออกมาจากกลุ่มประเทศ OECD มีสมาชิก 38 ประเทศ ส่วนใหญ่มักเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
สาเหตุหลัก “ประเทศไทย” ตกเป็นเป้านำเข้าขยะเพิ่มขึ้นรวดเร็วมีผลต่อเนื่องจากข้อตกลงการค้าเสรี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่แฝงจุดมุ่งหมายเปิดการเคลื่อนย้ายขยะจากประเทศร่ำรวยกำจัดเองไม่ได้ ถูกส่งออกไปกำจัดที่ประเทศยากจนกว่าหรือไม่
ด้วยความตกลงนี้เหมือนนิยามให้ “ขยะเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง” ทำให้ขยะอันตรายเป็นสินค้าพิกัดศุลกากรจากทั่วโลกสามารถส่งมาในไทยได้กลายเป็นข้อห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม “ประเทศไทย” จึงออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ อันเป็นความพยายามควบคุมการนำเข้าขยะที่เกิดจากปัจจัยระหว่างประเทศ
แต่ถ้าย้อนมาดู “ปัจจัยในประเทศ” โดยเฉพาะนโยบายของไทยกลับมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิล ด้วยการเปิดกว้างให้ตั้งโรงงานรีไซเคิล คัดแยกขยะ และการกำจัดของเสียมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับ “จีนห้ามนำเข้าขยะ” ทำให้ไทยเปิดรับมาเพื่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลคัดแยกขยะ “ต้องการสร้างรายได้ให้คนในประเทศ” ทั้งใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าใหม่จนกระตุ้นให้เกิดโรงงานรีไซเคิลขึ้นมากมาย
เท่าที่สอบถาม “กรมศุลกากร” สำหรับความพยายามการนำเข้าขยะมาในไทยช่วงไม่กี่ปี นี้เริ่มปรากฏพบการซุกซ่อนขยะเทศบาล ขยะติดเชื้อ และขยะอื่นๆปะปนมากับกระดาษใช้แล้วในตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจาก “การส่งเสริมสร้างโรงไฟฟ้าใช้ขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิง” แล้วก็ส่งเสริมให้ใช้ขยะอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าอีก “จนเกิดความขัดแย้งหลายจังหวัด” เพราะพื้นที่บางแห่งในการตั้งโรงไฟฟ้าไม่ได้ก่อเกิดขยะจำนวนมาก “จนต้องมาสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น” กลายเป็นว่าชุมชนต้องอยู่กับมลพิษแทน
เหตุนี้ทำให้ปัญหาขยะลุกลามเป็นความขัดแย้งทางสังคม แถมก่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นลูกโซ่ตามมามากมาย ดังนั้นการส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ขยะบางพื้นที่ที่เก็บรวบรวมไม่ดีก็ไม่สามารถส่งเข้าระบบเผาได้ทั้งหมด “ก็จะเกิดการเปิดช่องให้นำเข้าขยะ” เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในประเทศต่อไป
...
ถ้ากลับมาส่องดู “การส่งออกขยะกลุ่ม OECD” โดยเฉพาะสมาชิก EU มาตั้งแต่ปี 2564 มีขยะเข้ามาในไทยสูงจนเป็นปลายทางสำคัญ “การส่งออกขยะกระดาษ และกระดาษแข็งอันดับ 3” ที่รองจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม “แถมเป็นปลายทางอันดับ 4 ของขยะ E-waste จากยุโรป” รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย
แล้วเท่าที่ติดตามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ “ประเทศไทย” ยังคงมีการนำเข้าสูงสำหรับพิกัด 8548 ที่ยังไม่ห้ามนำเข้าตามอนุสัญญาบาเซลฯ “ปัจจุบันสหรัฐฯเป็นประเทศส่งออกมาสูงสุด” ทำให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการห้ามก็ยังมีการซุกสำแดงเท็จนำเข้ามาเหมือนขยะเทศบาลอยู่เช่นเดิม
ทว่าการนำเข้าขยะนี้ “ทำผิดกฎหมายไทย” ตั้งแต่ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 (วัตถุอันตรายชนิดที่ 3) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบัญชีวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้านำเข้าราชอาณาจักร พ.ศ.2563 และอนุสัญญาบาเซลฯ ห้ามเคลื่อนย้ายข้ามแดนและกำจัดของเสียอันตราย
ลักษณะทำผิดพบบ่อยคือ “สำแดงเท็จ ซุกซ่อนปะปนมากับสินค้าที่ใกล้เคียงกัน” จนยากต่อการตรวจสอบแล้วก็มีการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงไม่ระบุบริษัทต้นทาง-บริษัทปลายทาง และตั้งข้อสังเกตมีการจ้างขนขยะเทศบาล ขยะติดเชื้อเข้ามา ทำให้ไทยแบกรับต้นทุนความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายน้อย
...
“เราห่วงใยไทยกำลังถูกใช้เป็นฐานส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิล และเศษโลหะอันจะก่อมลพิษสูงอย่างปี 2560-2567 นำเข้าอะลูมิเนียมหลายล้านตันจนมีการเพิ่มขึ้น โรงงานไม่มีมาตรฐาน โรงงานเถื่อนทั้งโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิล โรงงานกำจัดของเสีย และการก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมซับซ้อนรุนแรงมากขึ้น” เพ็ญโฉม ว่า
แน่นอนผลกระทบ “ย่อมสร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยชีวิตสุขภาพของประชาชน” จากปัญหาฝุ่น PM2.5 มลพิษอากาศ หรือการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดินพื้นที่เกษตร
ดังนั้นเสนอ “รัฐบาล” ควรบังคับใช้กฎหมายมาตรการลงโทษจริงจังให้เป็นกรณีตัวอย่าง มิเช่นนั้นประเทศไทยจะหนีไม่พ้นจากการเป็นถังขยะหรือเป็นแหล่งรองรับขยะจากหลายประเทศได้ รวมถึงเพิ่มมาตรฐานระบบโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิลขยะ ด้านสิ่งแวดล้อมควบคุมมลพิษ และการตรวจสอบมาตรฐานโรงงานทุกแห่ง
ทั้งทบทวนเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศด้วยความระมัดระวังไม่นำไปสู่เพิ่มโอกาสนำเข้าขยะอีก สำหรับบริษัทนำเข้าก็ควรรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามกฎหมายและรับผิดชอบต่อการทำผิด
นี่เป็นความเสี่ยงหาก “ไม่บังคบใช้กฎหมาย กำกับ ควบคุม ห้ามนำเข้าขยะจริงจัง” จะทำให้บ้านเราตกเป็นแหล่งรองรับขยะจากหลายประเทศจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นจากปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความไม่มั่นใจในการลงทุนของต่างชาติขึ้นได้...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม