ผู้หญิงมากกว่า 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกคุกคามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ข้อมูลที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุในรายงานจากการศึกษาเรื่องความรุนแรงในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จาก 161 ประเทศช่วงปี 2000-2018

ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้หญิงผู้ถูกกระทำที่เปิดเผยผ่านระบบต่างๆ ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นได้ในทุกวงการ ทุกวิชาชีพ ทั้งยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปกปิดซ่อนเร้น

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จึงระดมความร่วมมือกับองค์กรด้านการกีฬา นำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” นำร่องใน 21 สมาคมกีฬาและภาคีเครือข่ายกว่า 40 หน่วยงาน

...

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อร่วมกันผลักดันสิทธิความเท่าเทียมและปกป้องการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา ทำให้การกีฬาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนภารกิจการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิและความแตกต่างหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง

ขณะที่ ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการ Kick-off ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงการกีฬา นำปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ หยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญทางสังคม และร่วมกันผลักดันมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศให้เกิดขึ้นในวงการกีฬาบ้านเรา สร้างบรรยากาศการทำงานและการแข่งขันที่เคารพในสิทธิมนุษยชนนำไปสู่ Safe Sport ที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเยียวยา การแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ด้าน นางสุดา สุหลง รองอธิบดี สค. กล่าวว่า ปี 2563 มติ ครม.เห็นชอบให้ สค.ตั้งศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) แต่ที่ผ่านมามีเคสที่เข้ามาขอความช่วยเหลือค่อนข้างน้อย อย่างที่ทราบการคุกคามทางเพศเหมือนเป็นภัยมืด ภัยเงียบ บางครั้งผู้ถูกกระทำไม่กล้าบอกกล่าวให้คนอื่นทราบ สิ่งที่เราคำนึงมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเยาวชนนักกีฬาซึ่งอาจจะถูกล่วงละเมิด ที่สำคัญคือถูกกระทำซ้ำโดยไม่มีใครช่วยเหลือคุ้มครองได้ ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่จุดประกายเรื่องนี้ให้กับ พม. จน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศในวงการกีฬา มี รมว.พม.เป็นที่ปรึกษา ระยะต่อไปจะตั้งคณะทำงานอีก 3 ด้านคือ ด้านการสร้างความตระหนักรู้ ด้านการช่วยเหลือเยียวยาและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิให้กับผู้เสียหาย และการจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์

...

ส่วน นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ทั้งผู้ฝึกสอน นักกีฬาด้วยกันเอง บุคลากรอื่นไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกายภาพ หมอนวด ล้วนมีโอกาสสัมผัสต้องตัวนักกีฬา แต่ ทำอย่างไรให้เป็นการกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นการล่วงล้ำซึ่งกัน และกัน เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในวงการกีฬา จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ 21 สมาคมกีฬาและกว่า 40 เครือข่ายมาร่วมลงนามครั้งนี้ ซึ่ง กกท.จะส่งข้อมูลชักชวนสมาคมต่างๆเป็นแนวร่วมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นอีกประเด็นที่จะผลักดัน โดยจะนำมาเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประเมินมาตรฐานของสมาคมกีฬาต่อไป

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่งที่หยิบยกปัญหาการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบในวงการกีฬาเป็นวาระสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องแก้ไขและมีมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วน

หยุดสร้างบาดแผลจากการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะการถูกกระทำซ้ำ จนกลายเป็นเนื้อร้ายบั่นทอนอนาคตนักกีฬา

ถึงเวลาสร้าง Safe Sport ที่เป็นรูปธรรมกันเสียที.


ทีมข่าวการพัฒนาสังคม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่