เมื่อไม่นานมานี้มีข้อมูลตอกย้ำเตือนภัย “โควิด-19” ระบุ “คนไทยติดและตายจากโควิดสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังเสี่ยงสูง หมอย้ำวัคซีนยังจำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง”
สะท้อนข้อมูลการระบาดของโควิดยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (16 ก.ย.67) มีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 ราย และ เสียชีวิต 205 ราย ถือว่าเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยประมาณ 490,000 ราย และเสียชีวิต 36 รายแล้ว โควิด...ถือว่ามีความรุนแรงที่มากกว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตที่มากกว่าอย่างชัดเจน โดยผู้เสียชีวิตนั้นร้อยละ 80-90 เป็นผู้อยู่ ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่ม 608
ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ด้วย
...
คีย์เวิร์ดสำคัญมีว่า “การที่ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนานถึงแม้หลายๆคนอาจเคยติดเชื้อไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไป สาเหตุต่างๆเหล่านี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง...ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เกิดโรครุนแรงภาวะแทรกซ้อนได้”
เพราะเมื่อกลุ่มที่กล่าวมาแล้วข้างต้นป่วยเป็นโควิด มีความ เสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วม ไม่เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่
เพราะ...“โควิด” ไม่ใช่โรคของ “ทางเดินหายใจ” เท่านั้น แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่างๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้...อันตรายของโควิด-19 ที่รับรู้โดยทั่วไปคือเมื่อลงปอด จะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หืด ปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่แล้ว เมื่อเชื้อลงปอดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาได้
เน้นย้ำว่า...โควิดส่งผลกระทบได้กับทุกอวัยวะ อาจก่อให้เกิดผลกระทบเหมือนเป็นลูกโซ่ต่อทั้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ในหลายๆระบบ แม้กระทั่งผู้ไม่ได้มีโรคประจำตัวมาก่อน ก็พบว่าโรคบางโรคเพิ่มสูงขึ้นหลังหายจากโควิดแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด ฯลฯ
เมื่อถามว่า “วัคซีน” ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? ก็มีข้อยืนยันว่าวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ “โควิด–19”...มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
โดยข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้
ปัญหามีว่า...คนไม่น้อยก็มีข้อมูลสวนทางถึง “ความเสี่ยง” ที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกัน “โควิด–19” โดยเฉพาะ “ผลข้างเคียง” ต่างๆที่จะตามมา นี่คือตัวอย่างมุมมองจากบางท่าน...ที่เกริ่นกล่าวเอาไว้
“ส่วนตัวไม่ติดโควิดเลย ป้องกันตัวเองทุกทาง แต่หลังจากรับวัคซีน.....มา 3 เข็มยังรู้สึกว่าร่างกายตัวเองไม่ปกติ เหมือนภูมิต่ำลง ร่างกายมันไม่เหมือนเดิม”
“ตั้งแต่ฉีดมาชอบมีอาการเจ็บยอกแปลบๆหน้าอกฝั่งซ้าย เคยไปหาหมอครั้งนึงเค้าบอกเป็นที่การอักเสบจากการยกของหนัก ทั้งที่ไม่ได้ยกอะไรเลย เครียดมาจนทุกวันนี้ 55”...“ผมเป็นลิ่มเลือดอุดตัน เพราะแอ...2 ไฟ...2”...“ฉีดแล้วซมเลยค่า เดินยังไม่ค่อยจะไหว”
...
“ตอนนี้เริ่มกลัววัคซีนแล้วค่ะจากร่างกายแข็งแรงปกติ หลังจากฉีดผลข้างเคียงเป็นภูมิแพ้เยอะมาก หายใจเหนื่อยง่าย”...“ฉีดแค่ 3 เข็ม สุขภาพยังแย่ลงอย่างชัดเจน ปวดไปทั่วร่างกาย ผมร่วงไป 30-40% และไม่มีอาการว่าจะดีขึ้นเลย มีแต่แย่ลง ฉีดแล้ว ก็ยังติดโควิด 2 ครั้ง เป็นวัคซีนที่น่ากลัวมากกว่าตัวโรคเสียอีก”
“ฉีดไข้หวัดใหญ่ทุกปียังรู้สึกว่าปลอดภัยกว่าวันซีนโควิดมากค่ะ ฉีดโควิดมาสองเข็มสุขภาพดูแย่ลงมาก แค่หายใจเดินก็เหนื่อยง่าย”...ประเด็นสำคัญมีว่า สุ้มเสียงเหล่านี้สื่อสะท้อนให้เห็นว่าร่างกายของหลายท่านที่ไปรับวัคซีนมา...เริ่มเตือนว่า มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีตามที่เค้าว่ากัน
“หมอดื้อ” หรือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดมุมมองนี้ไว้อยู่เรื่อยๆ อย่างกรณีล่าสุดในเรื่องหัวใจอักเสบคุกรุ่น “แม้ไม่มีอาการ” หลังฉีด “...สาเหตุตายกะทันหันถูกปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ปรากฏการณ์ตายกะทันหัน เกิดขึ้นได้ทุกอายุ ทุกเพศ หลังฉีด และจากการพิสูจน์ศพ พบมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นหย่อมๆ และอาจทำให้เชื่อมโยงกับการที่มีการขัดขวางไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้น”
...
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาที่พบว่า “หัวใจ” ยังคงแสดงลักษณะอักเสบมีแผลเป็นอยู่หลังจากฉีดวัคซีน mRNA นานกว่า 12 เดือนด้วยซ้ำ ทั้งที่ตั้งแต่แรกฉีดจะมีอาการหรือไม่มีอาการ หรือบางรายมีผลแต่เลือดผิดปกติอยู่บ้างจากรายงานของออสเตรเลียและแคนาดา
ถึงตรงนี้สิ่งสำคัญต้องประเมินว่าเทคโนโลยีที่ใช้เหมาะสมหรือไม่...สมควรหรือไม่ที่ต้องมีการระงับไว้ก่อนและปรับปรุง? และ...ต้องมีการเยียวยาครอบครัวที่สูญเสีย ทรมานกับอาการต่างๆ?
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม