วันเสาร์สบายๆ วันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “อนาคตของมนุษย์ในยุคเอไอ” กันนะครับ เมื่อต้นเดือนนี้ สถาบันเพื่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (IAL) และ สถาบันทักษะแห่งอนาคตของสิงคโปร์ Skills Future Singapore (SSG) ได้จัดประชุมเรื่อง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” Global Lifelong Learning Summit 2024 (GLLS 2024) ในหัวข้อ “ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ในยุคเอไอ : มุมมองการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยมีผู้นำภาคอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำเทคโนโลยี จากทั่วโลกกว่า 400 คน เข้าร่วมประชุม

ผมอ่านชื่อธีมการจัดงานก็รู้สึกเร้าใจแล้ว นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกฯใหม่สิงคโปร์ ที่เพิ่งสร้างความประทับใจไปทั่วโลกด้วยการนั่ง สายการบินโลว์คอสต์ Scoot ของสิงคโปร์ ไปร่วมการประชุม อาเซียนซัมมิต ที่ สปป.ลาว ขณะที่นายกฯ ไทยใช้เครื่องบินลำใหญ่ของกองทัพอากาศ ได้ประกาศให้ “การพัฒนาคนแบบยกแผง” เป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาล

นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีศึกษาสิงคโปร์ ได้แสดงสุนทรพจน์ในงานว่า มีคนกังวลว่าเอไอจะสร้างความปั่นป่วนให้กับชีวิต การทำงาน ระบบการศึกษา เผลอๆอาจเกี่ยวข้องกับทุกมิติในชีวิตแต่เวลาเดียวกันก็มีโอกาสใหม่ๆ อันทรงคุณค่าให้เราเสมอ เวที GLLS 2024 เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ประการ (1) เอไอกำลังเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างเห็นได้ชัด ไอเอ็มเอฟประเมินว่า การจ้างงานทั่วโลกเกือบ 40% จะได้รับผลกระทบ หากเป็นเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าจะเพิ่มเป็น 60% เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจซ้ำๆ แม้แต่งานสร้างสรรค์อย่างงานเขียนหรือการผลิตสื่อที่ต้องอาศัยความคิดริเริ่ม จินตนาการ และการแสดงออกทางศิลปะ ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเอไอลอกเลียนแบบหรือจำลองได้ยาก แต่วันนี้ก็ได้รับผลกระทบจาก Generative AI แล้ว

...

ทั้งหมดนี้ รัฐมนตรีชาน เห็นว่า ไม่ใช่จะเลวร้ายเสียทีเดียว แต่ยังมีโอกาสมหาศาลด้วย งานใหม่ที่จะเกิดขึ้น ต้องการทักษะมนุษย์มาใช้จัดการกับโครงสร้างพื้นฐานของเอไอ การใช้เอไอจะช่วยให้คนมุ่งเน้นในหน้าที่หลักได้มากกว่าเดิม เช่น การใช้ดุลพินิจ ยิ่งเราใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณของมนุษย์มากขึ้น เพื่อให้ถูกต้องตามจริยธรรม

การเปลี่ยนแปลงประการที่ (2) คือ เทคโนโลยีการศึกษา กำลังเปลี่ยนวิธีจัดการศึกษาและการฝึกฝนทักษะอย่างรวดเร็ว เช่น ห้องเรียนแบบดั้งเดิม มักเจอปัญหาคลาสสิก 3 ประการ คือ ไม่สามารถสอนนักเรียนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้พร้อมกัน ถ้าต้องการคุณภาพกับนักเรียนจำนวนมาก อาจะต้องใช้ต้นทุนสูง เมื่อเปลี่ยนไปสู่การเรียนแบบผสมผสานระหว่าง “ห้องเรียนจริง” กับ “ห้องเรียนดิจิทัล” ก็สามารถทลายทางตัน 3 ประการนี้ได้

เขียนถึงห้องเรียนแล้วผมก็อดคิดถึง “โรงเรียนไอซียู” ที่ กระทรวงศึกษาไทย จะปิดกันหลายร้อยแห่งทั่วประเทศไม่ได้ ทำให้เด็กชนบทห่างไกล “ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่เกิด” โดยไม่มีทางเลือก เป็นการทำลายอนาคตของชาติที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง

รัฐมนตรีชาน ยังได้พูดถึง การใช้ประโยชน์จากเอไอในฐานะตัวเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ว่า ทุกคนต้องเรียนรู้การใช้เอไออย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม ไม่มุ่งเน้นเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลและเอไอจนลืมทักษะสำคัญอื่นของมนุษย์ เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ ความร่วมมือ การเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องหล่อเลี้ยงด้วย จิตวิญญาณของความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งต้องบ่มเพาะมาตั้งแต่อายุยังน้อย “ทุนมนุษย์คือหัวใจของธุรกิจ” แต่การเรียนรู้ต้องเหมาะสมกับภูมิหลังของแต่ละคน ไม่ใช่ทุกคนเรียนเหมือนกันหมด

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้พัฒนาแอปโดยใช้เอไอ ช่วยศิษย์เก่าเลือกหลักสูตรเพิ่มทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละคนผมคิดว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยก็ควรจะทำ

สิงคโปร์ ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่เจริญรุ่งเรืองด้วยการสร้าง “คนที่มีคุณภาพ” ขึ้นมาเป็นทรัพยากร บางประเทศมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก กลับยากจนเพราะเต็มไปด้วย “คนที่ไม่มีคุณภาพ” โดยเฉพาะคุณภาพนักการเมืองที่ถดถอยลงทุกวัน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม