เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมการฟื้นฟูช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ในโครงการ 10 วันสร้าง 10 วันซ่อม รวมถึงมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเข้าไปสำรวจโรงเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 นี้ด้วย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงนโยบาย “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้จำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ซึ่งข้อมูลนักเรียนจากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบเด็กหลุดระบบการศึกษาในภาพรวม 1.02 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเด็กหลุดระบบการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 699,112 คน เป็นเด็กในระบบของ สพฐ. อยู่จำนวน 85,259 คน โดยตนได้สั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษาสำรวจเด็กที่หลุดระบบการศึกษาให้เจอว่าหายไปจากระบบการศึกษาแล้วไปอยู่ตรงไหนทำอะไร เพื่อดำเนินการจัดระบบการค้นหาให้เด็กกลับเข้ามาเรียน หรือหากพบเด็กไม่สะดวกที่จะกลับมาเรียนต่อ ก็ต้องพาการศึกษาไปหาเด็กให้ได้ โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกมิติ สร้างระบบส่งต่อ พาเด็กเยาวชนกลับสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตเป็นรายบุคคลเพื่อการเปิดประตูสู่อาชีพที่ดี
“ผมได้เสนอทบทวนเกณฑ์การย้ายข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้สอน เนื่องจากพบว่า เกณฑ์การย้ายครูในปัจจุบันไม่ได้กำหนดสัดส่วนครูที่ขอย้ายกับเด็กใหม่ที่สอบบรรจุขึ้นบัญชีไว้ ส่งผลให้หลายเขตพื้นที่รับย้ายเกือบ 100% และทำให้เด็กใหม่ที่สอบขึ้นบัญชีครูผู้ช่วยไว้ขาดโอกาสในการบรรจุ ดังนั้น สพฐ.กำลังหาวิธีสร้างความสมดุลที่สุดของการย้ายครูที่เหมาะสมต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุกล่าว.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่