สืบเนื่องจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีพันธกิจในการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ ไฟป่า หมอกควัน และพายุลูกเห็บ โดยได้เผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้า สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที จึงมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นการพัฒนาเครือข่ายงานวิจัยและงานวิชาการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศให้ทันสมัยตามยุคเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน และทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งหวังให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีความแม่นยำ ถูกที่ ถูกเวลา และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ภายใต้กรอบดำเนินงานความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคีของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน คณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ หรือ “ASEAN SCMG” ได้เห็นความสำคัญและผลักดันการดำเนินความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน โดย “ASEAN SCMG” พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งมีการทดลองและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 55 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ควบคู่กับการพัฒนาและต่อยอดด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีมติและเห็นชอบร่วมกันเมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2566 ให้ประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นผู้ประสานงานหลักและฝ่ายเลขานุการถาวรของศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน หรือ “AWMC” อันจะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ดำเนินกิจกรรม และหารือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดตั้งสำนักงานของ “AWMC” ในประเทศไทย
ในฐานะฝ่ายเลขานุการถาวรของ “AWMC” กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2567 อันเป็นการดำเนินกิจกรรมแรกภายใต้ “AWMC” เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศในปี พ.ศ. 2561 และการอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการดัดแปรสภาพอากาศในปี พ.ศ. 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18–22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร โรงแรมดีวารี พัทยา และการศึกษาดูงานในพื้นที่ภาคตะวันออก มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 95 ราย ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายไทย ได้แก่ นักวิชาการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 65 ราย และผู้แทนหน่วยงานความร่วมมือ จำนวน 11 ราย ในส่วนของผู้แทนจากต่างประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 22 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ มองโกเลีย ศรีลังกา และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมุ่งหวังให้การประชุมนี้เป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนา วิจัยและปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ตลอดจนร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานภายใต้ “AWMC” โดยจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และบรรเทามลภาวะทางอากาศในระดับภูมิภาคให้เกิดผลสัมฤทธิ์ อันจะนำไปสู่การดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันต่อไป