ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไปจาก “สภาพภูมิอากาศ และสงคราม” กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ได้ก่อผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางพลังงานของไทยหนักขึ้นเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพุ่งสูง ราคาปุ๋ยปรับตัว 100% และวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์แพงจนปี 2565 ราคาอาหารปรับขึ้นทุบสถิติโลก
ถ้ามองในแง่ผลผลิตทางการเกษตรไทยก็มีข้อมูลวิจัยในปี ค.ศ.2050 “ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทย” มีแนวโน้มลดลง 10-14% เมื่อเทียบกับ ค.ศ.1992-2016 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภาคอีสานจะค่อนข้างหนักพอสมควร แล้วยังส่งผลถึง “ทุเรียน” ก็มีโอกาสลดลง 14-16% ในช่วง ค.ศ.2045-2055
ตรงจุดนี้พื้นที่เสี่ยงหนักรุนแรงคือ “ภาคใต้” เมื่อเทียบกับ ค.ศ.2003-2021 เหตุนี้ในการประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปี 2567 รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒน์ ได้เสนอความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อระบบอาหาร และพลังงานของไทยที่จะแก้ไขพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างไรว่า
ประเด็นแรก...“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ถ้าย้อนดูอดีตในยุคโรมันก็ล่มสลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “อาหารขาดแคลน” เกิดแย่งชิงกลายเป็นสงคราม “ประเทศไทย” ก็อาจหนีไม่พ้นเช่นกัน
...
แล้วถ้ามาดูความเสี่ยง “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ตอนนี้หลายประเทศมุ่งเป้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ “ข้อตกลงปารีส” มีการออกนโยบายมาตรการกดดันการผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำมาตั้งแต่การประชุม COP28 ในปี 2566 ทำให้หลายบริษัทในหลายประเทศต้องสร้างภาพลักษณ์นำไปสู่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
สิ่งนี้เป็นปัจจัยกระทบต่ออาหารของไทยเชื่อมโยงต้นน้ำในการผลิต กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้นอนาคต “ทุกธุรกิจไทยต้องปรับตัว” หากไม่ปรับอาจจะเกิดปัญหาส่งออก และขีดความสามารถการแข่งขันจะย่ำแย่
หากเจาะลงดู “การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้น” โดยพึ่งพาการนำเข้าจากบราซิลและจีนเยอะมาก ส่วนการส่งออกเน้น “จีน” ภายใน 1 ทศวรรษส่งออกเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 15% เป็น 26% ในการผูกติดตลาดจีนมากเกินไปนี้อาจก่อเกิดปัญหาหรือไม่ เพราะจีนมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ไม่น้อย
ประการถัดมา “ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงาน” ปัจจุบันการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศมักผูกติดกับ “GDP มากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” แล้วเรื่องนี้เคยศึกษาจนเห็นภาพในอนาคตของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น “แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด” โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยจะเจอกับผลกระทบมากสุด
ส่วน “การนำเข้าน้ำมันดิบ” มีแนวโน้มกระจายตัวลดลงอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สมัยก่อนนำเข้า 32% เพิ่มเป็น 42.5% เห็นได้ ว่าพึ่งพา UAE มากจนสะท้อนถึงความเปราะบางหากเกิดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นนี้ แล้วถ้ามาดู “การพึ่งพาตัวเองในการจัดหาพลังงาน” ทำได้น้อยลงต่อเนื่อง เช่น น้ำมันดิบจัดหาได้เพียง 12% นำเข้า 88%
ถ่านหินผลิตได้เอง 22% ก๊าซธรรมชาติ 56% หากรวมเชื้อเพลิง 3 ส่วนเข้าด้วยกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า “ดัชนีพึ่งพาตัวเองในปี 2553 อยู่ที่ 61% ตอนนี้ลดลงเหลือ 45%” สะท้อนถึงประเทศไทยพึ่งพาการใช้พลังงานจากตลาดโลกมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะสร้างความเปราะบางในด้านความมั่นคงทางพลังงานด้วยซ้ำ
...
เช่นนั้นจึงชวนมาดู “ความมั่นคงทางอาหาร” ถ้าพูดถึงการใช้ไฟฟ้าแล้วแยกเป็นประเภทรายสินค้าเห็นได้ว่า “เกษตร และอาหารเป็นสินค้าที่ใช้ไฟฟ้าผลิตมาก” สิ่งที่ได้ยินบ่อยช่วงนี้คือมาตรการ CBAM ที่สหภาพยุโรปปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ทำให้อนาคตมาตรการกีดกันการค้าการลงทุนจะมุ่งสู่เป้า Net Zero เพิ่มขึ้น
“อนาคตต้นทุนปล่อยคาร์บอนจะสูงขึ้นอย่างน้อย 5 เท่าตัวในปี ค.ศ.2050 สินค้าไทยจะถูกบวกเพิ่มต้นทุนคาร์บอน ทำให้สินค้าเกษตร สินค้าอาหารจะสูงขึ้นจนสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เพราะดูปี 2565 ไทยใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่อันดับที่ 134 ของโลกคิดเป็น 15.8% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 29.4%” รศ.ดร.วิษณุว่า
เมื่อเป็นแบบนี้ “จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างไร...?” อยากเสนอแนะอย่างนี้ว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ควรเร่งกระบวนการผลิตต้นน้ำ “นโยบายเกษตร” ต้องเปลี่ยนไม่ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าไม่มีเงื่อนไข เพราะไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับตัว และไม่สร้างภูมิคุ้มกันในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้
...
สำหรับประเทศเป็นแบบอย่างที่ดี “นิยมใช้เงินช่วยเหลือมีเงื่อนไข” ควบคู่ไปกับการให้ความรู้มีหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้นแล้วในส่วน “เกษตรกร” ก็ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเท่าทันภูมิอากาศ เพื่อลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้น้ำให้ปุ๋ย
ข้อเสนอแนะต่อมา “เพิ่มที่ปรึกษาทางการเกษตรให้เกษตรกร” ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤติ เพราะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร 1 หมื่นต้นๆ แต่เกษตรกรมี 12 ล้านชีวิตส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย ดังนั้นจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ “จับมือสถาบันการศึกษาในพื้นที่” ถ้าทำได้จะลดข้อจำกัดด้านบุคลากรภาครัฐได้
นอกจากนี้ “การจัดการระบบอาหารของไทย” ที่ยังไม่มีหน่วยงานดูแลการบริหารจัดการเกษตรและอาหารเป็นการเฉพาะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่วนใหญ่มักแยกดูแลทีละจุดด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นเรื่องๆ “จนเกิดความไม่เชื่อมโยงทำงานลำบาก” เช่นนี้ต้องมีหน่วยงานดูแลภาพรวมโดยตรง
...
ยิ่งอนาคตมาแน่ๆ “การปล่อยคาร์บอนเครดิต” จึงต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับการผลิตแปรรูป สิ่งนี้จะถูกใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า และการลงทุนที่ต้องปรับตัว เพียงแต่ “ภาครัฐ” ต้องส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตร และอาหารคาร์บอนต่ำ “สร้างแรงจูงใจ” เพราะสินค้าคาร์บอนต่ำมักมีต้นทุนแพงกว่าในการผลิตด้วยซ้ำ
ส่วนข้อเสนอแนะสุดท้าย “เรื่องพลังงาน” ปัจจุบันจะอ้างอิงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไม่ได้ แต่ต้องมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาประเมินด้วย ทั้งควรต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน และการกระจายตลาดนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย
นี่เป็นสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก “ด้านความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน” อันจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่มากก็น้อย ทำให้เราต้องเตรียมตัวรับมือเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสแล้วยิ่งลงทุนปรับตัวเร็วก็ยิ่งคุ้มค่าเร็ว แต่ถ้าลงทุนปรับตัวช้ายิ่งจะเสียหายหนัก
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม