ธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” หรือ “Pyramid Scheme” เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ และมีกลโกงที่ซับซ้อน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้าร่วม
กลโกงสำคัญที่พบได้บ่อย อันดับหนึ่งก็คือ...“การนำเสนอรายได้สูงแบบเกินจริง”
“ธุรกิจแชร์ลูกโซ่จะมุ่งเน้นไปที่การโฆษณาว่าผู้เข้าร่วมจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลได้อย่างง่ายดายในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้ตัวอย่างผู้ที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นความสนใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง รายได้มักจะเกิดขึ้นจากการหาสมาชิกใหม่เท่านั้น ไม่ใช่จากการขายสินค้าอย่างแท้จริง”
หนึ่งในผู้คลุกคลีกับธุรกิจขายตรงพันทาง มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี ฟันธง
ถัดมา...บริษัทขายตรงพันทางเหล่านี้จะมีแผนการตลาดที่มุ่งเน้นการชักชวนมากกว่าการขายสินค้า ชัดเจนว่าในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ กลโกงที่สำคัญคือ “การสร้างรายได้จากการชักชวนคนใหม่เข้ามาร่วม มากกว่าการขายสินค้า” หรือ...ถ้าหากมีสินค้าจริง สินค้าเหล่านั้นมักมีคุณภาพต่ำหรือไม่จำเป็น
“สินค้า” เป็นเพียงข้ออ้างให้ดูเหมือนเป็นธุรกิจ...“ถูกกฎหมาย” แต่เงินที่หมุนเวียนหลักมาจาก “ค่าคอมมิชชัน”...จากการชวนคน
ประการที่สาม...การชักชวนด้วยคำพูดจูงใจและการสร้างแรงกดดัน
ข้อนี้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในกลโกง ด้วยว่า “ธุรกิจแชร์ลูกโซ่” จะใช้เทคนิคการพูดที่ชักจูงใจ อาจทำให้คุณรู้สึกว่า...ถ้าไม่เข้าร่วมตอนนี้จะเสียโอกาสที่ดีไป พวกเขาอาจบอกว่าเป็น “โอกาสครั้งเดียวในชีวิต” หรือมีเวลาจำกัดในการเข้าร่วม เพื่อให้ผู้คนรีบตัดสินใจโดยไม่ทันพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ประการที่สี่...การซ่อนความจริงเกี่ยวกับความเสี่ยง
...
ข้อนี้หากใครเปิดใจอย่างเป็นธรรมก็จะไม่โดนหลอก เพราะธุรกิจแชร์ลูกโซ่จะไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับความเสี่ยงให้กับผู้เข้าร่วม เช่น ความจริงที่ว่าโครงสร้างธุรกิจนี้ไม่ยั่งยืน หากไม่มีผู้เข้าร่วมใหม่ รายได้จะหยุดทันที และผู้ที่อยู่ในระดับล่างของโครงสร้างจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
แต่...ในตอนแรก พวกเขามักจะแสดงเฉพาะด้านที่น่าสนใจและทำให้คนเชื่อว่าไม่มีความเสี่ยง อาศัยการใช้วิธีจ่ายผลตอบแทนจาก “เงินลงทุนของคนใหม่” นี่เป็นอีกหนึ่งในกลโกงที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจแชร์ลูกโซ่
นั่นก็คือ การใช้เงินที่ได้จากคนใหม่มาจ่ายให้คนที่เข้าร่วมก่อนหน้านี้ ทำให้คนที่อยู่ในระดับบนของพีระมิดได้รับผลตอบแทน แต่ผู้เข้าร่วมใหม่จะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จนกว่าพวกเขาจะหาคนใหม่มาร่วมในโครงสร้าง ซึ่งทำให้กลไกทั้งหมดนี้เสี่ยงต่อการพังทลาย
ประการที่ห้า...การทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น “ธุรกิจเครือข่าย (Multi–Level Marketing–MLM)”
“แชร์ลูกโซ่บางรายจะพยายามปกปิดตัวเองโดยทำให้ดูเหมือนเป็นธุรกิจเครือข่ายถูกกฎหมาย เช่น ธุรกิจ MLM ที่เน้นการขายสินค้า แต่แชร์ลูกโซ่จะไม่มีการเน้นการขายสินค้าอย่างจริงจัง สินค้าที่ใช้เป็นเพียงข้ออ้าง และรายได้หลักมาจากการชักชวนคนใหม่ ไม่เหมือนกับธุรกิจเครือข่ายที่ถูกต้อง”
ธุรกิจ “ขายตรงพันธุ์แท้” นักขายจะประสบความสำเร็จได้... มีเงินปันผลจะต้องมีการขายสินค้าจริงๆ และผู้เข้าร่วมต้องสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าได้โดยตรง
พุ่งเป้าไปที่...การขอ “ค่าสมัคร” และ “เงินลงทุน”
“แชร์ลูกโซ่”...จะเรียกเก็บค่าสมัครหรือเงินลงทุนจากผู้ที่ต้องการเข้าร่วม โดยอาจใช้ข้ออ้างว่าค่าใช้จ่ายนี้เป็น “ค่าบริหารจัดการ” หรือ “ค่าเริ่มต้นธุรกิจ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เงินเหล่านี้จะถูกนำไปจ่ายให้ผู้ที่อยู่ในระดับบนของโครงสร้าง ซึ่งทำให้คนที่อยู่ในระดับล่างสุดต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินของตัวเอง
แน่นอนว่า...การขยายโครงสร้างอย่างรวดเร็วก็เพื่อหลอกล่อคนมากขึ้น
“กลโกงแชร์ลูกโซ่จะพยายามขยายโครงสร้างของพีระมิดอย่างรวดเร็ว โดยใช้การชักชวนในวงกว้าง เพื่อให้มีคนเข้าร่วมมากขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่โครงสร้างจะล่มสลาย วิธีนี้ทำให้หลายคนสูญเสียเงินไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ปิดตัวก่อนที่พวกเขาจะได้รับผลตอบแทน”
กระนั้น...ก็มีอีกบทเรียนสำคัญหนึ่งที่ว่า เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ธุรกิจกลายเป็นงูกินหาง...จ่ายผลตอบแทนไม่ไหวแล้ว ทางเริ่มตันหาเหยื่อรายใหม่ๆไม่ได้หรือได้ยาก บริษัทขายตรงพันทางแชร์ลูกโซ่ก็อาจใช้เทคนิคแจ้งจับตัวเอง ให้เกิดเป็นคดีความฟ้องร้อง เพื่อ...บริษัทจะได้มีปัญหา ข้อสะดุด ติดขัดและปิดตัวไปในท้ายที่สุด
กลโกงเช่นนี้ก็มีเกิดขึ้นให้เห็น...เหยื่อก็โดนหลอก เรียกค่าเสียหายอะไรไม่ได้ แต่เจ้าของ...วีไอพีคนที่ยืนอยู่บนยอดพีระมิด อิ่มพุงกาง ย้ายทรัพย์สินเงินทองไปก่อนล่วงหน้านมนานแล้ว ปิดประตูธุรกิจกันไปแบบก็ยังอยู่ดีมีความสุข...ถึงเวลาหมอกควันจางไปก็กลับมาใช้ชีวิตรวยอู้ฟู่
ฉากละครแชร์ลูกโซ่ใต้ฟ้าเมืองไทยก็อาจจะเป็นเช่นนี้ไม่เห็นมีใครใคร่สงสัย...บริษัทขายตรงพันทางแชร์ลูกโซ่เปิดมานมนานหลายปีดีดัก ไม่มีหน่วยงานไหนสนใจตรวจสอบ... ชำเลืองตามอง แต่พอเป็นข่าวขึ้นมาก็พุ่งเป้าโจมตีรุมเร้า...ราวกับบริษัทดังเพิ่งจะเปิดมาได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น แล้วหลอกลวงผู้คนให้หลงกล?
กลเกม...กลโกง ยิ่งบริษัทเปิดมานานแค่ไหนก็ยิ่งสร้างความเสียหาย มีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนมากมายมหาศาลเท่านั้น จะมีหน่วยงานไหนตรวจสอบย้อนหลัง? ตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อกำเนิดถึงเส้นทาง “บัญชี”...เงินๆ ทองๆ ไหลไปไหน ไปถึงมือใครบ้างกี่มากน้อยก็คงจะดี...บ่วงกรรม เวรกรรมจะได้ติดตามเท่าทัน
...
คงทำได้เพียงขอสาปแช่ง...เผาพริกเผาเกลือ เจอจะจะก็ให้ “ยึดทรัพย์” ตกเป็นของแผ่นดิน ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเสียหายป่นปี้
“พวกมือถือสาก ปากถือศีล...จะได้รู้ร้อนรู้หนาวกันเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นก็อยู่กันนิ่งๆ อิ่มพุงกางสำราญกับเบี้ยบ้ายรายทาง... เงินจ่ายให้เทวดาเจ้าที่เจ้าทางกันเพลิน”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม