การปรับตัวของภาคธุรกิจ ในยุคของการแข่งขันทางการค้า ที่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและวิธีการชัดเจน เพื่อให้เกิด ความยั่งยืนของธุรกิจอย่างสมดุล แผนพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศ มีการกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยต้องมีการยืดหยุ่นในหลักปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น แผนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ฉบับที่ 14 ระหว่างปี 2021-2025 รัฐบาลจีนไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า จีดีพี จะโตกี่เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งในปี 2024 คือปีนี้ จีนกำหนดเป้าจีดีพีอยู่ที่ 5% จากการเติบโตในปี 2020 ร้อยละ 2.2 ปี 2021 โตร้อยละ 8.4 ปี 2022 โตร้อยละ 3 และปี 2023 ที่ผ่านมา โตที่ร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ จีนต้องประสบปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ล้นตลาดเรื้อรัง และอัตราค่าเงินหยวน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจีดีพี คาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่าที่ 18 ล้านล้านเหรียญ ทำให้เกิดหนี้ในภาคอสังหาฯประมาณ 5-7 แสนล้านเหรียญ เกิดการว่างงานในทุกระดับประมาณ 100 ล้านคน

ดังนั้น การวางแผน ที่จะสร้างความยั่งยืนอย่างสมดุล จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการบริหารทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่ม ปตท. ได้มีการบุกเบิกในเรื่องดังกล่าวโดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกลุ่ม ปตท. ได้จัดกิจกรรม Sustainability Expo มหกรรมด้านความยั่งยืน ครั้งที่ 5 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์ ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่บริหารบนหลักการความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ ปตท.แข็งแรง ร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน เป็นผู้นำขับเคลื่อนส่งเสริมแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมพลังกันลงมือทำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นและยั่งยืน

...

เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจที่สำคัญอีกเรื่องคือการนำไปสู่ในการบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 หรือปี 2050 เป็นนัยสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยมีการผสานการบริหารจัดการทั้งกลุ่ม ปตท. ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business การพิจารณาการปล่อยคาร์บอน ควบคู่กับการเติบโตทางธุรกิจ Carbon-Conscious Asset การปรับปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การนำคาร์บอนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และ Coaltion Co-Creation and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นแกนหลักของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก

ตลอดระยะเวลาของงานดังกล่าว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ อัปเดตเทรนด์ ไอเดีย เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงต้นแบบในการพัฒนาเมืองให้เป็นชุมชนที่ยั่งยืนในอนาคตอยู่อย่างพอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลกใบนี้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม