คดีฉ้อโกงอื้อฉาวเป็นกระแสร้อนคงไม่พ้น “แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” ที่ไลฟ์สดขายทองรูปพรรณราคาถูก จัดโปรโมชันลดแลกแจกแถมของอีกมากมายจน “ลูกค้าแห่พากันซื้อเก็งกําไร” สุดท้ายเป็นทองเปอร์เซ็นต์ต่ำนำไปขายร้านใดก็ไม่มีใครรับซื้อ ก่อนรู้ตัวถูกหลอกพากันเข้าแจ้งความดำเนินคดี

กลายเป็นประเด็นให้สังคมสนใจกระทั่ง “ตำรวจ ปคบ.” ออกหมายจับเข้าซังเตในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, นำข้อมูลเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ เจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดสาระสำคัญสินค้าบริการจนเรื่องนี้เป็นกระแสท็อปออฟเดอะทาวน์กับการใช้กลยุทธ์การตลาดหลอกขายออนไลน์ที่มีคนมาเลือกซื้อทองยอดขายพันล้านบาท

อันเป็นรูปแบบ “สร้างแบรนด์บุคคล (Personal Branding)” เกิดภาพจดจำแล้วทำการตลาดให้ลูกค้ารู้สึกได้เปรียบแจกของกำนัลมากๆทำให้หยิบยกการสร้างกลยุทธ์การขายผ่านออนไลน์นี้มาถอดบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า

ปัจจุบันขายของออนไลน์ไม่มีการกำกับจากหน่วยงานรัฐมาก ทำให้คนทั่วไปตั้งเพจเว็บไซต์กันง่ายแล้วหากลยุทธ์สร้างตัวตน “ด้วยคาแรกเตอร์ไม่เหมือนใคร” เพื่อสร้างการจดจำให้โดดเด่นเกิดการรับรู้ได้เร็ว สังเกตจาก “แม่ค้าออนไลน์บางคน” มักมีคาแรกเตอร์โวยวาย หรือแสดงลีลาไลฟ์ขายสินค้าสนุกสนานกดกระดิ่งอยู่ตลอด

แล้วฉากหลังมักออกแบบให้หรูดูดี สิ่งนี้กลุ่มเป้าหมาย “มักชื่นชอบรู้สึกดีกับสินค้า” จะเริ่มสนับสนุนเกิดการภักดีกับแบรนด์ต่อให้ใครขายสินค้าชนิดเดียวกันเกิดขึ้นใหม่ “กลุ่มเป้าหมาย” ก็จะเลือกซื้อสินค้าของเราอยู่ดี

สิ่งเหล่านี้ “เป็นทฤษฎีขายของออนไลน์” จะทำให้ประชาชนเห็นไลฟ์สดแล้วหยุดดู จากนั้นผู้ขายก็จะใส่ข้อมูลเปลี่ยนพฤติกรรมความคิดให้สนใจสินค้าเรา อันเป็นสูตรใช้มาในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ยังถูกใช้ได้ผลดีตลอด

...

ประการต่อมา “การสร้างความน่าเชื่อถือ” ด้วยการเปิดร้านค้าบนออนไลน์ใหม่มักมีคนติดตามน้อยอยู่แล้ว ทำให้บางคนต้องสร้างความน่าเชื่อถือกับคนภายนอกเสริม เช่น การออกงานการกุศลหรือการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือคนยากจนผู้ด้อยโอกาส “สร้างแบรนด์ตัวตน” เพื่อให้ประชาชนเกิดความศรัทธา

ไม่เท่านั้น “บางคนยังมักโชว์ของอวดร่ำอวดรวย” ก็เป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือว่าทำธุรกิจนี้แล้วรวยจริงอันเป็นรูปแบบหนึ่งที่มิจฉาชีพทำธุรกิจสีเทามักอวดความมั่งคั่งลงบนโซเชียล เช่น โชว์ทรัพย์สิน เงินสดเป็นปึก รถซุปเปอร์คาร์และไลฟ์สไตล์หรูหราทั้งหลาย “เพื่อให้คนหลงกลเป็นเหยื่อ” แต่ที่จริงจัดฉากหรือไม่รวยจริง

เพราะคนไทยเชื่อว่า “คนรวยมักขายของมีคุณภาพ ไม่หลอก ไม่โกง” สิ่งนี้ล้วนเป็นเทคนิคการขายของผ่านออนไลน์ สร้างแรงจูงใจอันเป็นกลยุทธการตลาดแทบทั้งสิ้นแล้วยิ่งหาก “มิจฉาชีพ” จัดโปรโมชันเข้ามาช่วยเสริมอย่างเช่น ขายของถูกกว่าตลาด มีของ
แถมแจก ด้วยกำหนดเวลาจะเร่งการตัดสินใจปิดการขายได้เร็วขึ้น

“สูตรกลยุทธ์การตลาดนี้ใช้กันมานาน 20 ปีเพียงแค่เมื่อก่อนใช้กับสินค้าราคาถูก แต่ปัจจุบันก็พัฒนามาจนหยิบยกสินค้าหรูราคาแพงมาร่วมรายการขายด้วยอย่างกรณีทองที่เป็นข่าวก็จัดโปรโมชันลด แจก แถม กระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อได้เร็ว เพราะด้วยหลายคนรู้สึกว่าเจ้าของร้านน่าเชื่อถือแล้วทองก็น่าจะมีคุณภาพ” ผศ.ดร.สิงห์ ว่า

เช่นนี้นำมาสู่ข้อระวังปัจจุบันต่อ “การซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาแพง” ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าหรู นาฬิกาหรู เริ่มปรากฏพบการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น “เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อก็มักได้สินค้าไม่ตรงปกอยู่เรื่อยๆ” ดังนั้นการซื้อของผ่านออนไลน์ “ประชาชน” ต้องตรวจสอบรายละเอียดสถานที่ตั้งร้านให้เกิดความมั่นใจ

ตั้งแต่การจดทะเบียนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สถานที่ตั้งเปิดเผยหรือปกปิด เครดิตร้านค้าเป็นอย่างไรน่าเชื่อถือพอที่จะทำการซื้อสินค้าหรือไม่ เพราะพฤติกรรมคนชอบช็อปปิ้งออนไลน์เวลาอยากได้จะขาดความรอบคอบเช็กเปรียบเทียบราคาหากของถูกก็เอาก่อนหลงลืมดูรายละเอียด เช่น การรับประกันสินค้า ไม่เปลี่ยนรับคืน

...

ขณะที่ คมเพชญ จันปุ่ม ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน บอกว่า ปัจจุบันซื้อของออนไลน์หลายคนมักเจอคนขายมีเจตนาไม่สุจริต ทั้งสั่งซื้อไม่ได้สินค้า หรือได้ของปลอม ของไม่ตรงปก ดำเนินคดีกันเกิดขึ้นมากมาย

ตามกฎหมาย “ผู้ขายมีเจตนาไม่สุจริตมักมีความผิดฉ้อโกง” ตาม ป.อาญา ม.341 ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความเท็จ มีโทษคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หากผู้เสียหายรู้ตัวให้รีบแจ้งความใน 3 เดือน

แต่หาก “หลอกลวงประชาชนลักษณะวงกว้าง” อาจเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชนตาม ป.อาญา ม. 343 ถ้าทำผิดตาม ม.341 แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

อย่างเช่น “แม่ค้าขายทองเป็นข่าวโด่งดัง” มีเจตนาหลอกลวงประชาชนมาตั้งแต่ต้นจนมีผู้เสียหายจำนวนมากทุนทรัพย์ก็สูง ทำให้ไม่อาจอ้างตามคำพรรณนา ป.พ.พ.ม.504 ข้อรับผิดส่งของไม่ตรงห้ามฟ้องพ้น 1 ปีได้

ทั้งยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (2) นำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จสู่คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท และมีอายุความ 10 ปี

เช่นนี้หาก “ประชาชนถูกหลอกลวงจากการขายของออนไลน์” เบื้องต้นต้องรวบรวมหน้าโปรไฟล์ของร้านค้า ลิงก์ URL ของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่โพสต์ประกาศขายสินค้านั้น รวมถึงเก็บข้อมูลบันทึกการสนทนาข้อความที่คุยรายละเอียดในการซื้อของออนไลน์ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร. และเลขบัญชีของร้านค้า

ทั้งหลักฐานการโอนเงิน สลิปโอนเงิน ที่มีการจ่ายค่าสินค้า เพื่อแจ้งความกับตำรวจท้องที่ดำเนินคดีแล้วตำรวจจะตรวจเลขบัญชีว่าเจ้าของบัญชีเป็นใครมีการเคลื่อนไหวบัญชีใด และออกหมายเรียกมาสอบปากคำ ถ้ามาแล้ว “ตกลงกันได้ก็ไกล่เกลี่ยคืนเงิน” แต่หากตกลงกันไม่ได้ หรือไม่มาตามหมายก็ส่งสำนวนให้อัยการฟ้องศาล

...

ถ้าผู้เสียหายจะดำเนินการเองก็ทำได้ “แต่กรณีมีผู้เสียหายหลายคนไม่แนะนำฟ้องเอง” เพราะกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน “เจ้าหน้าที่รัฐ” มีความชำนาญมีอำนาจตามกฎหมายในการเก็บหลักฐานได้ดีกว่า ป้องกันถูกยกฟ้องที่จะส่งผลต่อรูปคดีของผู้อื่นด้วย “ยกเว้นอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี” เช่นนี้สามารถนำคดีมาฟ้องเองได้

สุดท้ายฝากไว้ว่า “สคบ.”ออกประกาศว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่ง สินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 “ผู้บริโภค” สั่งซื้อของออนไลน์สามารถเปิดพัสดุตรวจก่อนจ่ายเงินได้ ถ้าไม่พอใจสินค้าก็คืน มีผลตั้งแต่ 3 ต.ค.2567 เป็นต้นมา...