เร่งเคลียร์กองขยะมหึมากว่า 4 พันตันล้นเมืองเชียงใหม่ หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่ เทศบาลจัดจุดทิ้ง 4 เขต รองรับขยะเพิ่มวันละกว่า 1 พันตัน ลำพูนคลี่คลายน้ำลดลงแล้ว ชาวบ้านเริ่มเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน ที่สุโขทัยพบศพแล้วเด็กหญิงวัย 10 ขวบ เหยื่อบ้านถล่มริมน้ำยมศพที่สองจมอยู่ใต้กองดินลึก 2 เมตร เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำรอรับน้ำทะเลหนุนสูง 13 ต.ค. แจ้งเตือนชุมชนนอกแนวกั้นน้ำ 7 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ กทม.มั่นใจไม่ล้นแนวเขื่อน คนเมืองกรุงสบายใจได้ปีนี้น้ำไม่ท่วมแน่นอน

สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือคลี่คลายลงแทบทุกพื้นที่ มวลน้ำจาก จ.เชียงใหม่ ที่ไหลลงสู่ จ.ลำพูน ก็เริ่มลดลงตามลำดับหลังฝนหยุดตกมาหลายวัน เมื่อ วันที่ 10 ต.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากน้ำลดเข้าสู่โหมดฟื้นฟู ชาวบ้านต่างระดมเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนร้านค้ากันครั้งใหญ่จนปรากฏภาพกองขยะมหึมาตามท้องถนนต่างๆ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่จัดจุดทิ้งขยะ 4 เขตรับผิดชอบคือ แขวงกาวิละ รับผิดชอบจุดทิ้งขยะที่สุสานสันกู่เหล็ก เป็นจุดพักเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ และสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟ เป็นจุดพักดินตะกอนจากน้ำท่วม แขวงเม็งราย จุดทิ้งที่สุสานช้างคลาน เป็นทั้งที่ทิ้งเฟอร์นิเจอร์และพักดินตะกอน แขวงนครพิงค์ จุดทิ้งที่สุสานป่าตัน เป็นที่ทิ้งเพียงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ และจุดพักเพิ่มเติมที่สุสานหายยา และสถานีขนถ่ายขยะหายยา เป็นจุดพักดินตะกอน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่

นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่เผยด้วยว่า ปัจจุบัน ขยะจากน้ำท่วมมีร่วม 4,000 ตัน และจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ตันต่อวันที่ชาวบ้านขนออกมาทิ้ง ทำให้จุดพักขยะไม่เพียงพอ เทศบาลประสานไปยัง นายก อบจ.เชียงใหม่ ขอใช้สวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟ จากเดิมเป็นเพียงที่ทิ้งตะกอน ให้กลายเป็นที่รองรับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ และขยะอื่นๆ หลังจากนั้นเทศบาลจะจัดเก็บขยะเพื่อนำมาพักไว้ก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

...

จ.ลำพูน สถานการณ์น้ำท่วมลดลงแล้ว ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านปากล้อง หมู่ 9 ต.ต้นธง อ.เมืองลำพูน ที่ถูกน้ำท่วมขังมานานกว่าครึ่งเดือน นายวรศักดิ์ เค้ามูล อายุ 55 ปี ชาวบ้านเล่าว่า ระดับน้ำเน่าขังใน 4 หมู่บ้านของ ต.ต้นธง หมู่ 6, 7, 8 และหมู่ 9 ระดับน้ำเน่าลดลงจากเดิมประมาณ 1 เมตรแล้ว เนื่องจากระดับน้ำปิงลดลงมาก ประกอบกับชลประทานนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาติดตั้งเพิ่มเป็น 2 เครื่องทำให้การระบายน้ำดีขึ้นมาก ชาวบ้านเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนแล้ว แต่ยังมีบางจุดที่เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำยังคงท่วมขังแต่ระดับน้ำไม่สูงมากเหมือนเดิม คาดไม่เกิน 3 วันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้สถานการณ์ โดยรวมในพื้นที่ จ.ลำพูน ดีขึ้นตามลำดับ แต่มีบางจุดที่น้ำเอ่อสูงขึ้นเล็กน้อยคือที่หมู่ 1 ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน ส่วนตำบลอื่นๆเริ่มลดลงมากแล้ว สำหรับพื้นที่ อ.เมืองลำพูน มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน รวมกว่า 4,000 ครัวเรือน

ส่วนปฏิบัติการค้นหาร่าง ด.ญ.ชุติมา หรือน้องจุ๋ย กำทอง อายุ 10 ขวบ ที่สูญหายไปจากเหตุการณ์บ้านพังถล่มริมแม่น้ำยม หมู่ 4 ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 8 ต.ค. ขณะเจ้าของบ้านและชาวบ้านช่วยกันเข้าไปเก็บของในบ้านที่ทรุดตัวจากน้ำกัดเซาะริมตลิ่ง มีผู้เสียชีวิต 1 ศพ ได้รับบาดเจ็บ 2 คน และสูญหาย 1 คนคือน้องจุ๋ย เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยกันค้นหาต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ใช้รถแบ็กโฮลงตักหน้าดินและเศษซากปรักหักพัง นอกจากนี้ยังมีสุนัขดมกลิ่นอีก 2 ตัวมาช่วยค้นหา กระทั่งเวลา 15.30 น. ก็พบศพน้องจุ๋ยจมอยู่ใต้ดินลึกประมาณ 2 เมตร ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของญาติๆถึงกับปล่อยโฮร่ำไห้ นำศพส่งชันสูตรที่ รพ.สวรรคโลก ก่อนมอบให้ญาตินำกลับไปดำเนินการตามประเพณี

นายทรงพล วิชัยขัทคะ รอง ผวจ.พิษณุโลก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปที่วัดแม่ระหัน หมู่ 10 ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก นำถุงยังชีพพร้อมน้ำหมักชีวภาพแก้ปัญหาน้ำเน่าเหม็นและเมล็ดพันธุ์ผักนานาชนิด รวม 240 ชุด ไปแจกให้ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ถูกน้ำท่วมขังมาแล้วประมาณ 1 เดือน ระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ บางจุดท่วมมิดหัว จากนั้นรอง ผวจ.พิษณุโลก นำคณะลงเรือท้องแบนข้ามทุ่งแม่ระหัน นำสิ่งของไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดเกาะ 5 ครอบครัว

สำหรับโครงการบางระกำโมเดล เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากจากภาคเหนือทางแม่น้ำยมที่ไหลผ่านมาจาก จ.สุโขทัย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่โครงการ น้ำจะไหลหลากเข้าสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางผ่านแม่น้ำน่านในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร ก่อนไหลไปสู่ จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำในพื้นที่ 211,617 ไร่ หรือ 80% ปริมาณน้ำ 572 ล้าน ลบ.ม. หรือ 143% คาดว่าจะมีน้ำเข้ามาในพื้นที่เพิ่มอีก 1-2 วัน โดยน้ำที่หน่วงไว้ในโครงการบางระกำโมเดล จะอยู่ในพื้นที่อีกประมาณ 1 เดือนก่อนจะระบายออกสู่แม่น้ำน่านต่อไป

จ.ชลบุรี เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.สัตหีบ โดยเฉพาะชุมชนตำบลบางเสร่ หลังฝนถล่มลงมาเพียง 30 นาทีทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนสุขุมวิท ฝั่งขาเข้าสัตหีบ ตั้งแต่ปากทางเข้าห้วยตู้ไปถึงแยกไฟแดงบางเสร่ ระยะทางราว 1 กม. น้ำท่วมผิวจราจรเหลือช่องทางขวาวิ่งได้เลนเดียว สาเหตุเกิดจากมวลน้ำจำนวนมากที่ไหลจากที่สูงมารวมกันลงสู่ท่อระบายน้ำริมถนนทำให้ไม่สามารถระบายได้ทัน ชาวบ้านต้องช่วยกันนำขยะและสิ่งปฏิกูลที่ปิดกั้นเส้นทางลงท่อระบายน้ำออกเพื่อเร่งระบายน้ำให้กลับสู่ภาวะปกติ บริเวณดังกล่าวหากเกิดฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ

ด้านสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา นายวัชระ ไกรสัย ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เผยว่า ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณทรงตัว ประกอบกับแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี และปริมาณน้ำที่ไหลไปรวมกันเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทานเริ่มปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลง จากอัตรา 2,199 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 2,000-2,100 ลบ.ม.ต่อวินาที และลดการส่งน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน จาก 80 เหลือ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดการส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย จาก 140 เหลือ 120 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับเก็บกัก 16.00 ม.รทก. และช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่น้ำท่วมท้ายเขื่อนจะลดลง 10-15 ซม. รวมทั้งลดผลกระทบกับน้ำทะเลที่จะหนุนสูงช่วงวันที่ 13 ต.ค.นี้ แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำ แม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพ มหานคร สมุทรปราการ เฝ้าระวังระดับน้ำจากสถานการณ์ น้ำทะเลหนุนในระยะนี้และช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.

...

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายเจษฎา จันทรประภา ผอ.สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนสูง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาใต้สะพานพระราม 8 นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า จากที่มีความกังวลเกี่ยวกับการระบายน้ำเข้ากรุงเทพฯ มีการเปิดสถิติ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.54 น้ำเข้าท่วมกรุงเทพฯ มีปริมาณ 3,930 ลบ.ม. แต่วันเดียวกันของปีนี้ น้ำผ่านมาเพียง 1,830 ลบ.ม. แสดงว่ายังมีพื้นที่รับน้ำเหลือค่อนข้างเยอะ และ กทม.ได้สร้างแนวกั้นเขื่อนสูงขึ้นแล้วถึง 3.50 ม.รทก. ดังนั้น คนกรุงหายกังวลใจได้เลยว่าน้ำจะข้ามพ้นเขื่อน ยืนยันไม่กระทบต่อแนวพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯแน่นอน แต่ปัญหาที่มีความกังวลคือประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ 16 ชุมชนใน 7 เขตที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จำนวน 731 หลังคาเรือนต้องยอมรับสภาพที่น้ำเข้าท่วมขังบ้าง

นายเจษฎา จันทรประภา ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการแจ้งเหตุเตือนภัยน้ำท่วมออกมาจากหลายพื้นที่ ทำให้คนสับสน ขอย้ำว่ามีการถอดบทเรียนจากจุดเสี่ยง 737 จุดที่เกิดน้ำท่วมจากปี 65 จึงได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว สถานีสูบน้ำ และทำท่อระบายน้ำแล้ว ทั้งนี้พื้นที่น้ำท่วมในอดีต ส่วนใหญ่เป็นแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว จึงมีแนวน้ำท่วมน้อยลง เหลือเพียงแนวก่อสร้างของกรมทางหลวง และในช่วง 1-2 วันนี้ โอกาสที่จะมีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นไปได้สูง ได้เตรียมการพร้อมทุกอย่างแล้ว สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังซ้ำรอยเป็นพิเศษคือเขตลาดกระบังเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแอ่งกระทะติดกับถนนบางนาตราดซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า และพื้นที่รัชดามีโครงการจัดทำท่อลอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแล้ว

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่