สมัยก่อนประมาณสักสิบยี่สิบปีที่แล้ว เราเรียกเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรืออยู่ในระบบโรงเรียนว่าเด็กข้างถนน

แต่ระยะหลังๆมานี้กระทรวงศึกษาธิการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พยายามเก็บเด็กๆ ที่ไปขายพวงมาลัยหรือเช็ดกระจกอยู่ตามสี่แยกกลับเข้าไปเรียนหนังสือใหม่ เราจึงไม่เห็นภาพเหล่านั้นอีก

อย่างไรก็ตาม สองสามปีมานี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบข้อมูลว่า มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงระหว่างปี 2563 จนถึงปีนี้สูงถึง 1 ล้านคน

ประเมินกันว่าสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากจึงพลอยตกงานกันหมด ขณะที่มีผู้คนนับล้านต้องกลับภูมิลำเนา เพราะไม่มีงานในกรุงเทพฯให้ทำ นี่จึงเป็นเหตุให้เด็กๆหลุดออกจากระบบการเรียนอย่างน่าเสียดายไปด้วย

แม้จะมีความพยายามเอาเด็กกลับเข้าเรียน แต่ลำพังกระทรวงศึกษาธิการคงทำไม่ได้มากนัก นอกจากจะมีเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนทำมาค้าขายไม่คล่อง ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่หันไปซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกกันหมด ทุกกิจการห้างร้านจึงต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

ร่ายยาวมาถึงตรงนี้ก็เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ไทยรัฐกรุ๊ปเป็นสื่อมวลชนที่ยังคงอุปถัมภ์ระบบการศึกษาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐอย่างเข้มแข็งมานานถึง 45 ปีและยังคงให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะทำต่อไป

โดยในวันที่ 18 ต.ค.นี้ เวลา 15.00-17.00 น. ไทยรัฐกรุ๊ปและมูลนิธิไทยรัฐจะจัดงาน “ส่งพลังสู่ระบบการศึกษาผ่านมูลนิธิไทยรัฐ” เพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป

จากทุนประเดิม 500 ล้านบาทของ นายกำพล วัชรพล เจ้าของและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐ ทำให้มูลนิธิไทยรัฐสามารถให้การอุปถัมภ์โรงเรียนในท้องถิ่นห่างไกลได้มากถึง 111 แห่ง

...

ภายใต้ปณิธานที่จะให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านการศึกษา สติปัญญา และจิตใจ เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศในอนาคต

ทุกวันนี้มูลนิธิไทยรัฐมีเด็กในอุปถัมภ์อยู่ราว 25,000 คน เด็กเหล่านี้มาจากครอบครัวยากจน หลายหลังคาเรือนยังไม่มีแม้สังกะสีมุงหลังคาบ้าน ขณะที่อีกหลายคนขาดที่พึ่งไม่มีทั้งพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ทำให้ต้องอยู่กันลำพัง

เราได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะอุปถัมภ์เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งในการสร้าง-ซ่อมอาคารโรงเรียน ห้องน้ำ หอพักครู เสื้อผ้า รองเท้า หาครูพิเศษ และอื่นๆที่ต้องทำอีกจำนวนมาก

สำหรับเป้าหมายพิเศษในปีนี้ก็คือ เพิ่มทักษะทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพิ่มทุนการศึกษาแก่นักเรียนด้อยโอกาส พร้อมกับเพิ่มงบจัดหาอาหารให้เด็กนักเรียนที่ยากไร้ให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการในวัย 6-12 ปี เป็นต้น

งานไทยรัฐกรุ๊ปและมูลนิธิไทยรัฐจะจัดขึ้นที่โรงแรมพญาไท อีสติน โดยมี บัณฑูร ล่ำซำ และศุภชัย เจียรวนนท์ ให้เกียรติปาฐกถาเรื่องสำคัญในระบบการศึกษาไทย ก่อนจะเริ่มประมูลสิ่งของที่ได้รับจากผู้ใหญ่ใจดี องค์กร และบริษัทห้างร้านต่างๆ นอกเหนือจากการร่วมบริจาคตรงผ่านมูลนิธิไทยรัฐ

ขอบคุณแทนเด็กๆ ของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาอีกครั้ง.

มิสไฟน์

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม