ปี 2566 มี “คนตาย” บนท้องถนน 14,145 ราย เฉลี่ยวันละ 39 คน บาดเจ็บพิการอีกกว่า 8 แสนคน (ข้อมูล #ThaiRsc) ความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท (ทีดี อาร์ไอ 2557)

...คำถามสำคัญมีว่า มันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา?

“คอร์รัปชันทำให้คนไม่เคารพกฎจราจร คนทำผิดไม่รู้ตัวว่าผิด คนทำผิดแล้วใช้เงินซื้อความยุติธรรมจนเกิดอภิสิทธิ์ชนมากมาย ทั้งที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตำรวจ กรมการขนส่งฯ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงอัยการและศาล”

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกอีกว่า ปีที่แล้วไปบรรยายเรื่อง “คอร์รัปชัน ขวากหนามใหญ่ลดปัจจัยความสูญเสียทางถนนจริงหรือ?” ให้กับเครือข่าย “มูลนิธิเมาไม่ขับ” ห้องประชุมเต็มไปด้วยผู้พิการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน อาสาสมัครรณรงค์...

และ...พนักงานบริษัทเอกชนที่ใส่ใจปัญหา เช่น ฮอนด้า ได้นำภาพข่าวเหตุการณ์จริงมาประกอบการบรรยายครบทุกประเด็น... ตอกย้ำประเด็นสำคัญ “คอร์รัปชัน” ทำให้เราลดความสูญเสียบนท้องถนนไม่ได้สักวันเดียว เพราะถนนเต็มไปด้วยรถเถื่อนรถผิดกฎหมาย และผู้ขับขี่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย

...

เป็นต้นว่า...รถทัวร์สองชั้น รถตู้ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านค้าตั้งวางของปิดทางเท้าและผิวจราจร จนประชาชนต้องลงมาเดินบนผิวจราจร

“การติดตั้งป้ายโฆษณาเถื่อนของเอกชน รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ขับรถขณะเสพยาและเมาเหล้า รถตู้รับผู้โดยสารเกินจำนวน ขับรถย้อนศร ขับรถบนทางเท้า ก่อสร้างถนนด้อยคุณภาพ การติดตั้งป้ายจราจรมั่ว ด่านเถื่อนคอยรีดไถมากกว่าจับรถผิดกฎหมาย”

สรุปคือ ทุกองคาพยพบนท้องถนน ทางเท้า อาคารริมทาง ป้าย สัญญาณจราจร ยานพาหนะ เหล้าเบียร์ ยาเสพติด ฯลฯ เต็มไปด้วยการโกงกิน...จนกฎหมายและความเป็นธรรมบิดเบี้ยว

เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า ปัญหาที่ยังวิกฤติอยู่อย่างนี้เพราะว่า “รัฐ” ดูดาย เจ้าหน้าที่รัฐโกงกิน เอกชนเห็นแก่ได้ สังคม เมินเฉย...? แล้ว “ประชาชน” จะมีส่วนช่วยหาทางออกเรื่องนี้ได้ อย่างไรครับ

ดร.มานะ ยังโพสต์ในเฟซบุ๊ก “มานะ นิมิตรมงคล” เกี่ยวกับทิศทางใหม่เพื่อป้องกัน “คอร์รัปชันในภาครัฐ” อีกว่า ปัจจุบันมีแนวทางใหม่ๆในการป้องกันคอร์รัปชันของภาครัฐ นอกเหนือไปจากการใช้กฎหมายและหน่วยงาน ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ที่เราคุ้นเคยมายาวนาน

อันเป็นผลจากการผลักดันของคนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นใหม่ ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 5 ทิศทางใหม่ได้แก่ 1.สร้างเครื่องมือใหม่ไปครอบระบบเก่า 2.ใช้เทคโนโลยีเพื่อประชาชน 3.พัฒนาระบบตรวจสอบกำกับดูแล 4.ตีกรอบภารกิจรัฐให้ทันสมัย 5.ปฏิรูประบบราชการและการบริการประชาชน

ลงลึกในรายละเอียดเช่นข้อแรก...สร้างเครื่องมือใหม่ไปครอบระบบเก่า โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ...ทราบกันดีว่าระบบราชการนั้นยากจะแก้ไขเพราะล้วนยึดโยงกับกฎหมาย อำนาจภารกิจของตนเอง และมีสายการบังคับบัญชาที่สร้างบุคลากรให้เติบโตผูกพันกันมา ทางที่ทำได้เร็วกว่าคือ...สร้างระบบขึ้นมาใหม่

“ครอบระบบเดิมในลักษณะของการตรวจสอบ ความ โปร่งใส การกระจายงาน โดยมองผลประโยชน์ส่วนรวมและ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นคือ Traffy Fondue ที่ กทม.และอีกหลายหน่วยงานนำมาใช้ ระบบนี้นอกจากรองรับการร้องเรียนของประชาชนได้อย่างไม่จำกัดแล้ว ยังสามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานตัวจริงที่ถูกร้องเรียนมาร่วมแก้ปัญหาโดยตรง ไม่ต้องรอให้ กทม. ส่งเรื่องประสานงานไปมา เช่น การไฟฟ้าฯ การประปาฯ ฯลฯ

...

“Traffy Fondue” ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีกมากสำหรับ “ทุกหน่วยงาน” ของ “รัฐ”

อีกระบบคือ BMA OSS ของ กทม. ที่เปิดให้ประชาชนยื่นขอใบอนุญาตและติดตามผลทางออนไลน์ หากไม่พบเรื่อง หรือไม่คืบหน้า ไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนด ก็สามารถร้องเรียนได้ทันที ทำให้โปร่งใส สบายใจ ลดเงื่อนไขให้ประชาชนต้องไปพบปะเจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็น

“เทคโนโลยีไม่โกหก ตรวจสอบหลักฐานย้อนหลังได้ ประชาชนติดตามเรื่องของตนเองตลอด แต่แนวทางนี้ถูกใช้น้อยเพราะต้องอาศัยผู้นำที่ตั้งใจ มีวิสัยทัศน์ มองออกว่าติดขัดที่ผู้เกี่ยวข้อง... กฎหมายหรือระบบอย่างไร มีคอร์รัปชันตรงไหน ทางออกควรเป็นเช่นไร แล้วต้องโน้มน้าวหน่วยงานอื่นให้มาร่วมมือได้”

ข้อถัดมา...ตีกรอบ “ภารกิจของรัฐ” ให้ทันสมัย ลดขนาดรัฐด้วยการลดภารกิจที่ไม่จำเป็นแล้วจำกัดบทบาทของรัฐ ลดการผูกขาดอำนาจของหน่วยงาน เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและกระจายงาน หน่วยงานรัฐหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การค้ากับภาคเอกชน วางเงื่อนไขการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจน

...

“ลดงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ลดจำนวนหน่วยงานและจำนวนบุคลากร”

สุดท้าย...ปฏิรูประบบราชการและการบริการประชาชน แนวทางนี้แม้จะเริ่มมาหลายปีแล้ว แต่ยังมีข้อเสนอใหม่ๆน่าสนใจอีกมาก โดยสำนักงาน กพร.เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน เพื่อปฏิรูประบบราชการและการบริการให้ประชาชน พ่อค้านักธุรกิจพึงพอใจ สะดวก ชัดเจน รวดเร็ว ไม่สร้างภาระเกินจำเป็น

โดยแต่ละ “หน่วยงานรัฐ” ต้องทบทวนกระบวนงานให้ทันสมัย ลดขั้นตอน ลดเอกสาร ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยิบย่อย เปิดบริการออนไลน์ เป็นต้น

...

บทสรุปทิ้งท้ายมีว่า...“คอร์รัปชัน” มีนวัตกรรมที่ซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น เป็นเครือข่ายมากขึ้น การต่อต้านคอร์รัปชันด้วยวิธีการแบบเดิมๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ทุกฝ่ายต้องทำงานหวังผล ใส่ใจในผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบได้จริงมากกว่าผลงานที่ปรากฏ โดยคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

...สร้างความร่วมมือหลากหลายมิติ ใส่ใจคนใน “องค์กร” และพลัง “ประชาชน”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม