เป็นข่าวน่าตื่นเต้นทีเดียวที่จะมีโรงงานผลิตชิป (Wafer Fabrica tion) แห่งแรกในประเทศไทย โดยบริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) กับกลุ่ม ปตท. จะเริ่มก่อสร้างโรงงานที่ จ.ลำพูน ภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มผลิตชิปไตรมาสแรกปี 2570
การตั้งโรงงานผลิตชิปดังกล่าว วงเงินลงทุนเฟสแรก 11,500 ล้านบาท ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อผลิตชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ ขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้ว สามารถทนกระแสไฟฟ้าและความร้อนสูงได้ เหมาะสำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการแปลงพลังงานไฟฟ้า
ทุกประเทศล้วนต้องการเกาะเกี่ยวกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล อยากเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการผลิตชิปซึ่งถือเป็น ต้นน้ำ ที่มีมูลค่ามหาศาล การมีโรงงานผลิตชิปแห่งแรกจึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำประเทศไปอยู่ต้นน้ำของห่วงโซ่ อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่าในโรงงานผลิตชิปแห่งนี้ วิศวกรไทยจะได้มีส่วนในการออกแบบชิปมากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแค่คอยควบคุมการผลิตเวเฟอร์จากการนำเข้าของวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ต้องยอมรับว่าความพร้อมของไทยทั้งในแง่ของ องค์ความรู้และ บุคลากร ยังอยู่ห่างไกลจากต้นน้ำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลไหนวางรากฐานและผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง บัณฑิตไทยมีสักกี่คนที่เรียนจบโดยตรงด้านการผลิตชิป ขณะที่บริษัทผลิตชิปก็ไม่เคยมองมาที่ไทยเลย
นโยบายรัฐบาลนายกฯอิ๊งค์ที่แถลงไว้ มีหัวข้อการส่งเสริมโอกาสแห่ง อุตสาหกรรมในอนาคต จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศมาตั้งโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ ผมขอเอาใจช่วยให้มีโรงงานชิปแห่งที่ 2, 3, 4 ตามมา
ในระหว่างที่จะก้าวไปสู่ต้นน้ำ ผมว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับกลางน้ำ โดยเฉพาะการผลิต แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ Print Circuit Board (พีซีบี) ซึ่งเปรียบเหมือน กระดูกสันหลังของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ทำหน้าที่เชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ
...
การผลิตพีซีบีแม้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ก็ไม่ยากซับซ้อนเท่ากับการผลิตชิป ขณะที่แรงงานไทยมีศักยภาพ ฝีมือประณีต ช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตพีซีบีได้อย่างดี และอุตสาหกรรมพีซีบี ยังเติบโตได้อีกมาก
คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวในเวทีเสวนา “ปลุกไทยฝ่าวิกฤติ ปั้น PCB แสนล้าน” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกพีซีบีประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของตลาดโลกที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาท ไทยจะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกพีซีบีให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพราะคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือช่วงปี 2569 ตลาดพีซีบีโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 5.3 แสนล้านบาท ไทยจะทำอย่างไรในการรับอานิสงส์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ได้
หากนำนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 50 ราย เชื่อว่าจะทำให้ส่วนแบ่งของตลาดพีซีบีของไทยเทียบกับตลาดโลกโตขึ้นเป็น 10–15% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี จะทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ ที่ 4 ของโลก รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากจะ สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมากแล้ว ยังสามารถนำพาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
คุณฐากรกล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาล ภาคเอกชน นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันปลุกไทยฝ่าวิกฤติ ปั้นพีซีบีเศรษฐกิจจากแสนล้านสู่เศรษฐกิจหลายแสนล้านบาทให้สำเร็จ
ความมุ่งมั่นที่จะไปยืนต้นน้ำเป็นเรื่องดี แต่ด้วยศักยภาพและทรัพยากรที่เรามีในขณะนี้ อุตสาหกรรมกลางน้ำก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม