นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับ “เหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียนไปทัศนศึกษา” ส่งผลให้ครู–นักเรียนต้องสังเวยชีวิต 23 ราย กลายเป็นอุบัติเหตุที่บีบหัวใจคนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่หัวใจแทบสลายที่ต้องสูญเสียลูกหลานไปคราวนี้

แต่ว่าเหตุครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก “ในการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับรถนักเรียน” ถ้าหากเรายังจำกันได้ในปี 2557 รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนใน จ.นครราชสีมา เบรกแตกพุ่งชนรถพ่วง 18 ล้อ บริเวณถนนสาย 304 จ.ปราจีนบุรี เหตุการณ์คราวนั้นส่งผลให้ครู-นักเรียน เสียชีวิตราว 16 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบรายเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนราคาแพงต่อ “สังคมไทย” ต่างหวนมาถกเถียงเรียกร้องให้ยกเลิกทัศนศึกษา และอีกฝ่ายก็มองว่าการยกเลิกนั้นเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะการทัศนศึกษาเป็นการเสริมกิจกรรมพิเศษ แต่การเกิดอุบัติเหตุจากการไปทัศนศึกษานำมาซึ่งความสูญเสียนั้นต้องทบทวนการเตรียมความพร้อมสภาพรถ คน ถนน

ยิ่งกว่านั้น “หน่วยงานกำกับดูแล” ควรต้องเข้มงวดตั้งแต่ตรวจสภาพรถ และความพร้อมกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเพลิงไหม้ เพราะประเทศไทยไม่ควรยอมรับการตายในสิ่งที่สามารถป้องกันได้นี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สนง.สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงการณ์จัดการผู้ที่ทำให้รถไม่ปลอดภัยต้องรับผิดชอบต่อชีวิตเด็กและครูว่า

...

สารี อ๋องสมหวัง
สารี อ๋องสมหวัง

อุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า “ประเทศไทยมีรถบัสสำหรับนักเรียนไปทัศนศึกษาที่ไม่มีความปลอดภัยเลย” แม้ภายนอกรถจะปรับปรุงตกแต่งให้ดูสวยงาม “แต่จดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513” แถมเอกสารขอติดแก๊ส NGV จำนวน 5 ถังกลับติดจริง 11 ถัง สิ่งนี้สะท้อนถึงกลไกบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานอย่างมาก

เช่นนี้อยากเรียกร้อง “ผู้ที่เกี่ยวข้องกับรถที่ไม่ปลอดภัยออกมารับผิดชอบให้ชัดเจน” ในส่วนสภาผู้บริโภคก็จะให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวผู้สูญเสีย ดำเนินการทุกช่องทางให้ถึงที่สุด “เพื่อเป็นตัวอย่างสู่การป้องปราม” เพราะเคยมีการสรุปบทเรียนจากอุบัติเหตุรถบัสมาตลอดแต่ก็ไม่เคยถูกนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม

สุดท้ายมักมีเหตุผลข้อโต้แย้ง “จนไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น” โดยเฉพาะการยกเลิกการใช้รถ 2 ชั้นในการรับจ้างแบบไม่ประจำทาง “อันเป็นสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ” มีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้รถประเภทนี้มาหลายปี “แต่ก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นเดิม” จึงอาจใช้โอกาสนี้สังคายนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ถัดมาคือ “การเยียวยา” กรณีรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ได้ทำประกันไว้ 10 ล้านบาทหากเยียวยาให้แก่เด็ก-ครูที่เสียชีวิต 23 ราย รายละ 5 แสนบาท “คงไม่เพียงพอ” เพราะการทำประกันภัยรถ ภาคบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาท/คน

แต่ก็มีข้อกำหนดวงเงินว่า “ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบอุบัติเหตุในกรณีที่เสียชีวิต” จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการทำประกันภัย พ.ร.บ.โดยเฉลี่ยจ่ายจากวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง กลายเป็นว่าไม่ครอบคลุมกับความเสียหายหากเมื่อเกิดเหตุร้ายแรง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเลยด้วยซ้ำ

อย่างกรณีปี 2556 รถทัวร์รับ-ส่งคณะทำบุญผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุตกเหวลึกกว่า 50 เมตร อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย และเสียชีวิต 23 ราย คราวนั้นเงินชดใช้ค่าเยียวยาก็ไม่เพียงพอ แล้วก็ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขขยายวงเงินประกันภัยภาคบังคับของรถโดยสารแบบไม่ประจำทาง ปล่อยผ่านมาจนถึงทุกวันนี้

...

ดังนั้นในอนาคต “ต้องทบทวนขยายวงเงินประกันภัยภาคบังคับรถโดยสารแบบไม่ประจำทางเป็น 30 ล้านบาท” เพื่อจะมีเงินเยียวยาให้ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารไม่ประจำทางได้สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

ตอกย้ำด้วย “การรื้อระบบตรวจสภาพรถยนต์ทั้งหมด” โดยเฉพาะรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับบริการขนส่งสาธารณะที่ถูกละเลยมานาน ปัจจุบันรถสาธารณะตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง แต่ในบางประเทศตรวจทุกไตรมาสแล้วที่จริงๆควรดูตามจำนวนการใช้งานไม่ใช่ดูตามจำนวนครั้งต่อปี หรือกำหนดเป็นระยะเวลาตายตัวเพียงอย่างเดียว

เพราะต้องเข้าใจว่า “กิจกรรมการเดินทางไปทัศนศึกษาของนักเรียน” ส่วนใหญ่มักจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงปิดภาคเรียน ส่งผลให้มีความต้องการใช้รถบัสไม่ประจำทางเป็นจำนวนมาก “ย่อมมีผลให้รถบัสชั้นเดียวไม่เพียงพอ” โรงเรียนหลายแห่งจำเป็นต้องหันมาใช้รถบัส 2 ชั้นที่อัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถบัสชั้นเดียว

...

ทำให้มีคำถามว่า “ทำไมปล่อยให้รถไม่มีมาตรฐานอยู่บนถนนเมืองไทย” เพราะเราไม่อาจยอมรับกับการตายจากสิ่งที่มนุษย์สามารถป้องกันได้ ในเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบตรวจสภาพรถยนต์ต้องออกมารับผิดชอบ กรณีปล่อยให้รถที่ไม่ปลอดภัยวิ่งอยู่บนถนนมากมาย กลายเป็นโศกนาฏกรรมก่อให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้นนี้

แล้วท้ายที่สุด “คนไทยอาจต้องมาร่วมมือกัน” ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของรถก็ดี ถนนไม่ปลอดภัยก็ดี หรือถนนโค้งอันตรายก็ดี เพื่อให้คนใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยสูงสุด

ส่วนเรื่องสุดท้าย “การพัฒนากฎหมาย กระบวนการทำงาน และกระบวนการยุติธรรม” ที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรม และป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นคราวนี้ต้องนำไปสู่การพัฒนากฎ ระเบียบ มาตรการต่างๆ รวมถึงวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถโดยสาร

ทั้งการตรวจสภาพรถรวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหาย ซึ่งถือเป็นการป้องปรามให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากขึ้น นอกจากนี้เรายังคาดหวังไปถึง “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งอยากให้การสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถูกนำไปพิจารณา และมีคำพิพากษาในเชิงที่จะป้องปรามการดำเนินการในประเทศไทย

...

ด้วยเหตุที่ว่าเวลานานไป “สิ่งที่พยายามจะสรุปบทเรียน” มักไม่ถูกใช้งานในฝั่งของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เพราะสุดท้ายก็จะมีเหตุผลข้อโต้แย้งต่างๆ ในท้ายที่สุดเราก็จะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ดังนั้นสภาผู้บริโภคจะสนับสนุนครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่

ฉะนั้นก็หวังว่า “รัฐบาล” จะใช้โอกาสนี้สังคายนากฎ ระเบียบ ตั้งแต่การออกใบอนุญาตรถโดยสาร ตรวจสภาพรถ รวมถึงวางมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด เพื่อมิให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำซาก เพราะจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม