วันเสาร์สบายๆ วันนี้ไปคุยเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์กันนะครับ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากให้เวลาผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ขายสินค้า และผู้ส่งสินค้า ได้มีเวลาปรับตัวเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่ง

ไลฟ์สไตล์ยุคนี้ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์โดยเรียกเก็บเงินปลายทางมากขึ้น เพราะสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาและค่าน้ำมันออกไปซื้อสินค้าที่ร้าน ปัญหาที่ตามมาคือมีผู้ขายสินค้าบางเจ้าไม่ซื่อสัตย์ ขาดความรับผิดชอบ หลอกลวงผู้บริโภค เช่นสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา สินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงิน เมื่อผู้ซื้อจ่ายเงินให้ผู้ส่งสินค้าไปแล้วแต่มาพบว่าสินค้ามีปัญหา ต้องการขอเงินคืน ปรากฏว่าผู้ให้บริการขนส่งสินค้านำเงินไปจ่ายผู้ขายแล้ว และผู้ซื้อไม่สามารถติดต่อไปยังผู้ขายได้

เรื่องร้องเรียนปัญหาลักษณะดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณจิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศฉบับดังกล่าว หรือเรียกว่า มาตรการส่งดี (Dee–Delivery) เพื่อแก้ปัญหาผู้ขายสินค้าไม่สุจริต หลอกลวงผู้บริโภค และเป็นการคุ้มครองเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery : COD)

สิทธิและหน้าที่ของผู้ขายสินค้า ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า และผู้ซื้อสินค้า ตามมาตรการส่งดี มีดังนี้ 1.ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้ากับผู้ขายโดย แจ้งรายละเอียดสินค้าที่ต้องการ เช่น ชื่อสินค้า ขนาด น้ำหนัก สี จำนวน ราคา

...

2.ผู้ขายจัดเตรียมสินค้าตามที่ผู้ซื้อสั่ง พร้อม แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและสินค้าให้กับผู้ขนส่ง ได้แก่ ชื่อผู้ขาย ที่อยู่ เบอร์โทร. อีเมล และรายละเอียดสินค้า

3.ผู้ขนส่งรับพัสดุจากผู้ขาย จัดทำ หลักฐานการรับเงิน ตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้ขาย พร้อมระบุ รายละเอียดของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่ง ได้แก่ ชื่อบริษัท ที่อยู่ เบอร์โทร. อีเมล และหมายเลขพัสดุ รวมทั้งระบุข้อมูลพนักงานส่งสินค้า (ไรเดอร์) ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทร. และสถานที่เข้ารับพัสดุจากผู้ขาย

4.การจัดส่งพัสดุให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้าแทนสามารถเปิดตรวจสอบพัสดุก่อนชำระเงิน หากพบว่าสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้าที่จัดส่งมา ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธการรับสินค้าและไม่ต้องชำระเงิน โดยพนักงานขนส่งและผู้ซื้อจะต้องจัดทำหลักฐาน เช่น บันทึกวิดีโอ ภาพถ่าย หรือหลักฐานอื่นๆ

กรณีผู้ซื้อรับสินค้าและชำระเงินแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งต้องออกหลักฐานการรับเงินให้กับผู้ซื้อ จะเป็นกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และต้อง ถือเงินไว้เป็นเวลา 5 วันก่อนส่งมอบเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้เวลาผู้ซื้อในการแจ้งปัญหากรณีสินค้าไม่เป็นไปตามที่สั่งซื้อ หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ได้สั่งซื้อ

5.การคืนสินค้า หากผู้ซื้อพบว่าสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือชำรุดบกพร่อง ภายหลังจากรับสินค้า หรือไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้ามาส่ง สามารถแจ้งคืนสินค้าและขอรับเงินคืนภายใน 5 วัน โดยผู้ประกอบธุรกิจขนส่งรับผิดชอบจัดส่งสินค้าคืนให้กับผู้ขาย

6.การคืนสินค้าให้กับผู้ซื้อ ถ้ามีการแจ้งเหตุปัญหาให้ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วเป็นไปตามที่แจ้ง ให้คืนเงินแก่ผู้ซื้อภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้ซื้อ

สรุปว่าเมื่อพัสดุมาส่ง หากแกะกล่องแล้วสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง ไม่ต้องชำระเงิน แต่ถ้าจ่ายตังค์ไปแล้วก็ขอคืนได้ ถือเป็นมาตรการที่คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม

แต่ถ้าเป็นกรณีเห็นสินค้าแล้วไม่ถูกใจ ผู้ซื้อจะหาข้ออ้างไม่รับสินค้า หรือขอคืนเงิน ทำไม่ได้นะครับ.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม