บ่อนพนันออนไลน์ในไทยกำลังอาละวาดหนัก “แพร่ระบาดเข้าถึงทุกเพศทุกวัยเล่นกันอย่างโจ๋งครึ่ม” โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่เข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียกำลังตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยบรรดาบ่อนพากันเปิดกลยุทธ์การตลาดจูงใจยิงโฆษณาจัดโปรโมชันให้เครดิตยืมเงินเล่นได้ไม่อั้น ใช้อินฟลูเอนเซอร์ ชักชวนผ่านสื่อออนไลน์หลายช่องทางสะท้อนผ่าน ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน หน.คณะวิจัยได้ทำการศึกษารูปแบบการตลาดเว็บไซต์พนันออนไลน์ว่า
ย้อนไล่เรียงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 คนไทยเล่นพนันออนไลน์ 8.27 แสนคน เป็นนักพนันหน้าใหม่ 9.2 หมื่นคน เงินหมุนเวียน 2 หมื่นล้านบาท เพราะเล่นได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา 93% แถมฝากถอนเงินเร็วมั่นใจไม่ถูกจับ แต่พอโควิดระบาด “เยาวชน” เล่นพนันออนไลน์มากขึ้น 3.6 ล้านคน จำนวนนี้มีเด็ก 13% มีเงินหมุนเวียนหมื่นล้านบาท
ส่วนใหญ่มักเล่นพนันยิงปลา หวย สลอต บาคารา ทายผลกีฬาผ่านสมาร์ทโฟน 96.97% โน้ตบุ๊ก 21.76% ถูกชักชวนเริ่มเห็นโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก 76% เว็บไซต์ 70% ไลน์ 32% อินสตาแกรม 25% และทวิตเตอร์ 15%
แต่พอปี 2564 มีผู้เล่นพนันออนไลน์ที่ 1.9 ล้านคน “เงินทุนหมุนเวียนแสนล้านบาท” แล้วในปี 2566 หนุ่มสาวอายุ 15-25 ปี ใน 19 จังหวัดเล่นพนันออนไลน์สูงขึ้น 42% โดยเล่นพนันออนไลน์ 11% และเล่นทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ 20.4% จำนวนนี้ 1 ใน 4 เป็นนักพนันหน้าใหม่ส่งผลเชิงลบมีโอกาสเสียเงินจำนวนมากเสี่ยงติดพนันง่ายขึ้น
...
กระทั่งปี 2567 “มีการศึกษารูปแบบการตลาดพนันออนไลน์” ปรากฏพบว่านักพนันเปลี่ยนการเล่นเป็นเล่นพนันออนไลน์ที่บ้าน หรือที่ทำงานเป็นหลัก “เด็กและเยาวชน” เข้าถึงการพนันออนไลน์ได้ง่ายขึ้นผ่านกลยุทธ์การตลาดในการเชิญชวนหลายวิธี เช่น การผูกเรื่องพนันกับการดูกีฬา เกม หรือเรื่องเงินดิจิทัล
ส่วนปัจจัยทำให้เด็กหันมาเล่นพนันออนไลน์มากขึ้นแบ่งออกเป็น “ปัจจัยภายใน” ไม่ว่าจะเป็นอยากรู้อยากลองของวัยรุ่น ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องการหารายได้ รวมถึงสัมพันธภาพในครอบครัวไม่มีเวลาคุยกันส่งผลให้เด็กหันหาโทรศัพท์มือถือ “ถูกชักชวนเข้าเว็บไซต์พนันในที่สุด” เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้
ต่อมาคือ “ปัจจัยภายนอก” การเล่นพนันในสังคมเป็นเหมือนกิจกรรมทั่วไปจนทำให้ทัศนคติเด็กสับสนเข้าใจว่า “ผู้ใหญ่สนับสนุน” นำมาซึ่งการเล่นพนันส่งผลเสียต่อความสามารถควบคุมตนเองนำสู่เสพติดการพนันแล้วก็เริ่มมีพฤติกรรมโกหกผู้อื่น “เพื่อให้ได้เงินมาเล่น” สุดท้ายต้องหาเงินด้วยวิธีไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม
ถ้าพูดถึงกลยุทธ์การตลาด “เว็บไซต์พนันใช้จูงใจเด็กนั้น” ก็ค่อนข้างเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอย่างกรณี “ผลิตภัณฑ์” มีการออกแบบเว็บที่หลากหลาย เช่น ใช้พริตตี้เซ็กซี่มาโชว์เปลือยโฆษณาชวนเล่นพนันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีทั้งในเกมสลอต เกมยิงปลา การพนันเกี่ยวกับอีสปอร์ต หรือเกี่ยวกับการแข่งกันกีฬาทั่วไปด้วยซ้ำ
ยิ่งกว่านั้น “กลยุทธ์ราคา” จำนวนเงินการเล่นเลือกได้ตั้งแต่ระดับขั้นต่ำ 1 บาท แม้แต่ผู้เล่นไม่มีเงินก็ยื่นข้อเสนอเล่นฟรีหรือให้ยืมเงินเล่นก่อนก็มี ทำให้ผู้เล่นไม่ต้องคำนึงจำนวนเงินที่มีก็เข้าเล่นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แถมมีโปรโมชันให้ชัยชนะแจกรางวัลแก่ผู้เล่นที่เพิ่งเข้ามาช่วงเริ่มต้น และการให้รางวัลในโอกาสพิเศษอีกมากมาย
ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ชักชวนผ่าน “ช่องทาง Place” ในการเข้าถึงเว็บพนันที่หลากหลายไม่ว่าจะแปะลิงก์โฆษณาบนเว็บไซต์ดูหนัง การยิงโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ช่องต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต่อก ไลน์ เลือกกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มเด็ก-เยาวชนผ่านตัวเลือกความสนใจเกม เพลง หนัง ซีรีส์ และการ์ตูนแบบเจาะจง
ตอกย้ำว่า “กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer)” มักเป็นกลยุทธ์ใช้ในการจูงใจให้เด็กเล่นพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น “คนที่รับงานนี้ในเว็บพนัน” ส่วนใหญ่จะใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตนเองในการสร้างเนื้อหา พยายามสื่อว่าเล่นการพนันที่เว็บนี้แล้วรวยมีเงินเข้ามาจริง เช่น โชว์รถหรูไลฟ์ผ่านช่องทางติ๊กต่อก
“ปัจจุบันเว็บไซต์พนันออนไลน์มีแนวโน้มจ้างกลุ่มเด็ก และเยาวชนมีอิทธิพลทางความคิดทั้งเป็นเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง จูงใจนักพนันหน้าใหม่มาเล่นในเว็บไซต์ให้เด็กชื่นชอบ ศรัทธา และเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นบุคคลตัวอย่างก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการทำตามเลียนแบบเริ่มต้นเข้าสู่การเล่นพนันออนไลน์จริงจังในที่สุด” ดร.ธีรารัตน์ว่า
เมื่อเป็นแบบนี้จึงนำมาสู่ “การถอดบทเรียนแนวทางการรู้เท่าทันสื่อการตลาดพนันออนไลน์” ด้วยการสร้างทัศนคติต่อต้านการพนัน “ตีตราผู้ไม่หวังดี” แล้วใช้สื่อและผู้มีอิทธิพลทางความคิดส่งเสริมอินฟลูเอนเซอร์สายขาวกระตุ้นการเรียนรู้ในสังคม “เปิดพื้นที่สนทนา” แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับการพนันเพื่อป้องกัน
อีกทั้งต้องเสริมสร้างความรู้ด้านการเงิน “รู้การเงิน-รู้ทันการพนัน” ควบคู่การให้ความรู้องค์ประกอบ “แบบเจาะลึก” เพื่อให้มีวิธีรับมือจัดการกับอารมณ์ที่เกิดจากการพนัน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งอันจะเป็นเกราะป้องกันแล้วก็พัฒนาศักยภาพครูให้รู้ทันพนัน และปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมด้วย
...
ประเด็นข้อเสนอ “ภาครัฐ” ต้องยกระดับปัญหาพนันออนไลน์ “เป็นวาระแห่งชาติ” บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด แต่ก็น่าเสียดาย “ประเทศไทยกำลังจะทำให้การพนันถูกกฎหมาย” สิ่งนี้เป็นความท้าทายโจทย์ใหญ่ในการรับมือกับภัยจากการพนันไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก-เยาวชนด้วยความจริงใจกับปัญหานี้
ด้วยการกำหนดนโยบาย “จัดการการพนัน” โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม หลีกเลี่ยง และการตัดสินใจที่เน้นผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และปรับปรุงกฎหมายการพนันให้ทันสมัยครอบคลุม
ทว่าในส่วน “สถานศึกษา” ควรจัดหลักสูตรรู้เท่าทันพนันออนไลน์ “อบรบบุคลากรการศึกษา” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมในโรงเรียนปลอดจากการพนัน และเชื่อมโยงหน่วยงานภายนอกนำแนวทางมาปรับใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันในเด็ก “ชุมชน” ก็ต้องสร้างเครือข่ายรวบรวมสมาชิกแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์
ทั้งยังต้องเสริมสร้างบทบาทครอบครัวให้เข้มแข็ง “ตั้งกลุ่มคณะกรรมการเฝ้าระวังปัญหาในชุมชน” ในการรายงานแก้ปัญหาให้ทันท่วงที เพื่อจะเป็นชุมชนต้นแบบปลอดการพนันขยายสู่ชุมชนอื่น
...
นี่ล้วนเป็นกลยุทธ์การตลาดพนันออนไลน์ที่คืบคลานเข้าไปในบ้านของทุกคนพยายามชักจูงเด็ก-เยาวชนให้ตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว “ทุกภาคส่วน” คงถึงเวลาร่วมมือกันป้องกัน “ไม่ให้ลูกหลานเราถูกมอมเมาตั้งแต่ต้น” มิเช่นนั้นหากเขาเติบโตไปกับการติดพนันในอนาคตก็คงจะแก้ได้ยากแล้ว...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม