“การทำลายป่าเพื่อความรํ่ารวย ของนายทุน และบริษัทต่างประเทศ หรือการเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมจากเกษตรธรรมชาติหรือเกษตรสมดุลมาเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อความสะดวกและความร่ำรวยของพ่อค้าคนกลาง แต่ทำให้ เกษตรกรทั้งหมดยากจนลง หมดเนื้อหมดตัว หนี้สินท่วมหัว

...หนีภัยพิบัติ เข้ามาเป็นคนจนในเมืองหรืออยู่ในสลัม เกิดเป็นปัญหาทางสังคมต่อๆ ไป”

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการพัฒนา “ประเทศไทย” ที่ผ่านมาที่ทำเหมือนการสร้างพระเจดีย์จากยอด ทำอะไรก็จะเอาแต่ข้างบนโดยทอดทิ้งข้างล่าง หรือทำลายข้างล่าง เพื่อประโยชน์ของคนข้างบน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ย้ำว่า พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงถ้าไม่มีฐานรองรับ...

“ฐานแผ่นดินไทยคือ ชุมชน ตำบล อำเภอ การพัฒนาให้ฐานแผ่นดินไทยแข็งแรงมั่นคงจะรองรับประเทศทั้งหมด ให้มั่นคง”

พุ่งเป้าประเด็นสำคัญ “บูรณาการฐานแผ่นดินไทยปลอดภัยจากภัยพิบัติ 3 ความยากจน ฝนแล้ง น้ำท่วม”...ชัดเจนว่า

ถ้าเราต้องการอะไรก็สามารถออกแบบระบบและโครงสร้าง และหาชิ้นส่วนมาประกอบจนครบเป็นองค์รวม เช่น ถ้าเราต้องการอะไรที่บินได้ ก็ต้องออกแบบระบบเครื่องบิน ถ้าเราต้องการอะไรที่ลอยน้ำได้ก็ต้องออกแบบระบบและโครงสร้างที่เป็นเรือ ถ้าเราต้องการบ้านที่อยู่อาศัยได้ ก็ต้อง ออกแบบบ้านและโครงสร้าง แล้วเอาส่วนประกอบเข้ามา ประกอบตามโครงสร้าง เช่น พื้นบ้าน ผนังบ้าน หลังคาบ้าน

เมื่อมีระบบโครงสร้าง และองค์ประกอบครบเป็นองค์รวม ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ เช่น เครื่องบินที่เป็นองค์รวมสามารถบินได้ ซึ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ทั้งที่ไม่มีชิ้นส่วนใดๆของเครื่องบินที่บินได้เลย ต้องเป็นองค์รวมจึงจะบินได้...มุมมองข้างต้นนี้ได้กล่าวไปหลายต่อหลายครั้งและหลายๆคราด้วยกันแล้ว

...

ปัญหามีว่า...ประเทศไทยพัฒนาแต่ชิ้นส่วนโดยไม่ออกแบบ ระบบและโครงสร้าง จึงไม่เคยมีประเทศไทยที่บินได้หรือประเทศไทยที่เป็นองค์รวม

“การคิดเชิงระบบจึงมีความสำคัญ แต่เราคุ้นเคยกับการคิดแยกส่วน ทำอะไรต่างๆ โดยเอาเทคนิคหรือวิชาการเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ออกแบบและโครงสร้างแล้วจึงใช้เทคนิคเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบเครื่องตามที่ออกแบบไว้ เราจึงพัฒนาไม่สำเร็จ”

อาจารย์หมอประเวศ แจกแจงว่า แต่ละอำเภอประกอบด้วยตำบลโดยเฉลี่ย 10 ตำบล แต่ละตำบลโดยเฉลี่ยมี 10 หมู่บ้านหรือชุมชน แต่ละอำเภอมีราวๆร้อยชุมชน และแต่ละชุมชนก็มีประชากร 500-1,000 คน เรามีอำเภอทั้งหมด 800 อำเภอ แต่ละอำเภอมีประชากร 50,000-100,000 คน

รวมแล้วก็เท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศประมาณ76 ล้านคน

“เราสามารถออกแบบอำเภอแต่ละอำเภอให้บูรณาการเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความยากจน ฝนแล้ง น้ำท่วม โดยแต่ละอำเภอต้องออกแบบให้เป็นเสมือนป้อมปราการที่ทุกคนอยู่ในป้อมได้อย่างปลอดภัย รอบๆ อำเภอมีคลองหรือทะเลสาบ เป็นอำเภอที่มีน้ำล้อมรอบ มีกำแพงอำเภอก่อเป็นมูลดินขึ้นรอบๆอำเภอ

...เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือให้คนขึ้นไปอยู่อาศัยบนเชิงเทินหรือกำแพงดิน”

การที่คนทั้งอำเภอจะปลอดภัยจากน้ำท่วม ฝนแล้ง และความยากจน แต่ละอำเภอควรมีป่าไม้ประมาณ 50%

ย้อนไปสมัยก่อนการพัฒนาสมัยใหม่ พื้นที่ประเทศไทยเป็นป่าไม้กว่า 50% “ต้นไม้”...เก็บน้ำไว้จำนวนมาก ป้องกันน้ำท่วมและปล่อยน้ำออกมาในหน้าแล้งเป็นต้นน้ำลำธาร ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น

ฉะนั้นแต่ละอำเภอต้องพยายามปลูกป่าให้มีพื้นที่ป่าประมาณ 50%

แต่ละครอบครัวมีสระน้ำประจำครอบครัวที่สามารถเก็บน้ำได้ทั้งปี การมีสระน้ำประจำครอบครัวจะทำให้...“หายจน” โดยสามารถเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เหนือสระ ให้มูลขี้ไก่ตกลงไปเป็นอาหารปลา น้ำในสระนำไปรดน้ำผักสวนครัว ทำให้มีกินมีใช้และขายทั้งปลา ผัก ผลไม้ เป็นรายได้ประจำวัน

แต่ละสระมีปลานับพันตัว...กินอย่างมากก็วันละสองตัวเหลือขายทำให้หลุดหนี้มีเงินออม เรื่องนี้ชาวบ้านได้ทดลองมาแล้วว่าการมีสระน้ำประจำครอบครัว ทำให้หลุดหนี้มีเงินออมได้จริงๆ

การขุดสระต้องลงทุนสระละประมาณ 15,000 บาท ครอบครัวหนึ่งอาจมีหลายสระก็ได้ โดยสามารถกู้เงินจากธนาคารและใช้คืนได้อย่างรวดเร็ว

...

จึงทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนจากการสร้างงานในการใช้รถแทรกเตอร์ขุดสระทั่วประเทศ สร้างงานให้คนงานขุดสระจำนวนมหาศาล และสระยังช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

เมื่อมี “น้ำ” ทั้งปีก็สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ด้วย ถ้าผืนดินเป็นดินทราย เก็บน้ำไม่ได้ ก็แก้ไขได้โดยซื้อยางพาราจากภาคใต้มาฉาบพื้นสระเพื่อกักน้ำ ทำให้ยางพาราขายดี

ลงลึกไปอีกระดับในทางปฏิบัติ...กรณีที่อยู่อาศัยของคนภายในอำเภอเวลาน้ำท่วมทำได้ 3 รูปแบบคือ ทำเรือนขาสูงพ้นจากน้ำท่วม, ทำเป็นบ้านแพไม้ไผ่ โดยแต่ละพื้นที่ปลูกไผ่ไว้ให้พอใช้และเอาไม้ไผ่มาทำแพ พอน้ำท่วมแพก็ลอยน้ำขึ้นมา, อพยพขึ้นไปอยู่บนกำแพงดินรอบอำเภอ และสามารถทำวิธีอื่นๆได้อีก

ทั้งนี้สิ่งที่จำเป็นและต้องการก็คือ “ภูมิสถาปนิก” และ “วิศวกร” ทำการออกแบบพื้นที่อำเภอดังกล่าวข้างต้น เพื่อป้องกันน้ำท่วม มีน้ำใช้ยามฝนแล้ง และสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่

“สถาปนิก...วิศวกรช่วยกันออกแบบให้พื้นที่สวยงามน่าอยู่และปลอดภัย ประเทศจึงต้องการภูมิสถาปนิกและวิศวกรชุมชนจำนวนมาก” ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ กล่าวทิ้งท้าย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม