ข้อมูลทุกมิติชี้ “ประเทศไทย” พร้อมเป็น “ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค” ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านขีดความสามารถของท่าอากาศยาน นโยบายการท่องเที่ยว ตลอดจนศักยภาพด้านอื่นๆ ของประเทศ คาดจำนวนนักเดินทางปี 2567 กว่า 4.96 พันล้านคน (ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) โดยในไตรมาส 4 นี้ อาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกินกว่าจำนวนเที่ยวบินที่ทำการอยู่จะรองรับได้ ด้านสายการบินลุยขยายฝูงบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพียงพอกับฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง
ด้วยการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ทำให้เป้าหมายของการเป็น “ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)” นั้นชัดเจนขึ้นอีกครั้ง โดยประเทศไทยเองก็มีความพร้อมในหลายมิติสู่การเดินทางไปถึงเป้าหมายครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากนโยบาย Free Visa (ฟรีวีซ่า) ของรัฐบาลและการฟื้นตัวของสถานการณ์โรคระบาด อีกทั้งศักยภาพของท่าอากาศยานในการรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะจากการเพิ่มเส้นทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,การเปิดดำเนินการท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง,แผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ตลอดจนศักยภาพของตลาดท่องเที่ยวและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวต่าง ๆ จากรัฐบาล ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นฮับการบินของภูมิภาค แต่เป้าหมายในครั้งนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน เพราะหากมองลึกลงไปที่ปริมาณเครื่องบินที่จะใช้รองรับผู้โดยสารจะพบว่าปัจจุบันปริมาณเครื่องบินพาณิชย์ที่ให้บริการในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 217 ลำ ให้บริการผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศอย่างเต็มขีดความสามารถ
การเติบโตของธุรกิจการบินสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนฝูงบิน ข้อมูลจากเว็บไซต์ airfleets.net พบว่าในปี 2567 สายการบินในไทยได้เพิ่มเครื่องบินเข้ามาในฝูงบินแล้ว 14 ลำ ทำให้นักบินว่างงานที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด ถูกเรียกกลับมาบินแล้วกว่า 200 อัตรา และยังคงมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับเครื่องบินใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต ตามคำสั่งซื้อของหลายสายการบินเช่น การบินไทย ที่สั่งซื้อเครื่องบินแบบ Boeing 787-9 มากถึง 45 ลำ และยังมีตัวเลือกคำสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ลำ รวมทั้งสิ้น 80 ลำ สายการบินแอร์เอเชีย และสายการบินใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) แล้ว เช่น สายการบิน P80 คาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า นักบินอาจไม่เพียงพอ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการบิน ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการบิน ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างความเติบโตทางอาชีพในอุตสาหกรรมการบิน โดยจัดงาน Thai Aviation Job and Education Fair ขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2567 ที่ตึกเอ็มกลาส ศูนย์การค้าดิ เอ็มสเฟียร์ ในงานมีการรับสมัครงานจากสายการบิน และหน่วยงานชั้นนำ รวมทั้งกิจกรรมแนะนำการศึกษาต่อ จากสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน และกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจด้านการบิน ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงาน เพื่อค้นหาข้อมูล และวางรากฐานอาชีพที่มั่นคง เมื่อประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการบินในอนาคต
“เป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคของประเทศไทย หากมองในมิติของอุปสงค์ (Demand) จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงมากด้วยขนาดตลาด(market size) ของประเทศไทย ณ ปัจจุบันซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก คาดการณ์ในอนาคตอันใกล้ขนาดตลาดของอุตสาหกรรมการบินประเทศไทยจะสามารถเติบโตขึ้นได้เป็นอันดับ 9 ของโลก แต่โจทย์ที่ท้าทายของประเทศไทยเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้คือมิติของอุปทาน(Supply) ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบุคลากรทางการบิน ท่าอากาศยาน เส้นทางบิน และ เครื่องบิน อีกทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน (value chain of aviation industry) เพราะในภาพใหญ่การเดินทางสู่จุดหมายครั้งนี้มีหลากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐฯ เอกชน ประชาสังคม ตลอดจนภาคประชาชนเองที่เป็นผู้ร่วมทางและเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเสริมความแข็งแรงให้กับข้อได้เปรียบที่เรามี ในเวลาเดียวกันก็เดินหน้าพัฒนาในจุดที่ยังเป็นข้อจำกัด ด้วยศักยภาพของประเทศและคนไทย เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค (Aviation Hub) นั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถครับ” สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
การพาประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค” อาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การปรับกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจการบิน การเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร เช่น การลดเวลาเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Flight Connecting Time) และสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือการเพิ่มปริมาณอากาศยานและบุคลากรทางการบินให้เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยหากผสานกับการพัฒนาอันบูรณาการความร่วมมือจากที่กล่าวไปข้างต้น จะเป็นปัจจัยเร่งให้ฉากทัศน์ของการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคดังเป้าหมายที่วางไว้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง