การพัฒนาของ “เกษตรกรไทย” เริ่มจากแต่ละบ้านมีการเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภค ภายในครัวเรือนการเพาะปลูกปริมาณมากขึ้นเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านในบริเวณใกล้เคียงกัน และพัฒนาจนกลายมาเป็นการค้าขาย และต่อมาเป็นประเทศเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเร่งเครื่องผลักดันนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็น “ผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร”

หรือ “Agricultural Service Provider” ช่วยเกษตรกรก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยตนเอง

ในยุค ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรเป็นผลส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร หรือ Agricul tural Service Provider

มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะนายทะเบียน กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก โดยที่ผ่านมาทางกรมส่งเสริมการเกษตรมีการบันทึกข้อมูลเครื่องจักรกลทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรที่มาแจ้งขึ้นทะเบียน

หรือ...ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรออกเป็น 8 หมวดหมู่ รวม 51 ประเภท

นอกจากนี้ยังมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานดำเนินการรวบรวมข้อมูลอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตรให้บริการของสถาบันเกษตรกร 73 จังหวัด 632 สหกรณ์...

...

สหกรณ์เป็นผู้บริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่ามีเกษตรกรที่ให้ข้อมูลในส่วนของเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพียงร้อยละ 1 ของครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด

อีกทั้งข้อมูลในส่วนของทะเบียนเครื่องจักรกลการเกษตรยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรอีกด้วย ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการนโยบายฯว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ.2560 เป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบันนั้นไม่ครอบคลุมผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร

ดำเนินการออกระเบียบฉบับใหม่เพิ่มเติม ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯมีนโยบายทบทวนเรื่องการรับขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร มอบหมายทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะนายทะเบียนและฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์

ยกร่าง “ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ.2567” พร้อมเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุคคลทั่วไป

ความเคลื่อนไหวนี้ ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขา สศก. เรียนหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง รุ่น 3 ฝากบทความพิเศษมาให้หัวหน้าข่าว นสพ.ไทยรัฐ ช่วยพิจารณาส่งต่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ระบุว่า สศก.ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ.2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุคคล ระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค.2567 และประชาสัมพันธ์ข่าวสาร

รวมถึงมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานทั้ง 22 หน่วยงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบมีผลการประชาพิจารณ์ พบว่า มากกว่าร้อยละ 93.26 เห็นด้วยกับ (ร่าง) ระเบียบดังกล่าวทั้งฉบับ

ดังนั้น หลังจากนี้ สศก.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จะเสนอ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ.2567 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ลงนามโดยเร็ว

พร้อมแจ้งให้หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม ดำเนินการรับขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ในส่วนของเครื่องจักรกลทางการเกษตร และการประกอบกิจการด้านการเกษตรต่อไป

...

นอกจากนี้ยังมีแผนประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ พัฒนาช่องทาง อาทิ แพลตฟอร์ม เพื่อรวบรวมแหล่งให้บริการผู้ประกอบกิจการด้านการเกษตรแก่พี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร

เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบาย “Service Provider” จะสามารถผลักดันให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาบริการทางการเกษตร และจะสามารถช่วยรองรับภาคการเกษตรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย

....สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าจากรายได้เดิมอย่างแน่นอน

“นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการผลักดันนโยบายด้านการเกษตร หลังจากที่ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ.2567 ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว เกษตรกรจะสามารถมาขอขึ้นทะเบียนเครื่อง จักรกลทางการเกษตรกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่รับขึ้นทะเบียนได้ทันที”

และ...ถือเป็นมิติใหม่ครั้งแรกในการขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลทางการเกษตรอีกด้วย

เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต...ลดต้นทุน สามารถสร้างรายได้เสริม “เกษตรกรยุคใหม่” เดินหน้า จัดเต็ม “เกษตรกรรมทันสมัย” อย่างเป็นรูปธรรม.