ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ปัญหาขัดแย้งยืดเยื้อมากว่า 2 ทศวรรษ” จนคนพื้นที่ถูกตีตราชอบใช้ความ รุนแรง และต้องการแบ่งแยกเอกราช กลายเป็นตราบาปบอบช้ำ ส่งต่อรุ่นแล้วรุ่นเล่า

หนำซ้ำกลไกสำคัญในการควบคุมสถานการณ์พื้นที่ชายแดนใต้ “ภาครัฐ” กลับประกาศใช้กฎหมายพิเศษในด้านความมั่นคงมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

กลายเป็นปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ “ลิดรอนสิทธิเสรีภาพคุกคามประชาชน” จากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่ชอบธรรม ถูกสะท้อน ผ่านงานเสวนาถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพโดย อายุบ เจ๊ะนะ รองประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ บอกว่า

ตลอด 20 ปีมานี้ “ในพื้นที่ได้เกิดความสูญเสียมากมาย” ที่ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป จำเป็นต้องมีทางออก “ด้วยการนำการเมืองนำการทหารให้ได้” เพราะความขัดแย้งนี้มิใช่มีเฉพาะมิติทางอาวุธอย่างเดียวแต่เป็นสถานการณ์ถูกสร้างให้เชื่อว่าชอบใช้ความรุนแรง หรือต้องการแบ่งแยกเอกราชส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

...

เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า “ปฏิบัติการบางอย่างเช่นการบังคับใช้กฎหมายมีความชอบธรรม” โดยเฉพาะมีเหตุความรุนแรงทำให้ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตั้งแต่ปี 2019-2024 “มีการวิสามัญ 110 คน” เรื่องนี้ไม่ใช่กระทบแค่ผู้เสียชีวิตแต่ส่งผลต่อครอบครัวและญาติกลายเป็นปัญหาต่อไปอีก

ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า “นิยามกระบวนการสันติภาพ หรือการสร้างสันติภาพมองกันคนละแว่นในมิติความมั่นคง” ทำให้การสร้างสันติภาพเป็นเพียงการสร้างสันติสุขเพื่อยุติเหตุความรุนแรง ขณะที่คนในพื้นที่กลับไม่มองแบบนั้นแต่กำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันไปสู่สังคมที่ดีขึ้นในอนาคต

ทำให้ที่ผ่านมา “แก้ไขกันไม่ถูกจุดนำไปสู่การกดปัญหา และการปราบต่อเนื่องไม่ให้คนเห็นต่างลุกขึ้นมา” แต่เรื่องนี้อาจจะกด หรือปราบได้ช่วงเวลาหนึ่ง “ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ระยะยาว” ดังนั้นสิ่งที่เราหาคำตอบคือ “การแก้ปัญหาระยะยาวนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน” จึงต้องพึ่งพื้นที่ทางการเมืองในการแสดงออกให้มาก

ด้วยเหตุความเชื่อว่า “พื้นที่ทางการเมือง” สามารถแสดงความคิดเห็นต่อความต้องการของคนในพื้นที่ได้ และถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อใดปัญหาความรุนแรงก็จะลดลง “ไม่ใช่ไปบังคับใช้กฎหมายให้อำนาจแบบเกินร้อยเปอร์เซ็นต์” โดยไม่ได้ดูผลกระทบในเรื่องการละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

อย่างกรณีการเลือกปฏิบัติ “เก็บ DNA” แม้กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้เก็บ DNA เองก็ใช้กฎหมายพิเศษบังคับแล้วยิ่งกว่านั้นคือ “กฎนายให้ปฏิบัติ” ที่มักเจอมาตลอดกลายเป็นว่าพื้นที่นี้เป็นจุดจำลองการบังคับใช้ทุกอย่าง

ตอกย้ำว่า “สิ่งนี้จะกลายเป็นการส่งต่อมรดก” ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเหมือนดังกรณีของท่านหะหยีสุหลงที่เสนอข้อเรียกร้องแนวทางแก้ปัญหาแบบสันติวิธี แต่สุดท้ายก็ถูกมองว่าต้องการที่จะแบ่งแยกก่อนถูกอุ้มหาย เรื่องนี้จะถูกส่งต่อเป็นมรดกมาสู่อีกรุ่น ต้องรับรู้กันต่อ เช่นเดียวกับตัวเองถูกดำเนินคดีก็จะเป็นมรดกส่งต่อให้รุ่นต่อไป

เรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นสามารถแก้ปัญหาได้  “ด้วยทางการเมือง” ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาทางออกร่วมกัน แล้วการเปิดพื้นที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำไปสู่การยกระดับของการแบ่งแยกดินแดนได้

“ในฐานะคนในพื้นที่ยังยืนยันคำเดิมว่าใครขึ้นมาเป็นนายกฯก็ตามต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดในเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้แล้วถ้าเกิดขึ้นเมื่อใดกระบวนการสันติภาพ หรือแนวทางการแก้ปัญหาก็จะเดินต่อไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าตัวนี้ไม่เกิดคิดว่าพวกเราทุกคนต้องทำงานหนักต่อไปเช่นกัน” อายุบ ว่า

ประการต่อมา “เรื่องเงื่อนไข” เพราะยิ่งเพิ่มเงื่อนไขมากขึ้นความรุนแรงก็พร้อมปะทุต่อเนื่องเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิในพื้นที่จำเป็นต้องลดลงให้ได้ แล้วทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ด้วยการดึงการมีส่วนร่วมที่ไม่ใช่แต่เฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น “ทุกภาคส่วน” ต้องมาให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ด้วยกัน

...

แล้วถ้าดู “งบประมาณ 3.8 หมื่นล้าน/ปี ถูกใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้” ที่ผ่านมา 37% ถูกเทไปในความมั่นคงเพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรง และ 30-32% มุ่งพัฒนาทำให้ถนนทำใหม่เกิดขึ้นตลอด กลายเป็นว่า “การศึกษา และเศรษฐกิจตกต่ำ” ดังนั้นควรเพิ่มงบส่วนนี้จะได้ยกระดับความเป็นอยู่คนพื้นที่ให้มีการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดี

ทว่าสิ่งที่อยากเสนอนั้นมี 4 เรื่องคือเรื่องแรก...“นิยามไฟใต้ให้ตรงกัน” เพราะถ้านิยามผิดย่อมทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นคลายเคลื่อนส่งผลให้ความเข้าใจ “ไม่ตรงกัน” การดับไฟก็จะเป็นคนละเรื่องไม่สามารถแก้ให้ตรงจุด ดังนั้นต้องนิยามไฟใต้ให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อน อย่าให้ส่วนกลางเข้าใจอีกแบบ และคนในภาคใต้เข้าใจอีกแบบหนึ่ง

...

เรื่องที่สอง..“การสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นรูปธรรม” โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากผู้นำประเทศควรประกาศเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดเจนในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ให้เสร็จในห้วงเวลาที่บริหารประเทศ หรือประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายแถลงให้ชัด และประชาชนต้องมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

เรื่องที่สาม..“ต้องได้รับความยุติธรรม” ไม่ดับเบิลสแตนดาร์ด ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพราะถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดก็ต้องดำเนินคดีด้วยไม่ใช่ว่ามีอำนาจกฎหมายพิเศษมาคุ้มครองแล้วสามารถหลุดพ้นได้

เรื่องที่สี่..“จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่” เพราะปัญหาไม่ใช่การยุติความรุนแรงอย่างเดียว “แต่เป็นปัญหาทางการเมือง” ดังนั้นต้องถูกจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างเหมาะสมให้ได้ ทั้งยังต้องมีผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการแก้ปัญหาไม่ใช่อย่างปัจจุบัน กอ.รมน.แก้อีกทาง และ ศอ.บต.ก็ไปอีกทาง

นอกจากนี้ต้องลดความทับซ้อน “โครงสร้างอำนาจในพื้นที่ให้มีความกระชับเรียบง่ายให้มากที่สุด” แต่ไม่ใช่อ้างมีเหตุการณ์จำเป็นต้องมีโครงสร้างเพิ่มที่มักกลายเป็นความซับซ้อนให้สิ้นงบประมาณอย่างมาก

...

สุดท้ายนี้ “การสร้างเสรีภาพทางการเมืองจะที่เกิดขึ้นได้” ก็ต่อเมื่อมีหลักประกันในความปลอดภัย เพื่อให้คนในพื้นที่ กล้าแสดงออกในเรื่องสิทธิเสรีภาพ  ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ความเป็น ประชาธิปไตยในพื้นที่ก็จะสมบูรณ์สามารถขับเคลื่อนเดินหน้านำสู่สันติภาพต่อไปได้

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม