บทที่ 1 ของหนังสือ ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง (เจ้าหยุย รจนา อธิคม สวัสดิญาณ แปล เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้ง 4 พ.ศ.2549) ไม่ว่าใครผู้ใด ก็ควรอ่าน

เล่าจื๊อกล่าวว่า ปกครองประเทศด้วยระเบียบแบบแผน ทำศึกด้วยกลยุทธ์พลิกแพลงเหนือความคาดหมาย และยึดครองแผ่นดินโดยไม่ยึดครอง

สวินจื่อ (อาจารย์หานเฟยและหลี่ซือ) กล่าวว่า ผู้เป็นนายต้องเชี่ยวชาญการใช้คน ราษฎรสามัญมีความสามารถระดับใด วัดกันที่ผลงาน

กษัตริยราช (หัวหน้ากษัตริย์) ปกครองแผ่นดิน โดยไม่ปกครอง...นี่หมายความว่าอย่างไร?

สมัยกษัตริย์เหยา (เมธีกษัตริย์สมัยโบราณ) ซุ่นเป็นหัวหน้าฝ่ายยุติธรรม ซี่เป็นหัวหน้าฝ่ายกลาโหม หวี่เป็นหัวหน้าฝ่ายชลประทาน โฮ่วจี้เป็นหัวหน้าฝ่ายเกษตร ขุยเป็นหัวหน้าฝ่ายดนตรี ฉุยเป็นหัวหน้าฝ่ายโยธา

ป๋ออี๋เป็นหัวหน้าฝ่ายราชพิธี เกาเกาเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และอี้เป็นหัวหน้าฝ่ายพราน

หากวัดกันด้วยความสามารถในหน้าที่ดังกล่าวแล้วกษัตริย์เหยา จะเทียบเคียงกับผู้ใดก็หาได้ไม่ แต่กษัตริย์เหยาคือองค์เหนือหัวปกครองขุนนางทั้งเก้านั้น

นี่เป็นเพราะเหตุใด?

เพราะกษัตริย์เหยาทรงทราบดีว่า ขุนนางทั้งเก้ามีความสามารถในด้านใด จึงแต่งตั้งให้รับผิดชอบงานตามความเหมาะสม และกษัตริย์เหยาก็ปกครองแผ่นดินบนพื้นฐานคุณงามความดีที่ขุนนางทั้งเก้าสร้างขึ้น

ฮั่นเกาจู่ฮ่องเต้ (หลิวปัง) ตรัสว่า ข้าไม่อาจเทียบเคียงกับจางเหลียงในด้านวางแผนในกระโจมคว้าชัยพันลี้

ข้าไม่อาจเทียบเคียงกับเซียวเหอ ในด้านทำนุบำรุงสุขราษฎร สนองธัญญาหารแก่แนวหน้า และรักษาความสงบของชาติบ้านเมือง

ข้าไม่อาจเทียบเคียงกับหานซิ่น ในศิลปะแห่งการนำทัพ คุมกำลังพลนับล้าน รบทุกครั้งชนะทุกครั้ง

...

จางเหลียง เซียวเหอ และหานซิ่น ล้วนเป็นยอดคนในแดนดิน แต่ข้าช่วงใช้พวกเขาได้

นี่คือสาเหตุที่ข้าสามารถยึดครองแผ่นดิน

จึงอาจกล่าวได้ว่า ใช้ปราชญ์เป็นวิถีแห่งขัตติยราช ทำงาน เป็นเป็นวิถีแห่งขุนนาง

เหตุผลนี้ดุจเดียวกับเสียงกลองมิได้อยู่ในเสียงทั้งห้า (เสียงในทางปรัชญาของจีนสมัยโบราณแบ่งออกเป็น 5 เสียง ได้แก่ กง ซาง หวี่ เจิง เจี่ยว) กลับคือนายแห่งเสียงทั้งห้า

กษัตริยราชผู้รู้แจ้งในขัตติยมรรค มิได้ก้าวก่ายงานของเสนาอำมาตย์ กลับคือผู้บงการความเป็นไปทั้งปวง

กษัตริยราชยืนหยัดในมรรคแห่งการใช้ปราชญ์อย่างระมัดระวัง เสนาอำมาตย์ต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ นี่เป็นเรื่องมีมูลฐาน

บูรพกษัตริย์สำนึกในเหตุผลข้อนี้ดี จึงสามารถใช้ข้อเด่นของผู้อื่น ประหนึ่งข้อเด่นของตนเอง เพราะรู้แจ้งในขัตติยมรรคโดยแท้

ผู้ที่มิรู้แจ้งกลับตรงกันข้าม ช่วงใช้วงศาคณาญาติ ไม่ยอมช่วงใช้ปราชญ์ ปราชญ์หนีห่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เกียรติภูมิของกษัตริยราชจะถูกบั่นทอน แผ่นดินจะตกอยู่ในห้วงวิบัติภัย

ดังนั้น ตั้งปราชญ์เป็นขุนนางน้อยใหญ่ รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ คือคุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ

ชอบขบคิดวางแผน มิรู้เหนื่อยหน่าย คือคุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ จิตใจกว้างขวาง ชนะใจคนทั้งปวง คือคุณสมบัติของผู้นำ

ขัตติยราชมีภารกิจของขัตติยราช กษัตริยราชผู้เป็นที่รักใคร่และ ยำเกรงในขณะเดียวกันของเหล่าเสนาอำมาตย์และอาณาประชาราษฎร์ จึงจะสามารถบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่ของกษัตริยราชได้.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม