ป.ป.ช.ภาค 6 เผยคดีตัวอย่างให้ข้าราชการพึงระมัดระวัง หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 1,269 ปี 1,692 เดือน อดีต นอภ.ท่าสองยาง และพวกทุจริตเงินงบประมาณโครงการช่วยเหลือน้ำท่วมกว่า 73 ล้านบาท จากเหตุภัยพิบัติพายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้น้ำท่วม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เมื่อปี 2554

ที่ห้องพระพุทธชินราช ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก วันที่ 18 ก.ย. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 6 พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก, นครสวรรค์, พิจิตร, เพชรบูรณ์, ตาก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, กำแพงเพชร และอุทัยธานี แถลงผลดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 6 และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด มีคดีที่น่าสนใจของสาธารณชนในช่วงวิกฤติน้ำท่วมและภัยพิบัติ และทางราชการมีโครงการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย เป็นคดีที่เตือนไว้เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดได้ยับยั้งชั่งใจ เพราะผลการทุจริตประพฤติมิชอบมีโทษรุนแรงมาก

คดีดังกล่าวคือการกล่าวหา นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าสองยาง จ.ตาก กับพวกรวม 10 ราย ร่วมกันทุจริตโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง เมื่อปี 2554 รายละเอียดการสอบสวนคดีระบุว่าเมื่อปี พ.ศ.2554 เกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อน “นกเตน” มีน้ำท่วมขังใน อ.ท่าสองยาง จังหวัดตากได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ แต่ในการดำเนินการ นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ได้ร่วมกันจัดหาผู้รับจ้าง นายสมชายสั่งการให้ผู้ปกครองท้องที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จดทะเบียนจัดตั้งร้านค้า และนำมาเป็นคู่สัญญาในโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง

...

จากการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ในการดำเนินการของคณะกรรมการชุดต่างๆ ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ เช่น บางโครงการไม่มีการควบคุมงาน บางโครงการไม่มีการตรวจการจ้าง อีกทั้งยังมีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง ทั้งมีการเบิกจ่ายเงินไม่เต็มตามจำนวนที่รับจ้าง เบิกจ่ายเงินให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้รับจ้าง และเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการก่อสร้างจริง

นายสมชายผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก กระทำในลักษณะเดียวกันถึง 3 ครั้ง ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร รวมกว่า 73 ล้านบาท แยกได้เป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 7,999,600 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 7,999,600 บาท และครั้งที่ 3 จำนวน 57,642,600 บาท รวม 423 โครงการ และในช่วงเวลาเกิดเหตุตรวจพบความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือธุรกรรมทางการเงินของนายสมชาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท (26,595,780 บาท) ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 มีคำพิพากษาลงโทษ นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล และพวกอีก 5 ราย รวม 423 กระทง ลงโทษจำคุก 1,269 ปี 1,692 เดือน แต่ติดจริง 50 ปี ส่วนจำเลยที่เหลือโดนลงโทษคนละร้อยปีและพันปีเช่นกัน เนื่องจากคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมดมีสิทธิต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่