“ถ้าไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ดีกว่านี้โรงพยาบาลนับวันจะขาดทุนมากขึ้น” ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เปิดมุมมองในเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊ก “มูลนิธิแพทย์ชนบท Rural Doctor Foundation” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา...นับเนื่องมาจากกรณีเรื่องโรงพยาบาลของรัฐประสบปัญหาขาดทุน

...มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่างบประมาณที่ได้รับจากกองทุน “สปสช.” ทำให้คิดถึงมูลเหตุที่เกิดการ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” ของ แคนาดา จากเดิมที่เขามีความพร้อมทุกๆด้านในการให้บริการการรักษาพยาบาล มาให้ความสำคัญกับการ “สร้างเสริมสุขภาพ” ป้องกันคนไม่ให้ป่วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

โดยรายงาน A new perspective on the health of Canadians ในปี ค.ศ.1974 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าแม้จะใช้เงินรักษาโรคมากขึ้น แต่อัตราการ “เจ็บป่วย” และ “เสียชีวิต” ของประชากรจากโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาของคนแคนาดาถึง 72.1% ไม่ได้ลดลง

ดัชนีสุขภาพไม่ได้ดีขึ้น...ตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

เน้นย้ำกลยุทธ์ที่ต้องสร้าง “นโยบายสาธารณะที่ดี” เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด นโยบายสาธารณะในการควบคุมยาสูบ สุรา และสินค้าอื่นที่ทำลายสุขภาพ และนโยบายที่ส่งเสริมปัจจัยบวกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่ถูกต้อง...หันมาดูบ้านเราเฉพาะเรื่อง “ยาสูบ” ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด

...

“ทำให้คนไทยป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ นโยบายสาธารณะเรื่องการควบคุมยาสูบยังมีจุดอ่อนที่รอการแก้ไขอีกมาก ตั้งแต่เรื่องภาษียาเส้น การระบาดของบุหรี่หนีภาษี การขาดบุคลากรที่ทำงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่ไม่มีประสิทธิภาพ”

“สินค้ายาสูบทุกชนิดยิ่งขายมาก ค่าใช้จ่ายสุขภาพจะ ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาโรงพยาบาลขาดงบประมาณรักษาผู้ป่วยจะรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน” ศ.นพ.ประกิต ทิ้งท้าย

พุ่งเป้าไปที่กองทุนบัตรทอง...“30 บาทรักษาทุกโรค” ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า สปสช.ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลคนไทยที่มีสิทธิบัตรทอง 48 ล้านคน แต่ดูแลคนไทยทุกคนเรื่องสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยการบริหารจัดการงบหลักๆให้โรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วย

แบ่งเป็น “งบปลายเปิด” และ “ปลายปิด” อย่างงบปลายเปิด...เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว สำหรับผู้ป่วยนอก (OP) จัดสรรให้ตามรายประชากรในพื้นที่นั้นๆ และงบปลายปิด...เป็นงบกองทุนผู้ป่วยใน (IP) จ่ายตามผลงานที่โรงพยาบาลให้บริการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเสนอของบประมาณกับทางสำนักงบประมาณเราจะมีการคาดการณ์ 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง...ผลงานของโรงพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในปีนั้น โดยดูข้อมูลย้อนหลังและคำนวณแนวโน้ม สอง...พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ และ สาม...พิจารณาจากสิทธิประโยชน์ว่า มีอะไรใหม่ ต้องใช้เงินเพิ่มเท่าไหร่

“สปสช.เสนองบประมาณขาขึ้นมากขึ้นทุกปี แต่เป็นไปตาม 3 ปัจจัยข้างต้น แต่การจะได้ตามนั้นหรือไม่อยู่ที่สำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งจริงๆงบบัตรทองเพิ่มมาโดยตลอดอยู่แล้ว ที่สำคัญการใช้แนวทางบริหารงบประมาณใดๆ สปสช.ออกประกาศและแจ้งให้หน่วยบริการทราบมาโดยตลอด”

ปลายเดือนที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช. ระบุว่า ได้เทงบ 1,514 ล้านบาทจ่ายชดเชย “ค่าบริการผู้ป่วยใน” ให้โรงพยาบาลระบบบัตรทองจากข้อมูลเบิกจ่ายบริการตั้งแต่ 1-15 ส.ค.67 พร้อมนำงบคงเหลือรวมกับงบผู้ป่วยในและงบที่ได้จากการปรับเกลี่ยงบประมาณเตรียมเพิ่มเติมในเดือนกันยายนนี้

ข้อมูลสำคัญมีอีกว่า...กรณีการปรับลดเงินผู้ป่วยในนั้น เนื่องจากการประมาณการงบปี 2567 อยู่ที่ 72,867.03 ล้านบาท โดยประมาณการผลงานจริงอยู่ที่ 7.5 ล้านแต้ม แต่เมื่อทำจริงกลับพุ่งเป็น 8.9 ล้านแต้ม

แสดงว่าผลงานเกินไป 1 ล้านกว่าแต้ม จึงมีการคำนวณว่าหากจ่ายอัตราเดิมที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วย...กองทุนจะติดลบเป็นหลักหมื่นล้านบาท ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในปีต่อไปว่า สปสช.จ่ายเกิน และไปเรียกเงินคืนอย่างที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ จึงต้องปรับลดลงมา

ส่วนที่ผลงานเกินมาจากการคาดการณ์นั้น อาจมาจากการทำผลงานจริงหรืออาจมาจากการใส่ข้อมูลที่ไม่ตรงหรือไม่ ตรงนี้กำลังตรวจสอบอยู่ เนื่องจากเรามีระบบออดิท ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้วประมาณ 90%

...

ตอกย้ำ...ปมปัญหาการเงินการคลังที่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่า... “ขาดทุน” ที่ระบุว่ามาจากงบบัตรทองกองทุนผู้ป่วยในจัดสรรน้อยลง ยังคงยึดโยงกับหลักการบริหารงบประมาณกองทุนผู้ป่วยใน ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เรื่องการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

อาจ...มีความซับซ้อนนิดหนึ่ง โดยจะมีการ....กำหนดค่า K เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก ซึ่งจะเอื้อให้มีงบประมาณไปลงที่ “โรงพยาบาลขนาดเล็ก” ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล มากกว่าอยู่ที่ “โรงพยาบาลขนาดใหญ่”

“แต่ขอยืนยันว่าการจ่ายเงินผู้ป่วยในคิดตามค่า DRGs สปสช.จ่ายอยู่ที่ 8,350 บาท/adjRW และ 7 พันบาท/adjRW เท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นๆซึ่งต้องขอบอกก่อนว่า สปสช.กับกระทรวงสาธารณสุขรักกัน ไม่เคยมีปัญหา...เป็นพวกเดียวกัน เพียงแต่มีสาเหตุว่าเพราะอะไรบางโรงพยาบาลถึงได้ต่ำกว่าที่ สปสช.ประกาศ”

ส่วนข้อกังวลว่าเดือนสุดท้าย สปสช.จะถังแตกหรือไม่? ทพ.อรรถพร ย้ำว่า สปสช.มีเงินจ่ายในอัตรา 7 พันต่อ adjRW และ ในปีงบประมาณ 2568 สปสช.จะได้รับการจัดสรรงบผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นราว 17% หรือประมาณ 1,790 บาทต่อประชากร (จากเดิมอยู่ที่ 1,528 บาท)

...

เบื้องต้น “สปสช.” จะยังคงจ่าย “ค่าบริการผู้ป่วยใน” ให้กับโรงพยาบาลในอัตรา 8,350 บาท/adjRW คาดว่า... งบจะเพียงพอ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม