พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยอย่างมากในเรื่องของ “วัณโรค” เห็นว่าสิ่งไหนที่ช่วยได้ พระองค์ท่านทรงช่วย...ได้ทรงแสวงหาตัวยาใหม่ๆเพื่อใช้ในการรักษาวัณโรค พระราชทานยาพีเอสเอสเป็นขนานที่ 3 ในการรักษา...ทำให้การรักษาวัณโรคทำได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2493 ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างห้องปฏิบัติการผลิตวัคซีนป้องกันวัณโรค ตึกมหิดลวงศานุสรณ์ สภากาชาดไทย และทรงสนพระทัยในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถ นานา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถ นานา

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถ นานา นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ บอกว่า “วัณโรค” อาการสำคัญที่สังเกตได้ก็คือผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง...ไอเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่หาย ให้นึกไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นวัณโรค

...

“ไอที่ว่าอาจเป็นไอแห้ง ไอเปียกก็ถือว่าอยู่ในข่าย โดยมีอาการร่วมอื่นๆ ถ้าชัดเจนเลยก็คือไอแล้วมีเสมหะที่มีเลือดติด ที่เรียกกันว่า...ไอเป็นเลือด ยิ่งบวกกับอาการทางกายอื่นๆ เช่น ผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้เรื้อรัง...มีไข้ตอนบ่ายๆเย็นๆ รู้สึกเพลีย อ่อนแรง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหล่านี้เป็นอาการทั่วไปของวัณโรคเช่นกัน”

ทว่าอาการเหล่านี้โรคอื่นๆก็เป็นได้เหมือนกัน แต่ว่าอาการใดก็ตามที่เป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นแล้วเรื้อรังไม่หายใน 3 สัปดาห์ ควรจะต้องตรวจให้แน่เป็นสาเหตุนี้หรือเปล่า หรือสาเหตุอื่น

“วัณโรค” กับ “ประเทศไทย” นั้นยังอยู่คู่กันมานานพอสมควร มากน้อยแค่ไหนนั้น ให้รู้ไว้ว่า...วัณโรคไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย ถึงวันนี้ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 30 ประเทศของโลกที่มีภาวะโรคค่อนข้างสูง

หมายถึงว่า เรามีทั้งคนที่ป่วยเป็นวัณโรค คนที่วัณโรคดื้อยา แล้วก็มีทั้งคนที่ป่วยเป็นวัณโรคร่วมกับเอชไอวีอยู่ในระดับต้นๆ

ของโลกทั้งหมด น่าสนใจว่า...ตัวเลขคนที่ป่วยเป็นวัณโรคกับตัวเลขผู้เข้ารับการรักษา...รับยายังมีช่องว่างอีกนับหมื่นๆราย คำถามสำคัญมีว่า “ผู้ป่วย” ที่เหลือ...ล่ะ หายไปไหน?

สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีคนไข้ที่ป่วยเป็นวัณโรคระยะติดต่อมากมายอยู่ใกล้ๆตัวเรา ใครก็ไม่รู้?...เป็นอีกภัยเงียบสำคัญที่ทำให้ “วัณโรค” ไม่สามารถกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทย

“เราไม่สามารถหาคนที่ป่วยเป็นวัณโรค มาเข้ารับการรักษาให้หมดได้ นี่คืออีกภารกิจสำคัญต่อไปของสมาคมปราบวัณโรค กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย”

องค์กรอนามัยโลกตั้งเป้าหมายต้องการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างน้อย 85 เปอร์เซ็นต์ บ้านเราทำได้ในระดับดีทีเดียว หากค้นหา คัดกรอง...ผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มได้ ก็ยิ่งลดช่องว่างตรงนี้ได้

“วันวัณโรคโลก” เดือนมีนาคมทุกปี...สมาคมจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่อง มีการให้บริการคัดกรอง ที่ผ่านมา...ร่วมกับกองทัพบกค้นหาผู้ป่วยในทหารเกณฑ์ใหม่ ตรวจในทัณฑสถาน ขณะเดียวกันก็ค้นหาในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดวัณโรคและแพร่กระจายได้

อีกทั้งจะมีการจัดประชุมนานาชาติ Asia Pacific Region Conference of the International Union Against Tuberculosis and Lung Disease (APRC 2026) เป็นงานสำคัญระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก...ต่อต้านวัณโรคและโรคปอดอื่นๆ จัดร่วมกับสมาคมอุรเวชช์เผยแพร่ความรู้วิชาการ คาดว่ามีคนเข้าร่วม 800-1,000 คน

...

...เป็นการติดอาวุธทางวิชาการจะได้กำจัดโรค (วัณโรค) ร้ายนี้ให้หมดสิ้นไป

ประเด็นต่อมาเมื่อพบผู้ป่วยวัณโรค 1 คน ให้รู้ไว้อีกว่า...ผู้ป่วย คนนี้สามารถกระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในบ้าน ก็ต้องนำคนในบ้าน...คนที่สัมผัสมาตรวจ รับการรักษาหรือป้องกันเบื้องต้น นี่เป็นอีกข้อสำคัญที่ยังทำได้ไม่ดีนัก ก็เป็นไปได้อีกว่าคนเหล่านี้รับเชื้อแล้วก็อาจแพร่อยู่ในชุมชนนั้นๆต่อไปได้

ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ
ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ

ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการกลาง สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกอีกว่า ปัญหาสำคัญคือผู้ป่วย “วัณโรคระยะแฝง”

หมายความว่าเป็น “ผู้ป่วย” ที่มีเชื้ออยู่ในตัวแล้วไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่โรคได้ ผลจากการศึกษาในเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะได้รับยามาไม่ครบถ้วน หรือได้รับยาครบแต่เชื้อยังดื้อยา...เชื้อก็ยังแฝงอยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ

...

กรณีเช่นนี้เมื่อร่างกายเรายังมีสุขภาพดีอยู่ก็ไม่เป็นไร เมื่อไหร่ก็ตามที่อ่อนแอวัณโรคก็จะปรากฏขึ้นมา อย่าได้ชะล่าใจ แม้ไปเอกซเรย์แล้วไม่เห็นมีอะไร มีรอยอยู่นิดหนึ่ง ก็ให้...ระวัง ให้นึกถึง...วัณโรคด้วย อาจซ่อนตัวอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานจะเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ

ผู้สุ่มเสี่ยง...น่ากังวลเข้าข่าย สามารถมาตรวจละเอียดได้ หรือ กรณีตรวจแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอาจต้องรอโครงการตรวจคัดกรอง (ฟรี) การรณรงค์ที่จะมีมาอยู่เป็นระยะๆ ตามวาระสำคัญต่างๆ หรือ ศึกษาสิทธิคัดกรอง ภายใต้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของตนเอง ที่มีอยู่ครอบคลุมมากน้อยอย่างไรบ้าง

พึงสังวรไว้ว่า...วัณโรคเป็นโรคร้ายหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม การรอให้มีอาการก่อนที่จะรักษาอาจไม่ทันกาล เพราะเมื่อได้รับเชื้อติดโรคไประยะหนึ่งแล้วถึงจะมีอาการ แต่การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์ทันสมัยจะมีความไวมากกว่า จะเห็นความผิดปกติในปอด ก่อนที่คนไข้จะมีอาการ...เป็นวัณโรคที่แฝงอยู่หรือเปล่า?

หรือหากมีอาการแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าอาจจะแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างแล้ว การ “คัดกรอง” จึงมีความสำคัญ พบเร็ว...รักษาได้เร็ว

...

มิติปัญหาทับซ้อนผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยยังต่อเนื่องไปถึง “แรงงานต่างด้าว” จำนวนมากในบางพื้นที่พบข้อมูลที่น่ากลัว...

ตรวจพบตัวเลขสูง ด้วยว่าการคัดกรองยังทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ? หละหลวม...ไม่ได้ตรวจ? ฝากถึง “รัฐบาล” เห็นความสำคัญคนกลุ่มนี้อาจเป็นพาหะมาแพร่กระจายเชื้อวัณโรคให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

สถานการณ์การระบาดวัณโรคในประเทศไทยเพื่อนบ้านสูงกว่าบ้านเรา บางคนเข้ามาทำงานแล้วก็ไม่ได้ตรวจคัดกรองใดๆ เลย...เหมือนเป็นช่องว่างใหญ่มากที่คาดไม่ถึง อย่าได้ชะล่าใจ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม