ล่มไม่เป็นท่า ประชุมบอร์ดค่าจ้างปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไร้เงาบอร์ดฝ่ายนายจ้าง พร้อมใจไม่ว่างทั้ง 5 คน ปลัดก.แรงงานเสียงอ่อย องค์ประชุมไม่ครบนัดเคาะใหม่ 20 ก.ย. ถ้ายังไม่มาจะใช้เสียง 2 ใน 3 ที่กฎหมายแรงงานไฟเขียวให้ฝั่งลูกจ้างกับรัฐบาล 10 เสียงโหวตปรับค่าจ้างได้ทันที ขณะที่ “อรรถยุทธ” ตัวแทนฝ่ายนายจ้างเผยนายจ้างติดภารกิจ ติงปลัดแรงงานอย่าเปลี่ยนวันประชุมตามใจชอบ ขณะที่ “วีรสุข” บอร์ดฝ่ายลูกจ้างปลุกจิตสำนึกทำหน้าที่อย่ามีการเมืองแทรก

ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ก.ย. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เป็นรอบที่ 3 ของปี 2567 แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกรรมการ 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน ประกอบด้วยฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐ เข้าร่วมครบทั้ง 10 คน ส่วนฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมแม้แต่คนเดียว ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาปรับค่าจ้างได้ โดยในที่ประชุมได้มีการสอบถามถึงสาเหตุที่นายจ้างไม่ร่วมประชุม ซึ่งนายไพโรจน์ชี้แจงว่านายจ้างบอกไม่ว่าง จากนั้นมีการพูดคุยกันในที่ประชุมประมาณ 30 นาที และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย. เวลา 13.30 น.

ต่อมานายไพโรจน์ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้ไม่เรียกว่าการประชุมล่ม แค่ไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่มีการพิจารณาค่าจ้างแต่ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่ามีกิจการประเภทไหนบ้างที่มีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเกิน 400 บาท ถ้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใครจะได้ประโยชน์ ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมจะมีแรงงานไทยได้ประโยชน์ 3 ล้านคน แรงงานต่างด้าว 1 ล้านคน รวมทั้งจะพิจารณาปรับขึ้นในกิจการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป การจะสามารถปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มได้หรือไม่ ยังต้องรอดูในวันที่ 20 ก.ย.นี้อีกครั้ง ซึ่งจะมีมติแน่นอน หากฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 2 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 เปิดให้ใช้มติ 2 ใน 3 ของผู้มาร่วมประชุมในการลงมติปรับค่าจ้างได้เลย

...

ด้านนายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า การประชุมล่มเพราะไม่ครบองค์ประชุม แต่ไทม์ไลน์ของการปรับค่าจ้าง 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ยังคงเป็นไปตามนั้น แต่ต้องรอดูวันที่ 20 ก.ย.อีกครั้ง ตนไม่ทราบเหตุผลที่นายจ้างไม่มาประชุม อาจจะไม่พอใจที่มีการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่เพื่อเปิดเพดานค่าจ้างถึง 400 บาท ก็ไม่น่าใช่เพราะยอมรับทั้ง 3 ฝ่ายมานานแล้ว และผู้ประกอบการ วันนี้จ่ายค่าแรงวันละ 400 บาทขึ้นไปอยู่แล้ว แต่มี บางส่วนยังไม่ถึง อยากให้บอร์ดทำตามหน้าที่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับ 2 ฝ่าย นายจ้างคิดอีกแบบลูกจ้างคิดอีกแบบ

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมว่า ติดภารกิจ กรรมการคนอื่นก็ไม่ว่างตรงกันและได้แจ้งต่อที่ประชุมไปแล้ว การประชุมก็ว่ากันไปจะเคาะค่าจ้างได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ ซึ่งปกติการประชุมค่าจ้างจะนัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือนและก็ทำอย่างนี้มาตลอด แต่ก็เลื่อนประชุมโดยที่ไม่สนใจว่าคนอื่นจะว่างเข้าประชุมได้หรือไม่ ส่วนในวันที่ 20 ก.ย. เลขาฯที่ประชุมยังไม่ได้มีการแจ้งนัดหมาย จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะไปประชุมได้หรือไม่ และการนัดแบบนี้เป็นการนัดแบบมัดมือชก

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการค่าจ้างทั้ง 15 คน มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย 1.นายนิยม สองแก้ว 2.น.ส.วรวรรณ พลิคามิน 3.นายเมธ สุภาพงษ์ 4.นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง 1.น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ 2.นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ 3.นายอรรถยุทธ ลียะวณิช 4.นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย 5.นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี ส่วนฝ่ายลูกจ้างมี 1.นายกัมปนาท ศรีพนมวรรณ 2.นายสมชาย มูฮัมหมัด 3.นายอ่อนศรี โมฆรัตน์ 4.นายไพโรจน์ วิจิตร 5.นายวีรสุข แก้วบุญปัน

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวหลังทราบการประชุมล่มว่า ขอความกรุณากรรมการ ฝ่ายนายจ้างควรเข้ามาใช้สิทธิในฐานะที่เป็นกรรมการไตรภาคี ส่วนที่ไม่มาเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่นั้น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ทำหนังสือร้องเรียนมาว่า เขายังไม่พร้อมจะให้ขึ้นค่าจ้าง แต่วันนี้สินค้าขึ้นราคาไปล่วงหน้าแล้ว หากรัฐบาลยังไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำผู้ใช้แรงงานคงรับไม่ไหว รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแจกเงินให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท เมื่อเงินก้อนนี้เข้าสู่ระบบจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตนจะเอาปัจจัยนี้มาหารือปลัดกระทรวงแรงงาน ถ้าอย่างนี้คือเราต้องเดินหน้าตามเป้าหมายคือ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่